More

    ทีมบอส F1 เขาเป็นใคร มาจากไหน? (Part 1)

    ในบทความก่อนหน้านี้ เราได้มีการอธิบายไปบ้างแล้วว่า หน้าที่ของทีมบอส F1 นั้นมีรายละเอียดยิบย่อยและหนักหนาสาหัสเพียงใด สำหรับบทความนี้ เราจะมาเจาะเป็นรายบุคคลเลยว่า แต่ละคนนั้นเป็นใครมาจากไหน

    ต้องกล่าวก่อนว่า ทีมบอสแต่ละคนนั้นต่างก็มีความถนัดในสายงานที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งนี่จะทำให้เกิดความแตกต่างกันในแง่ของมุมมองในการบริหาร บางคนอาจชอบที่จะมีบทบาทในการกำกับดูแลในทุกสิ่งทุกอย่าง แต่บางคนนั้นหากมีด้านที่พวกเขาสามารถให้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านได้ พวกเขาก็อาจจะเน้นหนักไปทางนั้น

    Toto Wolff – Mercedes (ตั้งแต่ปี 2013)

    Toto Wolff

    Wolff เป็นอดีตนักแข่งรถชาวออสเตรียน อายุ 50 ปี เขาไม่ได้เป็นเพียงแค่ทีมบอส แต่ยังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ภายในทีมอีกด้วย เขาทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบกิจกรรมทางมอเตอร์สปอร์ตทุกอย่างของ Mercedes-Benz หรือพูดง่าย ๆ คือ เขารับช่วงต่อจาก Norbert Haug ผู้ดูแลคนก่อน

    Wolff นั้นเป็นนักแข่งรถที่เก่งกาจ แต่ก็ได้หันเหโฟกัสของตัวเองไปที่การแข่งขันสปอร์ตคาร์ หลังจากที่ได้ลงแข่งขัน Formula Ford ในออสเตรียและเยอรมนีมาสักพักในช่วงยุคต้น 90 เขาประสบความสำเร็จในระดับที่ไม่ดังเปรี้ยงปร้าง แต่นั่นก็มากพอที่เขาจะใช้ประสบการณ์ตรงนั้นมาช่วยในการบริหารคุมทีม

    นอกจากนั้น Wolff ยังเป็นนักธุรกิจชั้นอ๋องที่มีฝีมือเฉียบขาด และเขาก็ได้ใช้สกิลการวางแผนบริหารและการลงทุนอันยอดเยี่ยมของเขาในการจัดสรรทรัพยากรภายในทีมได้อย่างลงตัวและไหลลื่นเป็นที่สุด

    Wolff เคยเป็นผู้บริหารของ Williams มาก่อน ก่อนที่จะย้ายมาเข้าสังกัด Mercedes ที่ซึ่งเขาและ Niki Lauda ผู้ซึ่งจากไปในปี 2019 ร่วมมือกันผลักดันจน Lewis Hamilton และ Nico Rosberg ประสบความสำเร็จ

    เขาแต่งงานกับอดีตนักแข่งรถเช่นกัน เธอชื่อ Susie (นามสกุลเดิม Stoddart) และในตอนนี้เธอเป็น CEO ของทีมแข่ง Venturi Racing Formula E team

    Christian Horner – Red Bull (ตั้งแต่ปี 2005)

    ทีมบอส Red Bull

    มันดูจะเป็นอะไรที่น่าประหลาดใจไม่น้อย เมื่อคุณพบว่าในทีมบอส 10 คน 2 คนในนั้นเป็นชาวออสเตรียน อีก 6 คนเป็นชาวเยอรมัน แต่คนที่บริหารดูแลทีมแข่งออสเตรียนกลับเป็นชาวอังกฤษเพียงคนเดียวในหน้าที่นี้

    เช่นเดียวกันกับ Wolff, Horner นั้นเป็นอดีตนักแข่งรถ แต่เขาก้าวไปไกลกว่า Wolff มากในแง่ของการเป็นนักแข่งรถที่นั่งเดี่ยว อย่างไรก็ตาม เมื่อเขาไปถึงจุดสูงสุดที่เขาอิ่มตัวแล้วกับการแข่งขัน FIA Formula 3000 ในช่วงปลายยุค 90 เขาได้ก่อตั้งทีมแข่ง Arden ซึ่งทำให้ Horner กลายเป็นหนึ่งในเจ้าของ-นักแข่ง คนสุดท้ายที่เข้าแข่งขันในระดับสูงกับรถที่นั่งเดี่ยว และเมื่อสิ้นสุดฤดูกาล 1998 เขาก็ได้ตัดสินใจว่า ความแข็งแกร่งของเขานั้นเหมาะที่จะใช้หลังพิทวอลล์มากกว่าหลังพวงมาลัย

    หลังจากที่ได้วางมือจากการแข่งขันไป 7 ปีหลังจากนั้น ทีมแข่ง Arden ของเขาก็ประสบความสำเร็จคว้าแชมป์มาได้มากมาย นั่นทำให้ Red Bull ซึ่งพึ่งซื้อกิจการ F1 มาจาก Jaguar ได้จ้าง Horner ในวัย 31 ปี ที่ถือว่าเป็นทีมบอสที่อายุน้อยที่สุดในขณะนั้น ให้เข้ามาดูแลกิจการทีมแข่ง F1 ของ Red Bull

    การจับคู่ระหว่าง Horner และ Red Bull ก็ได้พิสูจน์แล้วว่ามันเป็นคู่สร้างคู่สมที่ยอดเยี่ยม ทีมบอสชาวอังกฤษได้ดูแลกิจการที่ค่อย ๆ ขยับขยายใหญ่โตและไต่เต้าขึ้นสู่แถวหน้าอย่างมั่นคง และคว้าแชมป์โลกอย่างยิ่งใหญ่ร่วมกันกับ Sebastian Vettel ถึง 4 สมัย

    Mattia Binotto – Ferrari (ตั้งแต่ปี 2019)

    Mattia Binotto

    Binotto เป็นชาวอิตาเลียนที่เกิดที่สวิตเซอร์แลนด์ เขาเกิดที่เมืองโลซานและเข้าศึกษาสายวิศวกรรมเครื่องกลที่นั่น แค่นี้ก็น่าจะชัดเจนแล้วว่า เขามีความเป็นวิศวกรจากรากแก่นเลยทีเดียว

    Binotto ยังเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการทำงานอย่างหนักจนไต่เต้าขึ้นมาเป็นใหญ่ในองค์กร เขาเข้าทำงานกับ Ferrari ในปี 1995 ในฐานะวิศวกรทดสอบเครื่องยนต์ จากจุดนั้นเขาก็ได้ไต่เต้าจนขึ้นมาเป็นหัวหน้าแผนกเครื่องยนต์ได้ในปี 2013 และขึ้นสู่จุดสูงสุดของฝ่ายเทคนิคในปี 2016 โดยการเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค

    ในที่สุดเมื่อเข้าสู่ปี 2019 เขาก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทีมบอสอย่างเต็มตัว ไม่เพียงเท่านั้น เขายังได้รับหน้าที่กรรมการผู้จัดการของแผนกมอเตอร์สปอร์ตของ Ferrari ควบคู่ไปกับการคุมทีมแข่ง F1 อีกด้วย

    Otmar Szafnauer – Alpine (ตั้งแต่ปี 2022)

    ทีมบอส

    Szafnauer พึ่งก้าวขึ้นมาอยู่ในแสงสปอตไลท์ของ F1 ได้ในช่วงเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา เขาเริ่มมีตัวตนจากการเป็นหนึ่งในผู้บริหารของ Force India ในช่วงก่อนที่จะถูกรีแบรนด์เป็น Racing Point และกลายมาเป็น Aston Martin เขาแยกทางกับค่ายผู้ผลิตจากสหราชอาณาจักรฯ ในเดือนมกราคม ต้นปี 2022 ก่อนที่จะมาปรากฏตัวอีกครั้งในฐานะทีมบอส Alpine

    อันที่จริง Szafnauer ได้เข้าสู่วงการ F1 หลังจากที่เขาลาออกจาก Ford Motor Company ที่เขาทำงานมาอย่างยาวนาน เพื่อมาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของทีมแข่ง F1 ทีมใหม่อย่าง British American Racing ในปี 1998 จากนั้นเขาก็ยังคงอยู่กับ Honda ก่อนที่จะย้ายมาเป็นหนึ่งในผู้บริหารของ Force India ในปี 2009 หลังจากที่ Honda ถอนตัวออกไป

    นับจากจุดนั้น เขาได้ใช้สกิลความสามารถในการเป็นนักธุรกิจของเขาในการประคองทีมแข่งงบน้อยอย่าง Force India ให้สามารถทำผลงานได้ตามหลังเพียงทีมใหญ่บิ๊กทรีเท่านั้น ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าเขามีความสามารถที่โดดเด่นในการจัดสรรงบประมาณอันจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด จนทำให้เขาไต่เต้าขึ้นมาเป็นทีมบอส Racing Point ได้ในที่สุด

    อีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญของนักธุรกิจวัย 58 ปี คนนี้คือ เขาเป็นผู้ที่ช่วยเจรจาต่อรองจนทำให้ Force India บรรลุข้อตกลงในการใช้เครื่องยนต์ Mercedes ซึ่งมีส่วนทำให้ทางทีมสร้างผลงานได้ดีที่สุดในปี 2016 และ 2017 กับอันดับ 4 บนตารางแชมเปียนชิพ

    Andreas Seidl – McLaren (ตั้งแต่ปี 2019)

    ทีมบอส Andreas Seidl

    ก่อนที่ Seidl จะถูกว่าจ้างให้มาทำงานที่ทีมแข่งฐานโวกกิงในปี 2019 เขามีโปรไฟล์สายมอเตอร์สปอร์ตอันสวยหรู จากการเป็นทีมบอส Porsche ในโปรแกรมสปอร์ตคาร์ LMP1 ที่ประสบความสำเร็จสุด ๆ ในขณะนั้น แถมเขายังเคยมีประสบการณ์กับการแข่งขัน Formula 1 มาก่อน จากการเป็นหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการข้างสนามของ BMW Sauber ตั้งแต่ปี 2007 – 2009

    Seidl เป็นเพียงทีมบอสคนที่ 5 ของทีม McLaren เท่านั้น ต่อจาก Bruce McLaren ผู้ก่อตั้ง, Teddy Mayer, Ron Dennis, และ Martin Whitmarsh โดยวิศวกรชาวเยอรมันผู้นี้ได้เข้ามากอบกู้สถานการณ์ของทีมแข่งจากโวกกิง หลังจากที่พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จร่วมกับ Honda และมีผลงานตกต่ำจนเกือบถึงขั้นกลายเป็นทีมท้ายตาราง

    เขาได้วางรากฐานของทีมใหม่ ปรับเปลี่ยนการทำงานและโครงสร้างบางอย่างที่ล้าสมัย จนทำให้ McLaren กลับขึ้นมาเป็นทีมที่ดีที่สุดของกลุ่มกลางตารางอีกครั้ง โดยตามหลังเพียงแค่บิ๊กทรีอย่าง Mercedes, Red Bull, และ Ferrari

    ถึงแม้ว่าในปีนี้ McLaren อาจไม่ได้มีการเริ่มต้นฤดูกาลที่ราบรื่นนัก แต่ด้วยประสบการณ์อันล้นหลามของ Seidl เชื่อว่าเขาน่าจะกอบกู้สถานการณ์ของทีมกลับมาได้โดยที่ไม่ต้องใช้เวลามากนัก

    อ้างอิง : motorsport.com

    ABOUT THE AUTHOR

    Latest Posts