More

    7 เรื่องเด่นวงการยานยนต์ไทยแห่งปี 2021

    ตลอดปี 2021 อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยมีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้นไม่ว่าเรื่องนั้นจะดีหรือไม่ดีล้วนเป็นเรื่องที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมนี้

    แต่ละเรื่องสร้างความน่าตื่นเต้น ประหลาดใจ และวิตกกังวลโดยเฉพาะโควิด-19 รวมถึงปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องทั้งภายในประเทศและต่างประเทศล้วนส่งผลกระทบไม่มากก็น้อยทั้งทางตรงและทางอ้อม สำหรับปี 2021 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปทางทีมงาน Car2Day ขอรวบรวม 7 ที่สุดเรื่องเด่นแห่งปี 2021 สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยว่ามีอะไรบ้าง เริ่มกันที่

    1. พาเหรดรถจีนบุกแดนสยาม

    หลังจากที่ MG เป็นแบรนด์อังกฤษทุนจีนที่บุกตลาดเมืองไทย จนคู่แข่งอีกค่ายอย่าง Great Wall Motor ที่เคยหายไปเมื่อ 8 ปีก่อนได้กลับมาทำตลาดอย่างจริงจังพร้อมตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ที่ระยองและมีแผนเปิดตัวรถรุ่นใหม่ 9 รุ่นภายใน 3 ปี (2021-2024) โดยเน้นเป็นยานยนต์พลังงานทางเลือกผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้า (xEV Leader) ตอกย้ำความเชื่อมั่นในการรับฟังเสียงของผู้บริโภค เพื่อส่งมอบประสบการณ์ใหม่ๆ ด้านการขับขี่อัจฉริยะที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับลูกค้า โดยประเดิมไป 3 รุ่น เริ่มที่ HAVAL H6 HEV เอสยูวีเปิดตัวตั้งแต่มิถุนายนจนยอดขายเฉลี่ย 400-500 คัน/เดือนขึ้นเป็นอันดับ 1 ในกลุ่ม C-SUV ต่อมากับเจ้าเหมียวแสนซื่ออย่าง ORA Good Cat และ HAVAL Jolion HEV เอสยูวีน้องเล็ก ที่มียอดส่งมอบถึงปัจจุบันรวมกว่า 200 คัน ภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือนหลังจากการเปิดตัวและประกาศราคา

    นอกจากนี้ยังมีค่ายรถยนต์หลายค่ายจากจีนที่พร้อมใจกันจะมาทำตลาดในเมืองไทยทั้ง Chery Geely (Proton) Changan รวมถึง BYD และ Hozon ในรูปแบบรถเครื่องสันดาปและไฟฟ้าล้วน แต่บางส่วนจะเปิดตลาดในช่วงปี 2022

    2. วิกฤต “ชิปหาย”

    เซมิคอนดักเตอร์ หรือเรียกว่า ชิป ได้เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมและธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจอุปกรณ์ทางการแพทย์และเวชภัณฑ์ การขนส่งสินค้า อุปกรณ์ด้านคอมพิวเตอร์และสื่อสารโทรคมนาคม เป็นธุรกิจที่เติบโตและมีผลกระทบน้อยมากผนวกกับพฤติกรรมของมนุษย์ที่ต้องการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มความสบายและความบันเทิงในที่พักอาศัยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจยานยนต์โลกที่ต้องการใช้เซมิคอนดักเตอร์ เป็นส่วนประกอบขาดแคลนอย่างหนัก จนเกิดคำฮิตติดปากว่า “ชิปหาย” ตั้งแต่การแพร่ระบาดของ โควิต-19

    ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ตกลงรวมถึงการส่งมอบรถถึงมือลูกค้าที่ช้าลง เพราะบริษัทชิปที่ผลิตสำหรับอุตสากรรมยานยนต์มีเพียง 7 ราย ทั่วโลกและไม่สามารถผลิตตามความต้องการของตลาดโลกและยังมีสาเหตุอื่นๆไม่ว่าจะเป็น 1. โรงงานผลิตรถยนต์ทั่วโลกหยุดผลิตชั่วคราวเพราะมาตรการล็อกดาวน์ เกิดคำสั่งซื้อเซมิคอนดักเตอร์ขาดช่วงไปจนผู้ผลิตชิปปรับการผลิตทุ่มให้กับทางกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอุปกรณ์สื่อสารที่ใช้กับระบบ 5G คอมพิวเตอร์บพีซี และเซิร์ฟเวอร์ 2. กระบวนการสั่งซื้อเซมิคอนดักเตอร์ที่ยากมากขึ้นแถมต้องใช้เวลานานหลายเดือน โดยถ้าซื้อจากเจ้าเดิมต้องการเวลาล่วงหน้าถึง 4 เดือน ส่วนเจ้าเดิมที่มีโรงงานใหม่นั้นต้องการเวลาตั้งสายการผลิตเพิ่มขึ้นอีกกว่า 6 เดือน หรือเจ้าใหม่ ต้องใช้เวลาในการเตรียมการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 1 ปี หรือมากกว่า เท่านั่นยังไม่พอ หากเซมิคอนดักเตอร์ใช้พื้นฐานของผู้ผลิตรายเดิม จะต้องดำเนินการขออนุญาตผลิตเพิ่มเติม และต้องผ่านกระบวนการภายในบริษัท เพื่อยืนยันคำสั่งซื้อซึ่งจะใช้เวลาเพิ่มขึ้นไปอีก นั่นคือกระบวนการสั่งซื้อที่ยุ่งยากมากขึ้น และไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้เนื่องจากกำลังการผลิตเซมิคอนดักเตอร์อยู่ที่ประมาณ 88% ส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ยังคงดำเนินต่อไปในช่วงระยะเวลา 1-2 ปี เลยทีเดียว

    1. Ford ลงทุนมากสุด 2.8 หมื่นล้านบาท อัพเกรดเครื่องจักรรองรับการผลิตกระบะและอเนกประสงค์เจนใหม่

    นับเป็นการลงทุนสูงสุดครั้งประวัติศาสตร์ของวงการรถยนต์ไทย เมื่อ Ford อัดฉีดงบการลงทุน 28,000,000,000 บาท รองรับการผลิต Ford Ranger และ Ford Everest เจนใหม่ ทั้งโรงงงานของตัวเองอย่างโรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอร์ริ่ง และโรงงานร่วมทุน ออโต้อัลลายแอนซ์ ประเทศไทยเพื่อขายในไทยและส่งออก 180 ประเทศ ได้เพิ่มหุ่นยนต์อุตสาหกรรมจำนวน 356 ตัว โดยหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นนี้ จะนำมาใช้ในส่วนงานประกอบตัวถัง และงานพ่นสี ทำให้มีจำนวนเครื่องจักรในส่วนงานประกอบตัวถังที่โรงงานทั้งสองที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34 เป็นร้อยละ 80 และร้อยละ 69 ตามลำดับ พร้อมนำเทคโนโลยีตรวจสอบพื้นผิวหรือสแกนบ็อกซ์ครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ มาใช้ตรวจสอบรถทั้งคันในระหว่างขั้นตอนการประกอบรถได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน และรวดเร็วกว่าเดิมถึง 5 เท่า เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น

    และยังเพิ่มการจ้างอีก 1,250 ตำแหน่ง ด้วยการเพิ่มกะการทำงานที่โรงงานของฟอร์ดเองทำให้มีจำนวนพนักงานในประเทศไทยรวมกว่า 9,000 คน และยังเจียดเงินลงทุน 13,000 ล้านบาท จาก 28,000 ล้านบาท เพิ่มการจ้างงานของพันธมิตรทางธุรกิจอีกกว่า 250 ตำแหน่ง ตามนโยบายกลยุทธ์ Ford+ โดย Ford Ranger และ Ford Everest เริ่มขายจริงกลางปีหน้า

    4. ยอดขายรถยนต์ในประเทศขึ้นๆลงๆตามโควิด

    สถานการณ์ยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ผ่านมาขึ้นๆลงๆตามไวรัส โควิด-19 บางเดือนเพิ่มขึ้นบางเดือนติดลบโดย 11 เดือนที่ผ่านมามียอดขายรถยนต์รวมทำได้ 668,109 คัน ลดลง 2.9 % เมื่อเทียบกับปีกลาย แต่เมื่อมาเจาะลึกแต่ละเดือนนั้นกลับพบว่านเดือนมีนาคมมีตัวเลขมากสุดถึง 79,969 คัน เพิ่มขึ้น 25.6% หลังจากตัวเลขก็ลดลงมาตั้งแต่เดือนเมษายนเพราะการระบาดระลอก 3 สายพันธุ์เดลต้าและกลับมาเริ่มดีขึ้นในช่วงเดือนกันยายนที่ 64,122 คัน ลดลง 17.7% จับตาดูว่าถ้าครบปี 2021 ตัวเลขจะสามารถทะลุไปถึง 800,000 คัน เพิ่มขึ้น 1 % ได้หรือไม่ ส่วนแบรนด์รถยนต์ที่ขายดีก็คงหนีไมพ้นสามแบรนด์ยอดนิยมทั้ง Toyota ISUZU และ Honda

    1. ORA Good Cat น้องเหมียวแสนดีกลายเป็นน้องเหมียวแสนพยศเพราะราคา

    น้องเหมียวแสนดี ORA Good Cat เปิดตัวในไทยเป็นประเทศที่สองต่อจากจีน หลายคนที่เฝ้ารอการมานั้นมีความหวังที่จะทำราคาไม่ถึง 1 ล้านบาท แต่พอประกาศราคาอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 29 ตุลาคม หนึ่งทุ่ม ด้วยราคาเริ่มที่ 989,000-1,149,000 บาท ทำเอาสาวกส่วนหนึ่งสตั๊นไปสองสามวินาทีจนเกิดอาการอกหักเพราะรับไม่ได้ในเรื่องราคาแต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่ศึกษาและเข้าใจอย่างถ่องแท้กลับตัดสินใจจองเป็นเจ้าของด้วยยอดจองมากกว่า 2,000 คัน และได้ส่งมอบไปแล้วกว่า 200 คัน โดยเป็นยอดขายและส่งมอบ 166 คันในเดือนพฤศิจกายน ถือว่าประสบความสำเร็จและความสร้างความฮือฮาให้กับค่าย GWM ประเทศไทยต่อจาก Haval H6 HEV

    6. อำลาอาลัย Honda Civic Hatchback FK

    แน่นอนว่างานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกราแต่สำหรับขาซิ่งชาวไทยอาจมีอาการแอบเศร้าเมื่อ Honda เตรียมที่จะยุติการผลิต Honda Civic Hatchback FK เนื่องด้วยอายุตลาดที่อยู่มานานเกือบ 5 ปี รวมถึงยอดขายสะสมที่ทำได้ 11,054 คัน ซี่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับรุ่นซีดาน FC และ FE แถมทางต้นสังกัดไม่ทำตลาดเจนใหม่ในรหัส FL เท่ากับว่าปิดประตูตายตัวถังท้ายลาดอย่างเป็นทางการและนับเป็นแรไอเทมรุ่นที่ 3 ของตระกูล Civic ในไทยต่อจาก Honda Civic Coupe EK และ Honda Civic 3-Door EG สองรุ่นดังที่เคยสร้างความเกรียวกราวในยุค 90 มาแล้ว

    7. EQS รถไฟฟ้ารุ่นแรกของค่ายตราดาวที่ CKD ในไทย

    ต้องยอมรับว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของไทยมาแรงอย่างเห็นได้ชัดทั้งจากแบรนด์จีน ญี่ปุ่น ยุโรป พาเหรดส่งรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ออกจำหน่ายแต่ว่าจำหน่ายในรูปแบบนำเข้าจากต่างประเทศ แต่มีค่ายรถยนต์จากเยอรมนีอย่าง Mercedes-Benz พร้อมแนะนำ EQS From Mercedes-EQ เก๋งหรูพลังไฟฟ้าล้วนในร่าง Fastback โดยความน่าสนใจอยู่ตรงที่จะเปิดตัวพร้อมจำหน่ายแบบประกอบในเมืองไทยเป็นครั้งแรกของค่ายและของประเทศที่มีรถไฟฟ้าจำหน่าย (CKD) ในราคาที่ถูกลงกว่านำเข้าแต่สเปกและค่าตัวจะเป็นอย่างไรพบกันในปี 2022

     

    ที่มา thaiauto.or.th 

    ABOUT THE AUTHOR

    Latest Posts