More

    คู่มือวิเคราะห์การทดสอบรถ F1 ข้อมูลที่ควรอ้างอิง และ ข้อมูลที่ไม่ควรเชื่อถือ

    การทดสอบรถก่อนเปิดฤดูกาลแข่งขัน F1 มันเป็นช่วงเวลาที่แต่ละคนก็จะมีอารมณ์หลากหลายกันไป บางคนก็อาจจะรู้สึกเบื่อหน่าย บางคนก็อาจตั้งตารอคอย และบางคนก็อาจรู้สึกถึงความกดดันและความคาดหวัง ซึ่งไม่ว่าแต่ละคนจะรู้สึกอย่างไร แต่นี่คือช่วงเวลาครั้งแรกที่รถแข่งคันใหม่ของแต่ละทีมจะได้ลงวิ่งบนแทร็คอย่างเป็นการเป็นงาน

    เช่นเดียวกับการแข่งขัน การทดสอบรถนั้นบางครั้งทีมแข่งก็อาจต้องพบเจอกับสถานการณ์ที่ต้องรับมือให้ทัน พวกเขาอาจมีการทดสอบที่ราบรื่นตลอดทั้งวัน แต่เมื่อเปลี่ยนโปรแกรมการทดสอบ พวกเขาก็อาจจะเจอกับปัญหาตลอดทั้งวันก็เป็นได้เช่นกัน อย่างไรเสีย จุดประสงค์หลักของการทดสอบรถก็คือ การทำให้ตัวรถแสดงปัญหาออกมาเพื่อให้ทางทีมได้แก้ไขก่อนที่มันจะถูกส่งลงสนามจริง

    กุญแจสำคัญในการทดสอบก็คือ การวิ่งให้ได้มากรอบที่สุด และไม่ใช่การทำเวลาต่อรอบให้เร็วที่สุด โดยค่าเฉลี่ยที่ดีสำหรับสนาม Barcelona ที่เป็นสนามทดสอบคือ ทีมใดที่วิ่งได้มากกว่า 100 รอบ/วัน ถือได้ว่าทีมนั้นมีการทดสอบที่ค่อนข้างราบรื่นและเป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้

    ในส่วนของเวลาต่อรอบนั้น แน่นอนว่าการที่รถแข่งทำเวลาต่อรอบได้ดีย่อมหมายถึงตัวรถนั้นมีศักยภาพเป็นอย่างสูง แต่นั่นอาจจะใช้ไม่ได้กับการทดสอบรถและต้องใช้ความระมัดระวังในการวิเคราะห์เวลาที่ทำได้ออกมา เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว ทีมแข่งมักจะ ‘แบกถุงทราย’ หรือก็คือ กั๊กประสิทธิภาพของตัวรถไว้ไม่ปล่อยออกมาเต็ม ๆ เพื่อเอาไว้สับขาหลอกทีมคู่แข่ง

    แล้วมีปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลต่อเวลาต่อรอบของรถแข่ง? พวกมันมีตั้งแต่ ปริมาณเชื้อเพลิง หรือ น้ำหนักที่ตัวแข่งแบกไว้, ชนิดของยาง, อุณหภูมิผิวแทร็ค เนื่องจากพวกเขาทดสอบรถทั้งวันตั้งแต่เช้ายันเย็น, และอีกหนึ่งตัวปัญหาของสนาม Barcelona ‘กระแสลม’

    การทดสอบรถ F1
    ที่มาภาพ : maxf1.net

    Ferrari เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการที่ไม่ควรให้ความสำคัญกับเวลาต่อรอบมากเกินไป เพราะพวกเขาเป็นทีมที่ทำเวลาในการทดสอบก่อนเปิดฤดูกาลดีที่สุด 4 ปีติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2016 – 2019 และใช่… พวกเขาพ่ายแพ้ต่อ Mercedes อย่างราบคาบในช่วง 4 ปีนั้น

    แต่ก็เคยมีกรณีที่แปลกประหลาดเกี่ยวกับการทำเวลาต่อรอบในการทดสอบเช่นกัน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี 2009 Brawn GP ทีมแข่งที่ฟื้นคืนชีพขึ้นมาจากเถ้าถ่านของ Honda ทำเวลาต่อรอบได้เร็วที่สุดในการทดสอบ แถมทำเวลาเร็วกว่าทีมอื่น ๆ เป็นวินาที

    ณ ตอนนั้น ไม่มีใครคาดคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นประสิทธิภาพจริง ๆ ของตัวรถ เนื่องจากทางทีมพึ่งซื้อกิจการต่อจาก Honda มา ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาต้องการสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุนทีมอย่างเร่งด่วน และการที่จะดึงดูดสปอนเซอร์ให้เข้ามาสนับสนุนทีม นั่นก็คือ การโชว์ศักยภาพของตัวแข่ง

    ทุก ๆ คนในตอนนั้นต่างคิดว่า Brawn GP ใช้น้ำหนักรถที่เบาในการกดเวลาต่อรอบที่เร็วจี๋ ทุก ๆ คนยกเว้นทีมงานของ Brawn GP ที่พวกเขารู้ดีว่าพวกเขาใส่น้ำหนักเข้าไปบนรถพอสมควร แต่รถก็ยังคงทำเวลาเร็วที่สุดอยู่ดี

    ผลก็คือ เข้าสู่สนามแรก ทุกคนก็ได้ประจักษ์ชัดแก่สายตา Brawn GP คว้าโพลในอันดับ 1-2 และคว้าชัยชนะแบบ 1-2 ได้อย่างง่ายดาย หลังจากนั้นพวกเขาก็คว้าชัยชนะอีก 6 ครั้ง จาก 7 สนามแรกเลยทีเดียว

    แต่กรณีที่แปลกประหลาดเช่นนี้มักจะเกิดขึ้นกับปีแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงกฎทางเทคนิค และการเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดได้เกิดขึ้นไปตั้งแต่ปีที่แล้ว

    Brawn GP
    ที่มาภาพ : eurosport.com

    สำหรับทีมที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการแบกถุงทราย แน่นอนว่าตกเป็นของ Mercedes และ Red Bull ทั้ง 2 ทีมนี้มักจะวางแผนและทำตามแผนที่ตัวเองวางเอาไว้ โดยไม่สนใจว่าทีมคู่แข่งจะกดเวลาท้าทายแต่อย่างใด ในขณะที่ ทีมที่ชอบทดสอบการวิ่งด้วยน้ำหนักรถน้อย ๆ ได้แก่ Haas และ Williams เนื่องจากทั้ง 2 ทีมนี้มีงบประมาณจำกัด จึงต้องอาศัยผลงานในการดึงดูดให้สปอนเซอร์เข้ามาช่วยสนับสนุน

    นอกจากนี้ การหลอกเวลาต่อรอบยังทำได้โดยการ ‘ทิ้ง’ รอบที่กำลังทำเวลา เช่น Sebastian Vettel ที่ยกคันเร่งหน้าเส้นจับเวลาเมื่อปี 2017 หรือ Max Verstappen ที่กดเวลาขึ้นเซกเตอร์ม่วงใน 2 เซกเตอร์แรก แต่ไม่ยอมกดเวลาต่อในเซกเตอร์สุดท้าย ในปี 2020

    สำหรับโปรแกรมในการทดสอบนั้น แต่ละทีมจะวางแผนการทำงานมาอย่างหลากหลาย ซึ่งบางครั้งโปรแกรมก็อาจจะคล้ายกัน และบางครั้งก็อาจจะไม่เหมือนกันเลย

    โดยส่วนใหญ่แล้ว วันแรกของการทดสอบจะเป็นการทดลองระบบต่าง ๆ ของตัวรถ เพื่อตรวจสอบว่าทุกอย่างนั้นทำงานได้อย่างถูกต้อง จากนั้นจะมีการ ‘สอบเทียบ’ ข้อมูล หรือก็คือการเปรียบเทียบข้อมูลการวิ่งจริงกับการคำนวณที่ทีมงานได้วิเคราะห์ไว้ในคอมพิวเตอร์ เรามักจะเห็นอุปกรณ์แปลก ๆ อย่างเช่น Aero Rake ที่มีหน้าตาคล้ายตะแกรง หรือ Flow-vis ที่เหมือนมีใครบางคนทำสีหกบนรถ

    Aero Rake
    ที่มาภาพ : f1.com

    วันต่อ ๆ มา ทีมแข่งจะเริ่มทำการ ‘จำลองการแข่งขัน’ หรือ ‘ทดสอบวิ่งระยะยาว’ ซึ่งเราจะสังเกตได้ง่ายถ้าเห็นรถแข่งทำเวลาช้ากว่าปกติ วิ่งวนอยู่หลายรอบ และมีการเข้ามาในพิทเติมเชื้อเพลิงก่อนที่จะออกไปวิ่งต่อ

    วันสุดท้ายของการทดสอบมักจะเป็นธรรมเนียมในการ ‘แอบ’ โชว์ศักยภาพของตัวแข่งเล็กน้อย ทีมแข่งจะทำการ ‘จำลองการวิ่งควอลิฟาย’ หรือ ‘ทดสอบการทำเวลารอบเดียว’ เคสนี้สังเกตได้ง่ายเช่นกัน โดยนักแข่งจะขับรถออกไปในสนาม 3 รอบ แล้วกลับเข้าพิท หรือทำเวลาเร็ว 1 รอบ และช้า 1 รอบ สลับกันไป

    อย่างไรก็ตาม เคสนี้มักจะมีการสับขาหลอกสอดแทรกอยู่มากที่สุด เช่น ทีมแข่งมักจะใช้ยางเนื้ออ่อนกับปริมาณเชื้อเพลิงมาก ๆ หรือใช้ปริมาณเชื้อเพลิงน้อยกับยางเนื้อแข็ง ทำให้เราต้องมาสังเกตจำนวนการวิ่งในแทร็คก่อนเข้าพิทเพื่อกะประมาณปริมาณเชื้อเพลิงบนรถ

    ดังนั้น ข้อสรุปก็คือ ทีมที่วิ่งได้จำนวนมากรอบที่สุด มีเวลาในการตรวจสอบรถซ้ำแล้วซ้ำเล่า และแก้ปัญหาได้โดยไม่เกิดความล่าช้า คือทีมที่มีแนวโน้มว่าจะมีรถแข่งที่ดี และเราจะได้รู้กันกับการทดสอบก่อนเปิดฤดูกาล ในวันที่ 23 – 25 กุมภาพันธ์ นี้แล้ว

    อ้างอิง : planetf1.com

    ABOUT THE AUTHOR

    Latest Posts