More

    เห็นเปิดกันจังไฟตัดหมอก รู้ไหมว่าตอนไหนควรเปิด..ไม่ควรเปิด?

    ช่วงฝนตกแบบนี้ขับรถขับราบนท้องถนนคงได้เห็นหลายคนเปิดใช้งานตัดหมอกทั้งด้านและด้านหลังซึ่งถ้าฝนมันตกหนักหรือตกจนทัศนวิสัยย่ำแย่จนแทบมองไม่เห็นทางแล้วเปิดอันนี้ไม่ว่ากันเพราะมันช่วยให้เห็นชัดขี้นทั้งผู้ขับรวมถึงรถที่วิ่งตามท้ายมาอันนี้พอเข้าใจได้

    แต่พวกที่ชอบเปิดเวลาขับปกติไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืนทั้งๆที่ไม่มีหมอกหรือฝนสักเม็ดไม่เข้าใจว่าเปิดเพื่อ? ซึ่งสาเหตุที่เปิดน่าจะมาทั้งแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจกลุ่มแรกคือไม่รู้ว่าไฟตัดหมอกเปิดอยู่หรือคนอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคือปุ่มอะไรอันนี้พอเข้าใจได้กับแบบที่สองคือพวกที่เปิดเพราะคิดว่าเท่แถมบางคนที่รถตัวเองไม่มีก็ไปติดเพิ่มภายหลังเพราะคิดเป็นแฟชั่นที่ฮิตกันประมาณว่าของมันต้องมี 

            อันนี้ต้องบอกเลยครับว่าในสถานการณ์ปกติการเปิดไฟตัดหมอกนั้นเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอย่างยิ่งกับลำแสงที่ไปสาดส่องแยงตากับเพื่อนร่วมถนนหนทางไม่ว่าจะทั้งรถคันนำหน้าคันตามหลังหรือคันที่สวนทางมาที่สำคัญยังผิกฎหมายด้วยซ้ำถ้าเปิดโดยไม่เกิดสถานการณ์ที่จำเป็นจริงๆ

    ปัจจุบันรถรุ่นใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะมีไฟตัดหมอกติดตั้งมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานจากโรงงาน ในรุ่นเป็นส่วนใหญ่ ส่วนรุ่นที่ไม่มีมาให้ เจ้าของรถบางคนก็อาจไปติดเพิ่มเติมเองภายหลัง เพราะราคาก็ไม่ได้แพงมากนักเมื่อเทียบกับเมื่อหลายสิบปีก่อนประมาณหลักพันก็ซื้อหาได้ 

           ในอดีตไฟตัดหมอกจะติดตั้งมาให้กับรถที่จำหน่ายในแถบประเทศที่มีภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง อากาศหนาว หรือประเทศที่เป็นเกาะล้อมรอบด้วยน้ำทำให้มีฝนตกบ่อยตลอดทั้งปี บรรยากาศที่ขมุกขมัวหรือมีหมอกเป็นส่วนมาก ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยสูงสุดในการใช้ยานพาหนะจึงมีการคิดค้นไฟตัดหมอกขึ้นมา

    คุณสมบัติของไฟตัดหมอกคือใช้หลอดไฟที่ให้ความสว่างสูง ส่วนมากเป็นสปอตไลท์ ส่องในระนาบขนานกับพื้นถนนหรือตกพื้นในระยะไกล ดังนั้นความสว่างจึงมีมากและส่องได้ไกลกว่า โดยเฉพาะในยามที่ฝนตกหนักหรือหมอกลงจัด ในขณะที่หลอดไฟหน้า ในสภาวะปกติถ้าเปิดใช้ในขณะที่หมอกจัด มุมที่เอียงลงต่ำทำให้เกิดมุมสะท้อนกลับสู่สายตาของผู้ขับขี่  จึงทำให้แสงที่ส่องผ่านไปมีน้อยหรือมองเห็นแค่ในระยะไม่เกิน 10-15 เมตรเท่านั้น อีกทั้งยังแสบตาเพราะแสงที่สะท้อนกลับ ส่วนไฟตัดหมอกที่ส่องแบบขนานพื้นนั้น จึงไม่สะท้อนมายังห้องโดยสาร เพราะสามารถทะลุทะลวงได้มาก ที่สำคัญการสะท้อนกลับมาในมุมที่ไม่กระทบผู้ขับขี่ ทำให้มองเห็นได้ในระยะมากกว่า 30-80 เมตร

    การใช้ไฟตัดหมอกที่ถูกนั้น ขึ้นอยู่กับความจำเป็นในแต่ละช่วงเวลาและสถานการณ์ต่างๆดังเช่น ช่วงฝนตกปรอยๆ หรือตกหนัก ไฟตัดหมอกจะมีประโยชน์มาก แม้จะเป็นช่วงกลางวันก็ตามเพราะมันสามารถช่วยให้รถที่สวนมามองเห็นไฟตัดหมอกอย่างชัดเจน เมื่อขึ้นภูเขาสูงหรือยอดเขา โดยเฉพาะช่วงหน้าหนาวทั้งตอนเช้าและตอนกลางคืน เนื่องจากที่ราบสูงจะมีหมอกมากกว่าปกติ หรือในช่วงกลางคืนหลังฝนหยุดตกหรือถนนยังเปียกอยู่ ซึ่งไฟตัดหมอกจะช่วยให้ทัศนะวิสัยในการขับขี่ดีขึ้น หรือในกรณีมีหมอกหรือควันเกิดขึ้นบนท้องถนนที่บดบังทัศนะวิสัยในการมองเห็นได้น้อยกว่า 50 เมตร

    อย่างไรก็ตามในจังหวะที่รถคันอื่นสวนทางมาควรปิดไฟตัดหมอกทันที ในระยะที่มองเห็นไฟหน้าของรถที่สวนมาได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของเพื่อนร่วมถนน ซึ่งแน่นอนว่าถ้าใช้ถูกจังหวะถูกช่วงเวลาก็เป็นประโยชน์อย่างมากและช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ ในขณะเดียวกันหากเปิดไฟตัดหมอกอย่างพร่ำเพรื่อ ไม่มีมารยาทในการใช้ถนนร่วมกัน ก็สามารถสร้างความรำคาญให้กับผู้ใช้ถนนรายอื่นๆ  รวมไปยังเพิ่มความเสี่ยงต่อเกิดอุบัติเหตุได้มากกว่าปกติอีกด้วย 

    ส่วนการเปิดไฟตัดหมอกพร่ำเพรื่อนั้น ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและมีโอกาสจับกุมเมื่อเจ้าหน้าที่พบเห็น โดยมีการระบุไว้ชัดเจนตาม พรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 11 “ในเวลาที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอที่จะมองเห็น คน รถ หรือสิ่งกีดขวางในทางได้โดยชัดแจ้งภายในระยะไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบเมตร ผู้ขับขี่ต้องเปิดไฟหรือใช้แสงสว่างตามประเภท ลักษณะ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยตามกฎกระทรวงฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา5มาตรา 11และมาตรา61 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกกฎกระทรวงไว้ดังต่อไปนี้

    ข้อ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของ (1) ในข้อ2 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522

    “รถคันใดจะมีโคมไฟหน้ารถเพื่อใช้ตัดหมอกก็ได้ โดยติดหน้ารถข้างละหนึ่งดวงอยู่ในระดับเดียวกัน ใช้ไฟแสงขาวหรือแสงเหลืองมีกำลังไฟเท่ากัน ไม่เกินดวงละ 55 วัตต์สูงจากพื้นทางราบไม่เกินกว่าระดับโคมไฟแสงพุ่งไกลและโคมไฟแสงพุ่งต่ำ ศูนย์รวมแสงต้องอยู่ต่ำกว่าแนวขนานกับพื้นทางราบไม่น้อยกว่า 2 องศา หรือ 0.20 เมตร ในระยะ 7.50 เมตรและไม่เฉไปทางขวา”

    ข้อ 2 ให้ยกเลิกความใน (ข) ของ (2) ในข้อ2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่2(พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

    “(ข) โคมไฟหยุด ให้ติดท้ายรถอย่างน้อยข้างละหนึ่งดวง โคมไฟทั้งสองข้างต้องอยู่ในระดับเดียวกัน และจะติดตรงกึ่งกลางด้านท้ายภายในรถเพิ่มอีกหนึ่งดวงก็ได้ ใช้ไฟแสงแดงมีกำลังไฟเท่ากันไม่เกินดวงละ 10 วัตต์ และมีแสงสว่างสามารถมองเห็นได้จากระยะไม่น้อยกว่า 30 เมตร เมื่อใช้ห้ามล้อไฟต้องไม่กระพริบ”

    ข้อ3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (3 ทวิ) ของข้อ 13 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่2 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522

    “(3 ทวิ) ในกรณีที่รถมีโคมไฟเพื่อใช้ตัดหมอก จะเปิดไฟหรือใช้แสงสว่างได้เฉพาะในทางที่จะขับรถผ่านมีหมอก ควัน หรือฝุ่นละอองจนเป็นอุปสรรคอันอาจเกิดอันตรายในขณะขับรถ และเมื่อไม่มีรถอยู่ด้านหน้าหรือสวนมาในระยะของแสงไฟ

            เมื่อทราบแบบนี้แล้วก็ควรปฏิบัติให้ถูกต้องกันนะครับเพราะการขับรถอย่างมีวินัยและเคารพกฏจราจรนั้นถือเป็นสิ่งเล็กๆที่ทำได้ไม่ยากถ้าตั้งใจซึ่งเป็นการช่วยลดอุบัติเหตุได้ง่ายๆโดยเริ่มที่ตัวเราเอง

    Photo : motoringresearch,shutterstock

    ABOUT THE AUTHOR

    PT

    Latest Posts