More

    ใบขับขี่ตลอดชีพหาย ต้องทำอย่างไร สอบใหม่หรือไม่??

    สำหรับผู้ใช้รถยนต์ หรือรถมอเตอร์ไซค์ สิ่งแรกที่ทุกคนต้องมีก่อนจะออกสู่ถนนอย่างถูกกฎหมายได้นั่นก็คือ ใบขับขี่ หรือใบอนุญาตขับรถ เอกสารที่กรมการขนส่งทางบกออกให้กับบุคคลหนึ่งเพื่อเป็นหลักฐานว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติผ่านการทดสอบสมรรรถภาพร่างกาย ทดสอบความรู้ และผ่านการอบรมเกี่ยวกับกฎหมายจราจร รวมถึงมารยาทการใช้รถใช้ถนนอย่างถูกต้องตามกระบวนการ

    ใบขับขี่ หรือใบอนุญาตขับรถนั้น มีอยู่หลายแบบ  ใบขับขี่ มีกี่ประเภท ? ส่วนใครที่ไม่เคยมีใบขับขี่มาก่อน เมื่อทำใบขับขี่หรือสอบใบขับขี่ครั้งแรกจะได้รับ ใบขับขี่ส่วนบุคคลชนิดชั่วคราว ซึ่งจะมีอายุการใช้งาน 2 ปี และเมื่อถึงกำหนดการต่ออายุใบขับขี่จะได้รับ ใบขับขี่ส่วนบุคคลชนิด 5 ปี และเมื่อครบกำหนดต่ออายุก็จะได้รับใบขับขี่ส่วนบุคคลชนิด 5 ปี เช่นเดิม แต่ก็มีใบขับขี่ชนิดหนึ่งที่ไม่ต้องกังวลเรื่องของวันหมดอายุ หรือต้องคอยมาต่ออายุ นั่นก็คือ ใบขับขี่ตลอดชีพ

    ใบขับขี่ตลอดชีพ คือ ใบอนุญาตขับรถชนิดหนึ่งที่ไม่มีกำหนดวันหมดอายุ หรือต้องคอยต่ออายุใบขับขี่ใหม่ ซึ่งปัจจุบันใบขับขี่ตลอดชีพถูกยกเลิกการขอใช้งานใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังมีการประกาศพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2546 ยกเลิกการออกใบขับขี่ตลอดชีพ เปลี่ยนมากำหนดอายุใบขับขี่เป็นชนิดบุคคล 5 ปีแทน และทุกครั้งที่หมดอายุต้องมาทดสอบสมรรถภาพร่างกายเพื่อต่ออายุใบขับขี่

    หากทำหายต้องทำอย่างไร?
    หากใบขับขี่ตลอดชีพหายสามารถติดต่อขอทำใหม่ได้เลยโดยไม่ต้องไปแจ้งความ เนื่องจากปัจจุบันสามารถเข้าไปเขียนคำร้องขอทำใบขับขี่ใหม่ได้ที่กรมการขนส่งทางบกทุกแห่งทั่วประเทศ ซึ่งผู้ที่ทำใบขับขี่ตลอดชีพหายและต้องการขอใบขับขี่ใหม่ ต้องดำเนินการจองคิวเข้ารับบริการผ่านแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue หรือทำการจองทางเว็บไซต์ gecc.dlt.go.th ของกรมการขนส่งทางบก และเดินทางไปยังสำนักงานขนส่งตามวันและเวลาที่เลือกไว้

    ผู้ที่มีใบขับขี่ตลอดชีพหากทำหายและต้องการขอใบขับขี่ใหม่ จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้ารับการอบรม ทดสอบร่างกาย สอบข้อเขียน และสอบปฏิบัติ โดยสามารถจองคิวเข้ารับบริการ เขียนคำร้อง และทำบัตรใบใหม่ได้ทันที

    เอกสารที่ต้องใช้ มีดังนี้

    • บัตรประชาชนตัวจริง

    สำหรับใบอนุญาตขับขี่นั้นจะแบ่งเป็น 2 ประเภท ประกอบไปด้วย

    • 1. ประเภท ส่วนบุคคล (บ.)

    ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถประเภทส่วนบุคคล จะใช้สำหรับรถในการขนส่งส่วนบุคคล รถที่มีแผ่นป้ายทะเบียนพื้นสีขาว ตัวเลข และตัวอักษรสีดำ

    • 2. ประเภท ทุกประเภท (ท.)

    ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถประเภททุกประเภท จะใช้สำหรับรถสาธารณะ รถที่มีแผ่นป้ายทะเบียนพื้นสีเหลือง ซึ่งใบอนุญาตขับรถประเภททุกประเภทนั้น สามารถใช้ทดแทน ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถประเภทส่วนบุคคล และใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถสาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ได้

    ชนิดของใบขับขี่ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์

    1. ใบอนุญาตขับรถชนิดชั่วคราว
    คือ ใบขับขี่สำหรับคนไปทำครั้งแรก ซึ่งจะแยกย่อยออกไป 3 ประเภท คือ ใบอนุญาตขับรถยนต์ชั่วคราว มีอายุ 2 ปี, ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อชั่วคราว อายุ 2 ปี และใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว อายุ 2 ปี โดยผู้ขอรับใบขับขี่จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และทุกประเภทจะมีค่าธรรมเนียม 100 บาท

    อายุ 2 ปี / ค่าธรรมเนียม 100 บาท

    2. ใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล
    ใบขับขี่ชนิดนี้ เป็นแบบที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยที่สุดเพราะเป็นใบอนุญาตสำหรับการขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลนั่นเอง โดยจะได้มาหลังจากการใช้ใบขับขี่ชั่วคราวมาครบ 1 ปี ซึ่งใบขับขี่แบบนี้ก็จะมีอายุใช้ได้ยาว ๆ 5 ปี

    อายุ 5 ปี / ค่าธรรมเนียม 500 บาท

    3. ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อส่วนบุคคล
    สำหรับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนใบขับขี่รถยนต์สามล้อจากชนิดชั่วคราว ไปเป็นชนิด 5 ปี หรือต้องการต่ออายุใบขับขี่รถสามล้อส่วนบุคคล ซึ่งใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลจะมีอายุ 5 ปี ค่าธรรมเนียม 250 บาท

    อายุ 5 ปี / ค่าธรรมเนียม 250 บาท

    4. ใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ
    ใบขับขี่ชนิดนี้ออกให้สำหรับผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพขับรถยนต์ขนส่งสาธารณะ หรือรถแท็กซี่ โดยต้องได้รับใบขับขี่ชั่วคราวมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือมีใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลอยู่แล้ว โดยต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 22 ปีบริบูรณ์

    อายุ 3 ปี / ค่าธรรมเนียม 300 บาท

    5. ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อสาธารณะ
    คือ ใบขับขี่ของผู้ที่ต้องการทำอาชีพขับรถยนต์สามล้อสาธารณะ หรือที่คนไทยเรียกติดปากกันว่า รถตุ๊กตุ๊ก โดยจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปีหรือแบบตลอดชีพ และต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 22 ปีบริบูรณ์

    อายุ 3 ปี / ค่าธรรมเนียม 150 บาท

    6. ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล
    ใบขับขี่
    เป็นใบขับขี่อีกหนึ่งชนิดที่น่าจะเป็นที่คุ้นเคยสำหรับหลาย ๆ คน โดยผู้ที่ต้องการเปลี่ยนใบขับขี่รถจักรยานยนต์จากชนิดชั่วคราว ไปเป็นชนิด 5 ปี หรือต้องการต่ออายุใบขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล

    อายุ 5 ปี / ค่าธรรมเนียม 250 บาท

    7. ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ
    ใบขับขี่สำหรับผู้ที่ต้องการทำอาชีพขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ หรือวินมอเตอร์ไซค์ โดยต้องได้รับใบขับขี่รถจักรยานยนต์ชั่วคราวมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือมีใบขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลอยู่แล้ว โดยต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ซึ่งใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะจะมีอายุ 3 ปี ค่าธรรมเนียม 150 บาท

    อายุ 3 ปี / ค่าธรรมเนียม 150 บาท

    8. ใบอนุญาตขับรถบดถนน
    สำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถบดถนน ต้องผ่านการอบรมตามหลักสูตรดังนี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง (กฎหมายว่าด้วยรถยนต์ กฎหมายว่าด้วยทางหลวง และกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก), การขับรถอย่างปลอดภัย และ มารยาทในการขับรถ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์

    อายุ 5 ปี / ค่าธรรมเนียม 250 บาท

    9. ใบอนุญาตขับรถแทรกเตอร์
    สำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถแทรกเตอร์เพื่อใช้งานในเกษตรกรรม ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ซึ่งใบอนุญาตขับรถแทรกเตอร์จะมีอายุ 5 ปี ค่าธรรมเนียม 250 บาท

    อายุ 5 ปี / ค่าธรรมเนียม 250 บาท

    10. ใบอนุญาตขับรถชนิดอื่น
    ใบขับขี่ชนิดนี้ก็คือใบอนุญาตสำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถชนิดอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวมาในข้อ 1 ถึง ข้อ 9 โดยจะมีอายุ 5 ปี ค่าธรรมเนียม 100 บาท

    11. ใบอนุญาตขับรถตามความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี หรือ ใบขับขี่สากล
    สำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศ หรือที่เรียกกันติดปากว่าใบขับขี่สากล โดยผู้ที่สามารถทำใบขับขี่สากลได้ จะมีอายุเท่าไรก็ได้ แต่ที่สำคัญจะต้องมีใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล ชนิด 5 ปี หรือตลอดชีพแล้ว จึงจะสามารถยื่นขอทำใบขับขี่สากลได้ โดยใบขับขี่สากลจะมีอายุ 1 ปี ค่าธรรมเนียม 500 บาท

    อายุ 1 ปี / ค่าธรรมเนียม 500 บาท

    อย่างไรก็ตามหากได้รับบัตรใหม่เรียบร้อยแล้ว โปรดรักษาเอาไว้ให้ดี เพื่อที่จะไม่ต้องเสียเวลามาทำใหม่ หากเกิดกรณีโดนตำรวจเรียกตรวจอาจจะต้องเสียเงินโดยใช่เหตุได้ 


    บทความอื่น ๆ

    ABOUT THE AUTHOR

    Latest Posts