More

    “เนต้า-ไมน์ โมบิลิตี้-เอชเซม” เซ็น MOU สรรพสามิตสิงหาคม

    “สรรพสามิต” แย้ม ส.ค.นี้พร้อม MOU อีก 3 เจ้าเข้าร่วมโครงการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า ระบุชัด “NETA จากจีนและ Mine Mobility ของกลุ่ม EA เข้าป้าย ส่วน BYD ขอเวลาอีกนิดขึ้นไลน์ผลิตเองไม่จ้าง ปตท. ด้านมอเตอร์ไซค์อีวี “เอช เซม” ฉลุยหลังได้ไฟเขียวมาตรฐานความปลอดภัย UNR 136

    มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นจากการผลักดันของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เห็นชอบให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เข้าร่วมได้สิทธิประโยชน์ ทั้งภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิต และเงินอุดหนุนจำนวน 70,000 หรือ 150,000 บาทต่อคัน ขึ้นอยู่กับขนาดของแบตเตอรี่ จักรยานยนต์ได้ 18,000 บาทต่อคัน โดยมีรถยนต์อีวีทำบันทึกข้อตกลงเรียบร้อยไปแล้ว 3 แบรนด์ ได้แก่ เอ็มจี, เกรท วอลล์ฯ และโตโยต้า ส่วนมอเตอร์ไซค์อีวี ได้แก่ เดโก้ เมื่อช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา

    Toyota
    ที่มาภาพ : infoquest.co.th

    แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายในเดือนสิงหาคม 2565 จะมีค่ายรถยนต์ 2 ราย และรถจักรยานยนต์ 1 ราย เข้ามาเซ็นสัญญาร่วมโครงการสนับสนุนและส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ได้แก่ NETA จากบริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด และ Mine Mobility จากบริษัท ไมน์ โมบิลิตี คอร์ปอเรชั่น ของกลุ่ม EA ได้แจ้งความจำนงขอเข้าร่วมมาตรการ แต่ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนเตรียมเสนอโครงสร้างราคารถยนต์อีวีที่จะนำมาจำหน่ายอยู่ และอีก 1 ค่ายรถจักรยานยนต์ คือ H SEM ของกลุ่มบริษัท เอช เซม มอเตอร์ ก็แสดงความสนใจเข้าร่วมมาตรการ แต่ยังอยู่ระหว่างเตรียมเสนอโครงสร้างราคาเข้ามาเช่นกัน

    นอกจากนี้ ยังมีค่ายรถยนต์จากจีนแบรนด์ BYD ในนามบริษัท เร-เว่ ออโตโมทีฟ จำกัด แสดงความสนใจเข้าร่วมมาตรการ แต่ผู้ประกอบการต้องการจะลงทุนสร้างโรงงานขึ้นเอง เพราะมีนโยบายใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต ซึ่งยังต้องใช้เวลาพักใหญ่ คาดว่าน่าจะสร้างได้ปี 2566-2567

    อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการขอนำเข้ามาก่อน แต่จะต้องทำข้อตกลงร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อสามารถผลิตชดเชยตามเงื่อนไขการเข้าร่วมมาตรการที่กำหนดผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ ต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยในปีที่ 3 คืนในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 หรือเท่ากับจำนวนที่นำเข้ามาขายในช่วง 2 ปีแรก ส่วนปีที่ 4 จะต้องผลิตคืนในอัตราส่วน 1 ต่อ 1.5

    แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ปัญหาชิปขาดแคลน ก็ยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ขณะนี้ผู้ประกอบการยังชะลอการเข้าร่วมโครงการ เพราะต้องรอชิ้นส่วนดังกล่าวด้วย แต่เชื่อว่าปัญหาดังกล่าวจะมีผลระยะสั้น เนื่องจากเทคโนโลยีเกี่ยวกับชิ้นส่วนยานยนต์อีวีพัฒนาไปเร็วมาก และคาดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ในไม่ช้า ซึ่งกรมสรรพสามิตยังคาดว่าปีนี้จะสามารถจำหน่ายรถอีวี ตามมาตรการสนับสนุนได้กว่า 10,000 คัน ขณะที่ในการเข้าร่วมโครงการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับจักรยานยนต์อีวีนั้น ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมตัวแบตเตอรี่ต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัย

    H SEM

    นายวันชัย ลี้นะวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอช เซม มอเตอร์ จำกัด ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้ให้เช่ารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเอช เซม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทน่าจะ MOU กับสรรพสามิตได้เร็ว ๆ นี้ เนื่องจากผ่านเงื่อนไขต่าง ๆ ครบ โดยเฉพาะมาตรฐานความปลอดภัย UNR 136 ซึ่งเป็นการควบคุมพื้นฐานความปลอดภัยจากไฟฟ้า อาทิ ความปลอดภัยระบบสายไฟในตัวรถ ความปลอดภัยของตัวแบตเตอรี่ ทั้งตัวโครงสร้างแบตเตอรี่ และการเปลี่ยนถอดเข้า-ออก การเคลื่อนย้าย การชาร์จ ซึ่งทั้งหมดป้องกันการระเบิด รวมถึงความปลอดภัยระหว่างการใช้งานของผู้ขับขี่เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย

    “หลังเซ็น MOU เรียบร้อย ลูกค้าสามารถซื้อมอเตอร์ไซค์อีวีแบรนด์เอช เซมได้ถูกลง 1.8 หมื่นบาท เชื่อว่าน่าจะช่วยขยายตลาดได้เยอะ ต้องยอมรับว่ามอเตอร์ไซค์อีวีปีนี้ขยายตัวเร็วมาก 6 เดือนยอดจดทะเบียนเฉียด 4,000 คัน เฉพาะไตรมาสแรกของปี 2565 มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเอช เซม มียอดจดทะเบียนโตขึ้นกว่า 4 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา

    เหตุผลคงมาจากราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้นทุกวัน ประกอบกับความไว้วางใจของลูกค้าที่เชื่อมั่นในสินค้าและงานบริการของเอช เซม โดยเฉพาะระยะหลังเรามีบริการให้เช่าทุกรูปแบบ นอกจากค่าเช่าถูกแล้ว เอช เซมยังดูแลเรื่องงานบริการ มีรถสำรองใช้ระหว่างรอซ่อม ตลอด 24 ชม. เปลี่ยนแบตเตอรี่แบบไม่จำกัดจำนวนครั้ง ทุกสถานี ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมประกันอุบัติเหตุ และ พ.ร.บ.อีกด้วย”

    สำหรับราคาขายมอเตอร์ไซค์ เอช เซม ตอนนี้มีด้วยกัน 3 รุ่น – H SEM Ciao 49,700 บาท H SEM MOBILA G 130,000 บาท พร้อมแบตเตอรี่ 2 ลูก H SEM MOBILA S/WINGS 110,000 รวมแบตเตอรี่ 2 ลูก

    ในขณะที่แบบเช่า ผ่าน K+ ในเดือน ส.ค. นี้ รุ่น MOBILA G 15 วัน ราคา 2,138 บาท, รุ่น MOBILA G 2022 15 วันราคา 2,288 บาท และรุ่น MOBILA S/WINGS 15 วันราคา 1,613 บาท

    NETA

    นาย อเล็กซ์ เป่า จ้าวเฟย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า รถอีวีเนต้าที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ช่วงแรกเป็นซีบียู หลังจากนั้นจะผลิตในประเทศไทย ซึ่งจะผลิตทั้งพวงมาลัยซ้าย-ขวา โดยว่าจ้างบริษัท อรุณ พลัส จำกัด ในเครือของ ปตท. คาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในปี 2566

    เบื้องต้นมีสัญญาผลิตอยู่ 2 ปี หลังจากนั้นคงต้องดูความเป็นไปได้ว่าจะจ้างผลิตต่อหรือขยายลงทุนตั้งโรงงานผลิตเอง ซึ่งหลังจากได้เริ่มทดลองตลาดและนำรถมาโชว์ในงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากลูกค้าชาวไทยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการทดลองใช้รถยนต์ไฟฟ้า ขณะนี้มียอดจองรถยนต์ไปแล้วกว่า 1,000 คัน

    ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า รถอีวีเนต้า ซึ่งเข้าร่วมโครงการคือ NETA V ซึ่งทางบีอาร์จี กรุ๊ปทำหน้าที่ดีลเลอร์แจ้งลูกค้าว่า ราคาขายไม่เกิน 6 แสนบาท หักเงินอุดหนุน 1.5 แสนบาทตามสิทธิ ลูกค้าก็สามารถเป็นเจ้าของได้ในราคา 5.5 แสนบาท ตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นการจอง คาดว่าจะส่งมอบได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ โดยวางตำแหน่งสินค้าให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้ามาตีตลาดอีโคคาร์

    MINE SPA1
    ที่มาภาพ : matichon.co.th

    ก่อนหน้านี้ นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า บริษัท ไมน์ โมบิลิตี คอร์ปอเรชั่น จำกัด เล็งส่งรถรุ่น MINE SPA1” (มาย-สะ-ปา-วัน) รถยนต์อเนกประสงค์หรือ MPV ขนาด 5 ที่นั่งลงตลาด

    รถรุ่นนี้ผลิตด้วยวัสดุน้ำหนักเบา เสริมความแข็งแรงด้วยอะลูมิเนียมแพลตฟอร์ม อัตราความเร็วสูงถึง 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ขนาด 30 kWh ในการขับเคลื่อนระยะทางกว่า 200 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง พร้อมเทคโนโลยี STOBA ช่วยป้องกันการลัดวงจรจากภายในของเซลล์แบตเตอรี่ สาเหตุหลักของการเกิดไฟไหม้ โดยใช้เวลาชาร์จเพียง 15 นาที ด้วยระบบการชาร์จแบบ quick charge และรองรับการชาร์จแบบ AC normal

    อ้างอิง : prachachat.net

    ABOUT THE AUTHOR

    Latest Posts