More

    รถไฟฟ้าสายสีเหลือง เปิดให้บริการครบ 23 สถานี 19 มิ.ย.66 นี้ (รายละเอียดค่าโดยสาร)

    รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ขยายเวลาและเส้นทาง เริ่มจันทร์ที่ 19 มิ.ย.66 เปิดครบ ตั้งแต่สถานีลาดพร้าว-สถานีสำโรง รวมถึงผลักดันการยกเว้นค่าแรกเข้าระบบซ้ำซ้อน คาดลดค่าใช้จ่ายได้ 600 บาทต่อเดือน

    รถไฟฟ้าสายสีเหลือง

    โดยขณะนี้รถไฟฟ้าสายสีเหลืองได้มีการติดตั้งระบบ EMV Contactless รองรับการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตที่มีสัญลักษณ์ EMV (Europay, MasterCard and VISA) นอกจากนี้ยังสามารถจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลืองด้วยบัตรแรบบิทในเครือ BTS ซึ่งจะมีการจัดทำโปรโมชันราคาพิเศษอย่างต่อเนื่อง เพื่อจูงใจให้ประชาชนปรับเปลี่ยนการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า

    การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีเหลืองมี 3 รูปแบบชำระค่าโดยสาร แบ่งเป็น

    • บัตร EMV

    ผู้โดยสารสามารถนำบัตรที่มีสัญลักษณ์ EMV แตะจ่ายค่าโดยสาร และใช้เชื่อมต่อการเดินทางไปยังระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่สถานีลาดพร้าว โดยไม่เสียค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนในจำนวน 15 บาท มีข้อจำกัดต้องเปลี่ยนผ่านระบบรถไฟฟ้าภายในระยะเวลา 30 นาที ซึ่งช่วงแรกผู้โดยสารสามารถชำระผ่านบัตร EMV ได้ที่ช่องทางพิเศษ ติดกับห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร ส่วนในอนาคตจะมีการพัฒนาระบบหัวอ่านให้สามารถแตะจ่าย EMV ในทุกช่องทางเข้าออกระบบรถไฟฟ้า

    • บัตรแรบบิท

    ผู้โดยสารสามารถแตะจ่ายค่าโดยสารด้วยบัตรแรบบิทที่ออกโดย BTS ซึ่งหลังจากนี้จะมีการจัดทำโปรโมชันเพื่อใช้ในการเดินทางเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีเขียวด้วย

    • บัตรโดยสารเที่ยวเดียว

    ผู้โดยสารสามารถออกบัตรโดยสารดังกล่าว ณ ตู้จำหน่ายบัตรโดยสาร และห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร ซึ่งจะมีอัตราค่าโดยสาร 15 – 45 บาท

    ทั้งนี้ รูปแบบการชำระค่าโดยสารในเบื้องต้นนั้น หากเปรียบเทียบแล้วจะพบว่าการชำระค่าโดยสารด้วยบัตร EMV เป็นทางเลือกของประชาชนที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายจากการจัดเก็บค่าแรกเข้า กรณีต้องเปลี่ยนระบบรถไฟฟ้าระหว่างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในจำนวนประมาณ 15 บาท โดยหากประชาชนเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเป็นประจำ จะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือนราว 600 บาท คำนวณจากค่าแรกเข้าที่ถูกลดหย่อนจากการเดินทางวันทำงานไปกลับจำนวน 30 บาทต่อวัน

    รถไฟฟ้าสายสีเหลือง

    แนวเส้นทางของโครงการ

    ตามผลการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการออกแบบเบื้องต้น โครงการขนส่งระบบรถไฟฟ้าสายสีเหลือง
    ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้แบ่งเส้นทางโครงการออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงรัชดา/
    ลาดพร้าว–พัฒนาการ และช่วงพัฒนาการ–สำโรง อย่างไรก็ตามในการศึกษาออกแบบระบบในโครงการนี้เส้นทางทั้ง 2 ช่วงได้รวม
    เป็นเส้นทางเดียวกันตลอดทั้งสายทางและระบบที่ใช้เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

    ช่วงรัชดา/ลาดพร้าว – พัฒนาการ

    จุดเริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงินระยะแรก) ที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว ไปตาม
    แนวถนนลาดพร้าว จนถึงทางแยกบางกะปิ จากนั้นแนวเส้นทางจะเบนไปทางทิศใต้ตามถนนศรีนครินทร์ เชื่อมต่อกับโครงการ
    รถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ที่ทางแยกลำสาลี สิ้นสุดเส้นทางที่บริเวณทางแยกต่างระดับพระราม 9 โดยเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้า
    เชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) ระยะทางรวม 12.6 กม. มีจำนวนสถานีประมาณ 10 สถานี โดยประมาณ

    ช่วงพัฒนาการ – สำโรง

    จุดเริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อกับ Airport Rail Link บริเวณทางแยกพระราม 9 ไปตามแนวถนนศรีนครินทร์ ผ่านแยกพัฒนาการ
    แยกศรีนุช แยกศรีอุดมสุข แยกศรีเอี่ยม จนถึงแยกศรีเทพา จากนั้นแนวเส้นทางจะเบนไปทางทิศตะวันตก ตามแนวถนนเทพารักษ์ ผ่านจุดเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่สถานีสำโรง และสิ้นสุดเส้นทางบริเวณแนวถนน
    ปู่เจ้าสมิงพราย ระยะทางรวม 17.8 กม. มีจำนวนสถานีประมาณ 13 สถานี โดยประมาณ

    หมายเหตุ : อาจมีการเปลี่ยนแปลงจุดบริเวณตัวสถานีตามความเหมาะสม

     

    ความเป็นมาของโครงการ

    ตามผลการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการออกแบบเบื้องต้น โครงการระบบขนส่งมวลชนสายสีเหลือง ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2550 – 2554 ได้แบ่งเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ ออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงรัชดา/ลาดพร้าว – พัฒนาการ และช่วงพัฒนาการ – สำโรง หรือโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรงในปัจจุบัน

    ลักษณะโครงการ

    โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เป็นระบบขนส่งมวลชนประเภทรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Straddle Monorail) มีลักษณะเป็นโครงสร้างยกระดับตลอดแนวเส้นทาง มีระยะทางทั้งสิ้น 30.4 กิโลเมตรรวม 23 สถานี มีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสายสีน้ำเงินที่สถานีรัชดา (สถานีลาดพร้าวของสายสีน้ำเงิน) กับระบบขนส่งมวลชน 4 สาย คือ สายสีเทาของกรุงเทพ สายสีส้มบริเวณทางแยกลำสาลี รถไฟเชื่อมต่อท่าอากาศยาน (Airport Rail Link) บริเวณทางแยกต่างระดับพระราม 9 และสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่สถานีสำโรง

    รายละเอียดแนวเส้นทาง
    โดยแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงินระยะแรก) ที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว ไปตามแนวถนนลาดพร้าว โดยเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทาของกรุงเทพมหานครที่แยกฉลองรัช และยกระดับข้ามทางด่วนฉลองรัชจนถึงทางแยกบางกะปิ จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวขวาไปทางทิศใต้ตามถนนศรีนครินทร์ เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ทางแยกลำสาลี ต่อจากนั้นแนวเส้นทางจะยกระดับข้ามทางแยกต่างระดับพระราม 9 โดยเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) และผ่านแยกพัฒนาการ แยกศรีนุช แยกศรีอุดมสุข แยกศรีเอี่ยม จนถึงแยกศรีเทพา จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวขวาอีกครั้งไปทางทิศตะวันตก ตามแนวถนนเทพารักษ์ ผ่านจุดเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่สถานีสำโรง และสิ้นสุดแนวเส้นทางบริเวณถนนปู่เจ้าสมิงพราย รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 30.4 กิโลเมตร ประกอบด้วยสถานีทั้งหมด 23 แห่ง โรงจอดรถศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง อาคารและลานจอดแล้วจร 1 แห่ง บริเวณพื้นที่ทางแยกต่างระดับศรีเอี่ยม

    ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ถือเป็นหนึ่งในโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในความรับผิดชอบของ รฟม. ที่ได้รับการออกแบบให้เป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder Line) ที่จะใช้ขนส่งผู้โดยสารจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ และพื้นที่บางส่วนในจังหวัดสมุทรปราการ เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายหลักอื่นๆ โดยมีอาคารจอดแล้วจรให้บริการได้บริเวณสถานีศรีเอี่ยม และสถานีลาดพร้าว

    สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง MRT Yellow Line Call Center โทร. 0 2617 6111 Line Official: @pinkyellowline เว็บไซต์ www.ebm.co.th หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ YellowLineofficial


     

    ABOUT THE AUTHOR

    Latest Posts