ในการแข่งขัน MotoGP Americas Grand Prix สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรถแข่งผ่านเส้นชัยเพียง 13 คัน จากทั้งหมด 22 คัน และใน 9 คัน ที่ไม่จบการแข่งขัน 8 คัน ในนั้นเกิดอุบัติเหตุล้มลงทั้งหมด ทำให้มันเป็นสนามที่มีรถจบการแข่งขันน้อยที่สุดสนามหนึ่ง แล้วมันเกิดอะไรขึ้นที่ COTA กันแน่ ถึงทำให้เหล่านักแข่งฝีมือดีพากันล้มระนาวขนาดนั้น?
Francesco Bagnaia แชมป์โลก MotoGP คนปัจจุบัน เป็นคนหนึ่งที่ลงไปกลิ้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าตัวออกมาให้สัมภาษณ์หลังจบการแข่งขันว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นจากความผิดพลาดของตัวเขาอย่างแน่นอน เพราะตอนนั้นเขาไม่ได้เค้นรถใด ๆ และใช้ความระมัดระวังในการเข้าโค้งอย่างถึงที่สุด แต่เขาก็ยังล้มลงไปโดยที่ยังหาสาเหตุไม่ได้
“ผมไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ผมกำลังคุมเพซอยู่ ทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุมของผมจนกระทั่งผมล้ม” Bagnaia กล่าว
“ผมโมโหมาก แต่ไม่ใช่กับตัวเอง เพราะผมมั่นใจ 100% ว่ามันไม่ใช่ความผิดพลาดของผม”
“วันนี้มีบางสิ่งเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่เพราะยางเย็นหรือกระแสลม เราต้องทำความเข้าใจตัวรถ เพราะเรามีรถที่ดีที่สุดบนกริด แต่มันจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้าหากคุณล้มโดยที่ไม่รู้สาเหตุ”
⚠️ @PeccoBagnaia blunders again!
The Italian crashed out of the race lead at the #AmericasGP 🇺🇸 💥#MotoGP pic.twitter.com/kzGOlVSPuK
— MotoGP™🏁 (@MotoGP) April 17, 2023
และไม่เพียงแต่ Bagnaia นักบิดหลายคนพากันล้มในจุดต่าง ๆ ของสนาม แม้กระทั่ง Brad Binder ที่ถูกกล่าวขานว่าเป็น ‘Mr. Sunday’ ก็ยังพลาดล้มในสนามนี้ หรือว่ามันจะเป็นที่ผิวแทร็คที่ย่ำแย่ของสนาม?
สนาม COTA นั้นเป็นสนามที่เรียกได้ว่าแทบจะมีการปูผิวแทร็คใหม่แทบทุกปี เนื่องจากพวกเขาได้รับการร้องเรียนเรื่องผิวแทร็คที่ขรุขระ เสียหาย หรือเป็นลูกคลื่นกระดอนในบางจุด และพวกเขาก็ถูกร้องเรียนทั้งจาก MotoGP, Formula 1, และ WEC
ถึงแม้ว่าผิวแทร็คนั้นจะดูดีขึ้นในปี 2022 แต่คำว่า ‘หายนะ’ ก็ถูกนำกลับมาใช้กับแทร็คในปี 2023 อีกครั้ง โดย Luca Marini ตีตราผิวแทร็คแห่งนี้ว่าเป็นหายนะในการขับขี่ ในขณะที่ Fabio Quartararo ก็ใช้คำว่าหายนะกับการยึดเกาะของแทร็คและการกระดอนอย่างรุนแรงในจุดเบรกก่อนเข้าโค้ง 12
แน่นอนว่าการยึดเกาะที่ต่ำของแทร็คย่อมส่งผลต่อการขับขี่ของเหล่านักบิดจนอาจทำให้พวกเขาเกิดความผิดพลาด แต่เมื่อเราลองย้อนกลับมาดูเวลาต่อรอบ มันกลับกลายเป็นว่านักบิดทุกคนต่างทำเวลาเร็วขึ้นกว่าปีที่แล้ว
ในปี 2022 ผู้ชนะอย่าง Enea Bastianini ขี่จบการแข่งขันโดยใช้เวลาไป 41.23.111 แต่ในปีนี้ Alex Rins ผู้ชนะการแข่งขันกลับใช้เวลาเพียง 41.14.649 ไม่เพียงเท่านั้น Bagnaia ยังทำเวลาโพลเป็นสถิติใหม่ของสนาม และกลายเป็นนักบิดคนแรกที่กดเวลาต่อรอบต่ำกว่า 2.02.xxx ได้
ถ้าเป็นอย่างนั้น ผิวแทร็คก็คงไม่ได้แย่อย่างที่นักบิดหลาย ๆ คนบอกอย่างนั้นหรือ? จริง ๆ แล้วก็คงไม่ใช่อย่างนั้น
ย้อนกลับไป 2-3 ปี ตั้งแต่ช่วงหลังโควิดเป็นต้นมา เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงภายในวงการพอสมควร และสิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเจนบนตัวแข่งจนไปเตะตาทุกคนคือ ‘อากาศพลศาสตร์’
Ducati นั้นเป็นค่ายผู้ผลิตแรกที่บุกเบิกด้านอากาศพลศาสตร์ในยุคโมเดิร์นของ MotoGP พวกเขาวิจัยและพัฒนามาเป็นเวลาเกือบ 10 ปี จนในที่สุดพวกเขาก็กลายเป็นผู้ที่ยืนอยู่จุดสูงสุด ณ เวลานี้
ตัวแข่ง Desmosedici ของพวกเขานั้นไม่เพียงแต่ใช้อากาศพลศาสตร์ในการสร้างแรงกดเพื่อช่วยในการเข้าโค้ง มันยังทำให้ตัวรถมีความมั่นคงในขณะเทโค้งไปมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยให้นักแข่งทำความเร็วในโค้งได้เพิ่มขึ้น
นั่นทำให้ค่ายผู้ผลิตคู่แข่งต้องเริ่มขยับตาม Ducati อย่าง Aprilia นั้นดึงวิศวกร F1 จาก Ferrari มาช่วยในจุดนี้ ในขณะที่ KTM ก็ขอผนึกกำลังกับ Red Bull Advanced Technologies ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาตัวแข่ง F1 ของ Red Bull
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอากาศพลศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ยังคงพัฒนาต่อไปได้ นั่นหมายความว่ามันก็มีหลายสิ่งที่ทีมแข่งนั้นรู้ และยังมีอีกหลายสิ่งที่ทีมแข่งไม่เข้าใจ
อย่างหนึ่งที่น่ากลัวของอากาศพลศาสตร์คือ ความไม่แน่นอนของกระแสอากาศ ยกตัวอย่างเช่น หากอากาศราบเรียบไหลลื่นผ่านอุปกรณ์ทางอากาศพลศาสตร์ เช่น ปีก หรือ Ground Effect Fairing มันก็จะไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าหากกระแสอากาศปั่นป่วนรุนแรงหรือมีลมกระโชก นั่นจะทำให้สิ่งที่ทีมแข่งคำนวณไว้เกิดปัญหาและไม่ทำงานตามที่คาดหวังไว้ทันที
ย้อนกลับไปที่สนาม COTA ในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นมีกระแสลมค่อนข้างแรงในบริเวณสนาม ซึ่งถ้าเป็น F1 เรามักจะเคยเห็นรถแข่งสะบัดหลุดโค้งออกไปดื้อ ๆ โดยในบางครั้ง นักแข่งก็มักจะให้ความเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นว่า เกิดจาก ‘ลมกระโชก’ ทำให้ตัวรถสูญเสียแรงกดไปชั่วขณะหนึ่ง และนั่นก็น่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับ MotoGP ในขณะนี้
💥 @88jorgemartin's early mistake sent @alexmarquez73 to the gravel! 💥
Just three corners after lights out the @pramacracing rider crashed and unfortunately collected his Ducati fellow! 😶#AmericasGP 🇺🇸 pic.twitter.com/zsIbZwcsdx
— MotoGP™🏁 (@MotoGP) April 17, 2023
ลองนึกภาพว่า หากรถแข่ง MotoGP ที่ไม่มีตัวช่วยทางอากาศพลศาสตร์สามารถเข้าโค้ง ๆ หนึ่งได้ที่ความเร็ว 150 km/h แต่ทีมงานได้พัฒนาติดตั้งอุปกรณ์ทางอากาศพลศาสตร์ สร้างแรงกดจนมันสามารถเพิ่มความเร็วในการเข้าโค้งได้เป็น 160 km/h แต่แล้วจู่ ๆ ถ้าแรงกดนั้นเกิดหายไปล่ะ?
ถ้าเป็นใน F1 คุณจะสังเกตเห็นว่ารถแข่งที่เข้าใกล้รถคันหน้ามากเกินไปจะเกิดอาการ ‘Understeer’ หรือ ‘หน้าไถล’ นั่นเป็นผลมาจากการที่อากาศนั้นถูกรถคันหน้าแหวกออก จนความดันอากาศในบริเวณท้ายรถคันหน้าลดลง ส่งผลให้แรงกดหายไป แต่ถ้าเป็นรถแข่ง MotoGP ที่มีการเอียงรถ รถแข่งก็จะเกิดอาการหน้าพับลงไปนั่นเอง
ดังนั้น ไม่ว่าจะจากกระแสลมที่เปลี่ยนทิศทาง หรือความเร็วลมที่เปลี่ยนจนส่งผลให้แรงกดนั้นหายไป ผลที่ตามมาก็คือ คุณจะต้องล้มอย่างแน่นอน เพราะความเร็วในโค้งของคุณมันเกินขีดจำกัดการยึดเกาะของแทร็คไป 10 km/h
และเมื่อนำปัจจัยข้างต้นมารวมกับสภาพแทร็คที่ย่ำแย่มีการยึดเกาะต่ำ นั่นก็จะยิ่งสร้างโอกาสให้นักแข่งเกิดความผิดพลาดได้มากขึ้นไปอีก
ด้วยเหตุผลและปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้น นั่นจึงอาจนำไปสู่ข้อสรุปได้ว่า การที่นักแข่งล้มกันมากมายในสนามแห่งนี้ รวมถึงสนามอื่น ๆ ในปีหลัง ๆ ที่มีการล้มกันระเนระนาด เกิดจากการยึดเกาะของแทร็คที่ไม่ปกติ มาประจวบเหมาะกับกระแสลมแรงปั่นป่วน และแพ็กเกจอากาศพลศาสตร์ใหม่ของตัวแข่งแต่ละทีม ซึ่งนั่นตอบประเด็นที่นักแข่งและทีมงานแต่ละทีมมักจะออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ‘พวกเขายังคงต้องเรียนรู้ หาสาเหตุ และทำความเข้าใจกับตัวรถต่อไป’