More

    เทรนด์การออกแบบรถที่ต้องจับตากับกฎใหม่ F1 2022

    คุณพึ่งหัดดู Formula 1 ได้ไม่นานหรือไม่? คุณแยกความแตกต่างระหว่างรถแต่ละคันนอกจากสีไม่ออกหรือเปล่า? หากคุณพบปัญหาเหล่านี้ เรามีไกด์ไลน์เล็กๆ น้อยๆ ที่จะช่วยให้คุณเข้าใจการออกแบบรถของแต่ละทีมมากขึ้น และความแตกต่างของพวกมันที่ทำให้ประสิทธิภาพของรถแต่ละคันแตกต่างกันไป

    • ฐานล้อหน้า-หลัง

    เป็นตัวแปรหลักที่แต่ละทีมนั้นออกแบบมาแทบจะแตกต่างกันทุกทีม ความยาวฐานล้อหน้า-หลังนั้นมีผลต่ออาการของรถในขณะเข้าโค้ง และการออกแบบความยาวฐานล้อนั้นก็ยังขึ้นอยู่กับการจัดวางส่วนประกอบต่างๆ ในส่วนท้ายของรถเป็นสำคัญ ดังนั้นวิศวกรจำเป็นต้องออกแบบการจัดวางส่วนประกอบต่างๆ ให้สร้างผลกระทบที่จะลดทอนประสิทธิภาพของรถให้น้อยที่สุด และจัดให้อยู่ในมิติที่ความยาวฐานล้อนั้นเป็นไปตามที่ออกแบบเอาไว้ โดยในปีนี้มีการจำกัดความยาวฐานล้อหน้า-หลังอยู่ที่ 3,460 – 3,600 mm ในขณะที่ปีที่แล้วรถของทั้ง 3 ค่ายใหญ่มีฐานล้อหน้า-หลัง ที่แตกต่างกันไป ดังนี้ Mercedes 3,726 mm, Ferrari 3,621 mm, และ Red Bull 3,550 mm

    F1 Car Design - Wheel Base

    • ไซด์พอด

    จากกฎใหม่ในปีนี้ต้องการให้ส่วนป้องกันการกระแทกด้านข้างอยู่สูงขึ้นมาจากเดิมอีก 60 mm นั่นทำให้ทีมแข่งไม่สามารถใช้แนวทางออกแบบที่ช่องทางเข้าอากาศข้างรถอยู่สูง ซึ่งเป็นสิ่งที่ Ferrari ริเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2017 และทีมอื่นๆ ต่างก็อปปี้ตามทั้งกริด ได้อีกต่อไป และจากการเปิดตัวรถออกมา 4 ทีม เราจะเห็นแล้วว่าการออกแบบไซด์พอดนั้นมีความแตกต่างกันออกไป นอกจากนั้นกติกายังได้ระบุปริมาณและพื้นผิวที่จำเป็นในการออกแบบไซด์พอดและฝาครอบเครื่องยนต์ นั่นป้องกันไม่ให้ทีมแข่งติดตั้งวิงเลตบริเวณด้านหน้าไซด์พอด

    ในส่วนของรถกติกากลาง เราจะเห็นว่าตัวบอดี้ของไซด์พอดนั้นจะอยู่สูงขนานกับพื้นไปจนถึงส่วนท้ายรถ ซึ่ง Aston Martin ออกแบบมาตามแนวทางนี้ แต่เราจะเห็นว่า McLaren นั้นพยายามบีบไซด์พอดให้ลู่ลงด้านล่างและเข้าหาแกนกลางของรถเพื่อประโยชน์ทางด้านอากาศพลศาสตร์

    F1 Car Design - Sidepod

    • ชุดเกียร์

    โดยปกติแล้วทีมลูกค้ามักจะซื้อชุดเกียร์มาจากทางทีมผู้ผลิต แต่เนื่องจากชุดเกียร์เป็นส่วนสำคัญที่มีผลต่อการออกแบบส่วนท้ายของรถ ดังนั้นบางทีมแข่งจึงเลือกที่จะออกแบบชุดเกียร์เอง อย่างเช่น McLaren นั่นทำให้รถของพวกเขามีความยาวฐานล้อหน้า-หลัง ที่แตกต่างจาก Mercedes ทีมผู้ผลิตที่พวกเขาเช่าเครื่องยนต์มาใช้

    • จมูกหน้า

    ส่วนจมูกหน้ารถนั้นมีผลต่ออากาศที่จะไหลผ่านไปยังใต้ท้องรถ เราจึงได้เห็นผลลัพธ์ของการออกแบบจากทีมต่างๆ แต่ในปี 2022 รูปทรงของจมูกนั้นถูกจำกัดอย่างเข้มงวดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ทีมแข่งคิดถึงแต่ประสิทธิภาพที่จะได้มาจนละทิ้งความสวยงามไปจนหมด (อย่างในปี 2014) อย่างไรก็ตามทีมแข่งจะยังคงมีอิสระในการออกแบบความยาวของจมูกต่อตำแหน่งของปีกหน้า

    F1 Car Design - Nose

    • ช่วงล่าง

    ในการออกแบบช่วงล่างที่เป็นชนิดปีกนกอิสระอย่างที่ Formula 1 ใช้นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ Push Rod และ Pull Rod (ตามรูป) ซึ่งโดยปกติแล้วทีมแข่งมักจะใช้ Push Rod ด้านหน้า เนื่องจากง่ายต่อการเซตอัพ ส่วนด้านหลังนั้นจะเป็น Pull Rod เพื่อประโยชน์ในทางอากาศพลศาสตร์ แต่ใช่ว่าจะไม่เคยมีทีมแข่งออกแบบ Pull Rod ด้านหน้า Ferrari นั้นใช้เลย์เอาท์ช่วงล่าง Pull Rod ในปี 2012 – 2015 ส่วน McLaren เองก็เคยใช้ Pull Rod เมื่อปี 2013 และจากการเปิดผ้าคลุมตัวรถ MCL36 ออกมา เราได้เห็นแล้วว่า McLaren นั้นหันกลับมาใช้เลย์เอาท์แบบ Pull Rod ด้านหน้าอีกครั้ง ซึ่งนอกจากมันจะช่วยในเรื่องข้อได้เปรียบทางอากาศพลศาสตร์กับกฎใหม่แล้ว มันยังกดจุดศูนย์ถ่วงของรถให้ต่ำลงได้อีกเล็กน้อย เพื่อรับมือกับกติกาใหม่ที่ทำให้รถมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น

    Suspension

    • ปีกและดิฟฟิวเซอร์

    ปีกหน้านั้นเป็นชิ้นส่วนที่ก่อปัญหาให้กับการแข่งขันมากที่สุดชิ้นหนึ่ง เนื่องจากมันได้ทำให้กระแสอากาศปั่นป่วนทันทีที่ผ่านตัวมันไป และนั่นทำให้รถคันที่ตามมาต้องพบกับกระแสอากาศที่ไม่เป็นใจจนไม่สามารถขยับเข้ามาใกล้รถคันหน้าได้ ในปี 2022 กติกาใหม่จึงได้บังคับให้ปีกหน้านั้นมีความเรียบง่ายยิ่งขึ้นไปอีก ชิ้นส่วนปีกนั้นจะมีได้เพียงแค่ 4 ชิ้น และเอนด์เพลตนั้นห้ามไม่ให้มีการติดตั้งฟุตเพลตที่จะช่วยแหวกอากาศหลบล้อหน้า

    ในส่วนขนาดของปีกนั้น กติกายังกำหนดให้มันมีความกว้างเท่าเดิมที่ 2,000 mm แต่มันจะอยู่สูงจากพื้นขึ้นมาเพิ่มอีก 25 mm เป็น 100 mm

    ทางด้านปีกหลังนั้นถูกกำหนดให้มีความสูงจากพื้นเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากเดิมที่ต้องมีความสูงจากพื้นรถ 870 mm กลายเป็น 910 mm นอกจากนั้นยังมีการม้วนเอนด์เพลตลง ทำให้เอนด์เพลตไม่สร้างอากาศปั่นป่วนไปด้านหลังเหมือนปีก่อนหน้านั้น

    อีกชิ้นส่วนที่มีการนำกลับมาใช้อีกครั้งคือบีมวิง ซึ่งมันถูกยกเลิกการใช้ไปตั้งแต่ปี 2014 โดยรถของ Haas นั้นได้แสดงให้เห็นถึงบีมวิง 1 ชั้น อย่างไรก็ตามสื่อคาดว่าเมื่อรถแข่งลงสนามทดสอบครั้งแรก หลายๆ ทีมน่าจะใช้ชิ้นส่วนบีมวิงเพิ่มขึ้นเป็น 2 ชั้น

    Wings and Diffuser

    ดิฟฟิวเซอร์เป็นอีกส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงจากปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด มันถูกลงขนาดความกว้างเหลือ 750 mm จากเดิม 1,050 mm แต่ขยายความสูงเพิ่มขึ้นเป็น 310 mm เพื่อไล่อากาศขึ้นด้านบนสูงขึ้น แทนที่ของเดิมที่มีขนาด 175 mm

    อย่างสุดท้ายคือ DRS ซึ่งยังคงมีเหมือนกับปีที่แล้ว ปีกนั้นยังคงเปิดออกมาได้กว้าง 85 mm เช่นเดิม แต่ว่าปีกส่วนที่เปิดได้นั้นจะมีความกว้างเพียง 960 mm จากความกว้างทั้งหมด 1,230 mm

    อ้างอิง : motorsport.com

    ABOUT THE AUTHOR

    Latest Posts