More

    อยากขึ้นทางด่วนแบบเซียน!! ต้องรู้จักชื่อทางด่วนไว้..ไปไหนจะได้ไม่หลง

    ถ้าอยากขึ้นทางด่วนแบบเซียน หรือไม่อยากให้เพื่อนล้อว่าเป็นมนุษย์จอมหลง ต้องมาทำความรู้จักกับ 7 ทางด่วนในกรุงเทพฯ ซึ่งจะช่วยให้คุณไม่ต้องหลงและต้องหัวเสียกับการเดินทางบนทางด่วนที่ต้องวนไปวนมาแบบไม่รู้เส้น 

    1. ทางด่วนเฉลิมมหานคร หรือทางด่วนขั้นที่ 1 ระยะทางรวม 27.1 กิโลเมตร มีจำนวน 3 เส้นทาง จุดเริ่มต้นทางฝั่งทิศเหนือจากปลายถนนวิภาวดีรังสิต ประกอบด้วย สายดินแดง – ท่าเรือ สายบางนา – ท่าเรือ และสายดาวคะนอง – ท่าเรือ สิ้นสุดที่ถนนพระรามที่ 2 มีด่านเก็บค่าผ่านทางจำนวน 5 ด่านคือ ด่านสาธุประดิษฐ์ 1, ด่านสาธุประดิษฐ์ 2, ด่านพระราม3, ด่านสุขสวัสดิ์ และด่านดาวคะนอง

    2. ทางด่วนศรีรัช หรือทางด่วนขั้นที่ 2 มีระยะทางรวม 38.4 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 4 ส่วน 

    ส่วน A เริ่มต้นที่ถนนรัชดาภิเษกผ่านบริเวณทางแยกต่างระดับพญาไท สิ้นสุดแนวสายทางที่ถนนพระราม 9

    ส่วน B มีแนวเชื่อมต่อกับส่วน A ที่บริเวณทางแยกต่างระดับพญาไท แนวสายทางมุ่งไปทางทิศใต้ ผ่านถนนศรีอยุธยา เชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานครที่บริเวณต่างระดับบางโคล่

    ส่วน C เป็นทางพิเศษเขตนอกเมือง โดยเชื่อมต่อกับส่วน A บริเวณถนนรัชดาภิเษก ผ่านถนนประชาชื่น มุ่งไปทางทิศเหนือ สิ้นสุดที่ถนนแจ้งวัฒนะ และเชื่อมต่อกับทางพิเศษอุดรรัถยา

    ส่วน D ระยะทาง เป็นทางพิเศษเขตนอกเมือง เชื่อมต่อกับส่วน A โดยเริ่มจากถนนพระราม 9 ไปทางทิศตะวันออก ตัดกับทางพิเศษเฉลิมมหานครที่ทางแยกต่างระดับมักกะสัน ตัดกับทางพิเศษฉลองรัชที่ทางแยกต่างระดับพระราม 9 และสิ้นสุดที่ถนนศรีนครินทร์ บริเวณทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ และเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 เป็นทางยกระดับ

    3. ทางด่วนฉลองรัช (ทางด่วนสานรามอินทรา – อาจณรงค์) ระยะทาง 28.2 กิโลเมตร โดยมี 2 ช่วง คือ

    ช่วงที่ 1 รามอินทรา–อาจณรงค์ โดยมีเส้นทางเริ่มจากถนนรามอินทรา จากนั้นเส้นทางมุ่งไปทางทิศใต้ ข้ามถนนประเสริฐมนูกิจ ถนนลาดพร้าว ถนนประชาอุทิศ ถนนพระราม 9 แล้วไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตัดกับทางพิเศษศรีรัชส่วน D พร้อมกับข้ามถนนรามคำแหง และถนนพัฒนาการ แล้วเลียบแนวคลองตันข้ามถนนสุขัมวิท ทางด้านตะวันออกของสะพานพระโขนง ไปบรรจบกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร สายบางนา–ท่าเรือ ที่บริเวณอาจณรงค์ (ปลายซอยสุขุมวิท 50)

    ช่วงที่ 2 รามอินทรา–วงแหวนรอบนอก มีจุดเริ่มต้นจากถนนกาญจนาภิเษก ด้านตะวันออก บริเวณทิศใต้ของทางแยกต่างระดับลำลูกกา มุ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ยกระดับข้ามถนนสุขาภิบาล 5 และยกระดับข้ามโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมถนนสุขาภิบาล 5–ถนนนิมิตใหม่ จนถึงถนนรามอินทรบริเวณกิโลเมตรที่ 5.5 เรียกถนนในช่วงนี้ว่า “ทางพิเศษสายรามอินทรา–วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร” ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายของทางพิเศษฉลองรัชทางด้านเหนือ มีระยะทาง 9.5 กิโลเมตร ก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร

    4. ทางด่วนบูรพาวิถี หรือ ทางด่วน 4 (ทางด่วนสายบางนา-ชลบุรี) ระยะทางรวม 55 กิโลเมตร 

    มีจุดเริ่มต้นที่เขตบางนา กรุงเทพมหานคร สิ้นสุดที่อำเภอชลบุรี จังหวัดชลบุรี เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจรซ้อนอยู่บนถนนเทพรัตน (หรือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข34) เป็นทางพิเศษที่เชื่อมการคมนาคมขนส่งระหว่างกรุงเทพมหานคร กับพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศ

    5. ทางด่วนอุดรรัถยา (ทางด่วยสายบางปะอิน – ปากเกร็ด) ระยะทางรวม 32 กิโลเมตร 

    มีปลายทางทิศใต้ที่ปลายทางทิศเหนือของทางพิเศษศรีรัช ส่วน C บริเวณจุดตัดกับถนนแจ้งวัฒนะ ในอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และมีปลายทางทิศเหนือบนถนนกาญจนาภิเษกด้านตะวันตก ในอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

    6.ทางพิเศษสายใต้ ตอน S1 รวมระยะทาง 4.7 กิโลเมตร

    มีจุดเริ่มต้นจากปลายทางพิเศษฉลองรัช ซ้อนทับไปตามแนวทางพิเศษเฉลิมมหานครเดิม (ราบโรงกลั่น) เชื่อมต่อกับทางพิเศษบูรพาวิถี ระยะทาง 4.7 กิโลเมตรรู้จักในนาม ทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ ซึ่งเป็นทางพิเศษยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร

    7. ทางด่วนกาญจนาภิเษก (ทางด่วนสายบางพลี – สุขสวัสดิ์ ) ระยะทางรวม 22.50 กิโลเมตร

    เป็นถนนที่เชื่อมต่อกับถนนกาญจนาภิเษก (ช่วงถนนพระรามที่ 2 ถึงถนนสุขสวัสดิ์) เริ่มต้นจากถนนสุขสวัสดิ์ อำเภอพระประแดง ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านถนนสุขุมวิท ถนนศรีนครินทร์ และถนนเทพารักษ์ ไปบรรจบกับถนนเทพรัตน อำเภอบางพลี มีระยะทาง 22.5 กิโลเมตร สำหรับทางพิเศษสายนี้ มีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มอีก 1 แห่ง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามสะพานว่า “สะพานกาญจนาภิเษก”

    นอกจากทางด่วนพิเศษในกรุงเทพฯ เรายังต้องทำความรู้จักกับถนนที่มีความสำคัญในการเดินทางอีกด้วย เพื่อป้องกันการหลงทางและเดินทางได้อย่างลุล่วง

    โทลเวย์ – คือถนนที่เก็บค่าผ่านทางดูแลโดยบริษัทดอนเมืองโทลเวย์ ซึ่งเป็นเอกชน เป็นทางด่วนยกระดับลอยฟ้าเฉพาะในเขตกรุงเทพ เริ่มตั้งแต่ช่วงดินแดงจนถึงโรงกษาปณ์ย่านรังสิต มุ่งหน้าสู่ภาคเหนือเเละอีสาน รวมระยะทางทั้งหมด 28.2 กม.

    มอเตอร์เวย์ –  มอเตอร์เวย์เป็นทางด่วนระหว่างเมืองหรือจังหวัดติดต่อกัน ให้ใช้เฉพาะรถยนต์ รถบัส หรือรถบรรทุกเท่านั้นในการสัญจร (ห้ามคน เเละรถจักรยานยนต์) มีรั้วตลอดทางและจะเป็นถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทาง และเป็นถนนทางเลือกคู่ไปกับถนนเดิม มีสองสายคือ ทางด่วนพิเศษหมายเลข7 มอเตอร์เวย์-กรุงเทพ-ชลบุรี-พัทยา รวมระยะทาง 125.9กม. เเละ สาย 9 = ถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก)

    ไฮเวย์ – คือทางหลวงแผ่นดินวิ่งระหว่างจังหวัดไม่เสียค่าผ่านทาง แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ ทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงชนบท ทางหลวงท้องถิ่น และทางหลวงสัมปทาน ทางหลวงหลักที่เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพมหานครไปยังภูมิภาคหลักของประเทศไทย มีทั้งหมด 4 สาย ได้แก่ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 ถนนสุขุมวิท เเละทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม

    source : การทางพิเศษ, google

    ABOUT THE AUTHOR

    Latest Posts