ในทีมแข่ง Formula 1 ทีมหนึ่งนั้นประกอบไปด้วยทีมงานในหลาย ๆ ภาคส่วน แต่จะมีทีมงานอยู่กลุ่มหนึ่งซึ่งพวกเขาจะใช้เวลาทำงานเพียงไม่กี่วินาที แต่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อผลการแข่งขันในแต่ละสุดสัปดาห์ ทีมงานกลุ่มนั้นคือ ทีมทำพิทรถแข่ง
ถึงจะบอกว่าทีมทำพิทนั้นใช้เวลาทำงานอยู่กับรถเพียงไม่กี่วินาที แต่นั่นก็เป็นช่วงเสี้ยววินาทีที่มีความกดดันอย่างมหาศาล พวกเขาจะต้องเปลี่ยนยาง ซ่อมแซมชิ้นส่วนรถที่เสียหาย ปรับแต่งเซตอัพรถ ทำความสะอาดกวาดขยะออกจากส่วนต่าง ๆ บนรถ และทุก ๆ อย่างที่พวกเขาทำนั้นไม่ได้รับอนุญาตให้เกิดความผิดพลาดแม้แต่นิดเดียว เพราะหากความผิดพลาดเกิดขึ้น นั่นหมายถึงผลการแข่งขันที่อาจจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ
อันที่จริงแล้ว งานของทีมทำพิทนั้นมีมากกว่าเพียงแค่การใช้เวลาขลุกอยู่ในพิทบ็อกซ์ พวกเขาต้องเป็นผู้ที่มีไหวพริบฉับไวในการปรับแต่งเซตอัพและแก้ไขรถตั้งแต่อยู่ในการาจ แต่คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ตั้งแต่ช่วงฝึกซ้อมครั้งแรกไปจนถึงระหว่างการแข่งขัน ช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดนั้นจะอยู่ในพิทบ็อกซ์ที่พวกเขาใช้เวลาในระหว่างการแข่งขันอยู่เพียงไม่กี่วินาที และนั่นทำให้เงินเดือนของทีมงานกลุ่มนี้สูงพอ ๆ กับความกดดัน
ในบรรดาทีมงานที่ทำพิทเหล่านี้ พวกเขาก็มีหน้าที่แตกต่างกันออกไป และแน่นอนว่าเงินเดือนในแต่ละตำแหน่งนั้นก็ไม่เท่ากันเช่นกัน เนื่องจากแต่ละตำแหน่งนั้นก็มีความกดดันยากง่ายที่แตกต่างกันออกไป
ตำแหน่งที่สำคัญที่สุดในทีมงานกลุ่มนี้ แน่นอนว่าต้องเป็น ‘หัวหน้าทีม’ เขาจะเป็นผู้ออกคำสั่งและประสานงานระหว่างทีมงานทำพิท
ผู้ที่ได้เงินเดือนรองลงมาคือ ‘ทีมขันน็อตล้อ’ จะประกอบด้วยทีมงาน 4 คน ซึ่งจะถือปืนขันน็อตที่มีแรงบิดสูงถึง 3,000 นิวตันเมตร พวกเขาจะคอยขันน็อตออกและเข้าในขณะที่มีทีมงานอีกชุดเปลี่ยนยาง
‘ทีมเปลี่ยนยาง’ ทีมนี้จะต้องประสานใจเป็นหนึ่งกับทีมขันน็อตล้อ เพราะพวกเขาจะต้องถือยางไว้ในตำแหน่งที่ใกล้รถและทีมขันน็อตมาก ๆ เพื่อที่จะให้เสียเวลาในการเปลี่ยนยางน้อยที่สุด ทีมนี้จะประกอบด้วยทีมงาน 8 คน โดย 4 คน จะเป็นผู้ถอดยางเก่าออก และอีก 4 คน ใส่ยางใหม่เข้าไป
แน่นอนว่าการจะถอดล้อรถออกมานั้น ตัวรถจะต้องลอยขึ้นจากพื้น ดังนั้นเราจะมีทีมงานอีก 2 คน ที่เป็น ‘ทีมยกรถ’ ซึ่งทั้ง 2 คนนี้จะประจำการอยู่ในตำแหน่งหน้าและหลังรถ เพื่อใช้แม่แรงสอดเข้าไปข้างใต้และยกรถขึ้นมา โดยทีมงานที่อยู่ด้านหน้ารถน่าจะเป็นคนที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด เพราะเขาจะต้องไว้ใจในตัวนักขับเป็นอย่างมาก หากนักขับเบรกพลาดผิดไปจากตำแหน่งพิทบ็อกซ์แม้แต่นิดเดียว ทีมงานยกรถด้านหน้าก็อาจจะบาดเจ็บสาหัสได้เลย
‘ทีมจับรถ’ หน้าที่ของพวกเขามีเพียงการจับรถ ใช่ครับ… จับรถอย่างเดียวเลย แต่จะเป็นการจับรถจากฝั่งซ้ายและขวา เพื่อให้ตัวรถนั้นมั่นคงในระหว่างที่ทีมงานคนอื่น ๆ กำลังทำงาน เป็นทีมงานที่สำคัญอีกกลุ่ม เพราะหากตัวรถไม่มั่นคงในระหว่างการทำพิท นั่นย่อมหมายถึงเวลาที่เสียไปอีกอาจจะเป็นวินาทีเลยทีเดียว
‘ทีมยกป้าย’ หรือสมัยนี้ได้กลายเป็น ‘ทีมกดสัญญาณ’ ไปแล้ว โดยในสมัยก่อนนั้นจะมีทีมงาน 1 คน ทำหน้าที่ยกป้ายบอกนักขับให้เตรียมพร้อมใส่เกียร์ และจะยกป้ายออกเมื่อทีมทำพิททำงานทั้งหมดเสร็จแล้ว ส่วนปัจจุบันนั้นทีมงานคนนี้จะอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นการทำพิทของทีมงานทุกคน เพื่อส่งสัญญาณไฟเขียวให้กับนักขับเมื่อทีมงานทั้งหมดเซอร์วิสเสร็จสิ้น มันเป็นหน้าที่ที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากพวกเขากดสัญญาณไฟเขียวเร็วเกินไป ทีมงานคนอื่นที่ยังเซอร์วิสรถไม่เสร็จอาจจะได้รับบาดเจ็บหนักได้เลย
ทีมงานที่จำเป็นจะต้องมีคนสุดท้าย ‘ทีมถือถังดับเพลิง’ ทีมนี้จะมีอย่างน้อย 2 คน เผื่อในกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจก่อให้เกิดเปลวไฟบนตัวรถ พวกเขาจะรีบเข้าทำการดับเพลิงทันที และถ้าหากทีมงานคนแรกมีปัญหากับถังดับเพลิง ก็จะมีทีมงานคนที่สองที่ถือถังพร้อมจะเสียบทำหน้าที่แทนในทันที
จริง ๆ แล้วในพิทบ็อกซ์ยังมีทีมงานที่ทำหน้าที่อื่น ๆ เช่น ปรับองศาปีกหน้า เคลียร์ขยะออกจากตัวรถ หรือทำความสะอาดไวเซอร์นักขับ แต่หลัก ๆ แล้ว 7 ตำแหน่งข้างต้นนั้นคือสิ่งที่ทุกทีมจำเป็นจะต้องมีเป็นอย่างน้อย
ค่าเหนื่อยทีมงานทำพิท
หน้าที่ | ฐานเงินเดือน/ปี | เงินที่ได้รับในแต่ละเรซ | โบนัสจากชัยชนะ/เรซ |
หัวหน้าทีม | $1,000,000 | $10,000 | $5,000 |
ทีมขันน็อตล้อ | $350,000 | $5,000 | $2,500 |
ทีมเปลี่ยนยาง | $270,000 | $3,500 | $2,500 |
ทีมยกรถ | $150,000 | $3,000 | $500 |
ทีมจับรถ | $90,000 | $2,500 | $250 |
ทีมกดสัญญาณ | $70,000 | $1,500 | $250 |
ทีมถือถังดับเพลิง | $30,000 | $500 | $250 |
อ้างอิง : totalsportal.com