AUDI ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนารถสามล้อไฟฟ้า โดยนำแบตเตอรี่เก่าจากรถไฟฟ้า e-tron กลับมาใช้ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Reusing e-waste”
บริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติเยอรมัน-อินเดีย กำลังนำรถสามล้อไฟฟ้าที่พัฒนาร่วมกับ Audi ทดสอบการใช้งานในอินเดีย ซึ่งภาพลักษณ์ก็คุ้นหน้าคุ้นตาเหมือนกับตุ๊กตุ๊กในประเทศไทยเรา สามล้อคันนี้ได้ดัดแปลงการใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ที่ผ่านการใช้งานมานานแล้ว แบตเตอรี่เก่าดังกล่าวนำมาจากรถทดสอบในกลุ่ม Audi e-tron จุดมุ่งหมายของโครงการนี้คือ การสำรวจว่าโมดูลแบตเตอรี่ไฟฟ้าแรงสูงซึ่งถูกใช้งานอย่างหนัก สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างไร หลังจากวงจรชีวิตรถยนต์ไฟฟ้าสิ้นสุดลง และมีการถอดแบตเตอรี่เก่าเพื่อนำกลับมาใช้งานใหม่
เป้าหมายหลักของการเริ่มต้นคือ การพัฒนาวิธีการใช้แบตเตอรี่เก่าให้เป็นระบบจัดเก็บพลังงาน สำหรับอายุการใช้งานในรอบที่สอง ซึ่งจะช่วยยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า Audi eTron ถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ยาวนาน และถึงแม้จะถูกใช้ครั้งแรกในยานพาหนะไฟฟ้ามาแล้ว แบตฯ เก่าเหล่านี้ก็ยังมีประสิทธิภาพในการเก็บประจุไฟฟ้าอย่างเหลือเฟือ” Chatterjee อธิบาย “สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่มีช่วงระยะทางสั้น และความต้องการพลังงานที่ต่ำกว่า รวมถึงน้ำหนักโดยรวมที่เบากว่า จากขนาดที่เล็กกะทัดรัดของรถสามล้อตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ทำให้เกิดประสิทธิภาพโดยรวมในการใช้งาน คุณอาจเรียกมันว่าความคล่องตัวทางไฟฟ้า ด้วยวิธีนี้ บริษัท Nunam กำลังพยายามค้นคว้าว่าแบตเตอรี่เก่าจากรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ถูกใช้งานมานานแล้ว ยังสามารถให้พลังงานได้มากเพียงใด ในกรณีที่อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานสะอาดมีความต้องการแบตฯ สูงขึ้นเรื่อยๆ”
บริษัท Nunam คอยตรวจสอบประสิทธิภาพและระยะทางการใช้งานต่อการชาร์จไฟจนเต็มของรถสามล้อไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง “ความคิดริเริ่มเช่นเดียวกับที่ Nunam เป็นผู้บุกเบิกนั้น จำเป็นต่อการทำวิจัย ในกรณีของการนำกลับมาใช้งานใหม่สำหรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไม่เพียงแต่ในอินเดีย แต่กำลังเกิดการวิจัยดังกล่าวขึ้นทั่วโลก Rüdiger Recnagel ผู้อำนวยการมูลนิธิสิ่งแวดล้อมของค่าย Audi AG. กล่าว โดยมูลนิธิของ Audi ได้ให้ทุนวิจัยแก่บริษัท Nunam มาตั้งแต่ปี 2562
หลังจากแบตเตอรี่ถูกใช้งานครั้งแรกในรถยนต์พลังงานไฟฟ้า Audi e-tron และครั้งที่สองในรถสามล้อตุ๊กตุ๊ก สำหรับขั้นตอนที่สามของแบตเตอรี่เก่านั้น พลังงานที่เหลืออยู่ของแบตเตอรี่เก่าที่ถูกใช้งานอย่างหนักมาแล้วถึงสองรอบ อาจถูกใช้ป้อนกระแสไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ในการใช้งานแบบอยู่กับที่ เช่น ไฟ LED ตามรั้วบ้านหรือบนถนน Prodip Chatterjee ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท Nunam กล่าวว่า “เราต้องการดึงศักยภาพทุกอย่างเท่าที่จะเป็นไปได้ออกจากแบตเตอรี่เก่าแต่ละก้อน ก่อนที่จะนำไปรีไซเคิล
นอกจากรถสามล้อที่มีไว้สำหรับใช้บนถนนในอินเดียแล้ว นักศึกษาเยอรมันที่ฝึกงานในไซต์ Neckarsulm ได้กำลังพัฒนารถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า โดยร่วมมือกับ Nunam สำหรับผู้เยี่ยมชมในงาน GREENTECH FESTIVAL ในกรุงเบอร์ลิน เพื่อให้ความรู้พื้นฐานในการพัฒนาระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และเทคโนโลยีการชาร์จ เป็นโครงการที่ก้าวล้ำเพราะเป็นการผสมผสานระหว่างความยั่งยืน การขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ความเป็นสากล และความรับผิดชอบต่อสังคม”
ถือว่าก้าวไปอีกขั้นกับการแปลงพลังงานที่ใช้แล้วให้กลับมาใช้ใหม่ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่สะอาดขึ้น บวกกับรูปทรงรถคลาสสิคที่นำกลับมาทำให้ดูทันสมัยมากยิ่งขึ้น ถ้าหากในบ้านเรามีการโมดิฟายตุ๊กตุ๊กให้ทันสมัยขึ้นแบบนี้ จะยิ่งส่งเสริมเอกลักษณ์และทำให้มีผู้คนสนในหันมาใช้ตุ๊กตุ๊ก และเพิ่มรายได้ให้กับผู้ทีทำอาชีพขับตุ๊กตุ๊กเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
บทความอื่น ๆ