หากรถคุณผ่านร้อนผ่านหนาวมาสักพักแล้ว ขับอยู่ทุกวันและรู้สึกได้ว่ารถไม่เหมือนเดิม กรณีนี้เราจะพูดถึง เวลาที่คุณเบรกแล้วพวงมาลัยสั่นไปถึงคันเร่ง คันเบรก โดยเฉพาะช่วงความเร็วระดับกลางไปจนถึงระดับมากนั้น มาดูสาเหตุและต้องรีบเช็กด่วนกันดีกว่าว่า เกิดจากอะไรบ้าง
1. ผ้าเบรก
ขณะที่เหยียบเบรก คาลิเปอร์เบรกจะกดผ้าเบรกให้จับกับจานเบรกเพื่อให้รถชะลอหรือหยุดนิ่ง แต่ถ้าหากผ้าเบรกรถมีการสึกหรอ อาจส่งผลให้พวงมาลัยรถเกิดอาการสั่นได้ เพราะผ้าเบรกสึกหรอมากและมีสิ่งสกปรกติดอยู่ (จากระยะห่างระหว่างผ้าเบรกและจานมีมากขึ้น) จึงไม่สามารถจับกับจานเบรกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- วิธีแก้ไข ผ้าเบรกถือเป็นหนึ่งในอุปกรณ์สิ้นเปลืองตามการใช้งาน ควรนำรถไปตรวจเช็กผ้าเบรกรวมถึงจานเบรกโดยช่างผู้เชี่ยวชาญ หากผ้าเบรกเหลือน้อยก็ควรทำการเปลี่ยนใหม่ทันที
2. จานเบรกคดหรือไม่เรียบ
หากพวงมาลัยและแป้นเบรกมีอาการสั่นเป็นจังหวะขณะเหยียบเบรกเมื่อชะลอหรือหยุดรถ อาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าจานเบรกคดหรือไม่เรียบ เนื่องจากขณะเบรกจะเกิดความร้อนสูง อาจทำให้จานเบรกบิดเบี้ยวผิดรูป รวมถึงหน้าของจานเบรกเป็นรอย จนทำให้เบรกแล้วพวงมาลัยสั่นได้
- วิธีแก้ไข เพื่อแก้ไขปัญหานี้ควรนำรถไปให้ช่างผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ และอาจต้องเจียรจานเบรกหรือเปลี่ยนจานเบรกใหม่
3. จารบีสลักคาลิเปอร์เบรกแห้ง
กรณีสลักคาลิเปอร์เบรกแห้ง ก็มีโอกาสทำให้เบรกแล้วพวงมาลัยสั่นได้เช่นกัน โดยสลักคาลิเปอร์เบรกนั้นเป็นส่วนหนึ่งของคาลิเปอร์เบรก ซึ่งมีหน้าที่ในการนำผ้าเบรกเคลื่อนไปจับกับจานเบรก และปกติแล้วตัวสลักคาลิเปอร์เบรกจะมีจาระบีหล่อลื่นอยู่ หากจาระบีแห้งหรือสลักคาลิเปอร์สึกหรอ อาจทำให้คาลิเปอร์เบรกขณะกดผ้าเบรกทำงานติดขัด ไม่ราบลื่น หรือทำมุมไม่ถูกต้อง จนส่งผลให้เกิดการสั่นที่พวงมาลัย อีกทั้งยังเป็นสาเหตุให้มีเสียงกุกกักขณะวิ่งผ่านถนนที่ไม่เรียบคล้ายช่วงล่างหลวมด้วย
- วิธีแก้ไข ควรตรวจสอบและหล่อลื่นสลักคาลิเปอร์เบรกตามระยะที่ผู้ผลิตกำหนด
ดังนั้น หากคุณรู้สึกว่ารถมีอาการเบรกแล้วพวงมาลัยสั่น เบรกแล้วมีเสียงดัง ทางที่ดีที่สุดควรนำรถไปให้ช่างผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดเพื่อป้องกันความเสียหายอื่น ๆ ตามมาภายหลัง อย่าชะล่าใจเด็ดขาด เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดอุบัติเหตุเบรกไม่อยู่ได้
บทความอื่น ๆ