เป็นเจ้าพ่อแห่งอากาศพลศาสตร์ใน MotoGP ทั้งที Ducati ก็เลยมักจะทำแอโรพาร์ทออกมาให้หลายๆ คนจับไต๋ไม่ได้และได้แต่เดากันไปต่างๆ นาๆ โดยเฉพาะแอโรพาร์ทตัวล่าสุดนี้ซึ่งบางคนเดาว่ามันเป็นตัวช่วยเพิ่มการยึดเกาะจาก Ground Effect
สื่อ motorsportmagazine ได้เคยถามวิศวกร Formula 1 ชั้นอ๋องอย่าง John Barnard ผู้ซึ่งคิดค้น ชาสซีส์โมโนค็อกคาร์บอนไฟเบอร์ และ เกียร์กึ่งอัตโนมัติ ว่า หากเขาได้งบไม่อั้นในการพัฒนารถจักรยานยนต์ใน MotoGP เขาจะเริ่มจากอะไรก่อน? Barnard ตอบอย่างไม่ลังเลเลยว่า อากาศพลศาสตร์
สำหรับรถแข่ง F1 นั้นที่มันสามารถเข้าโค้งได้อย่างรวดเร็ว มันมาจากอากาศพลศาสตร์ที่สามารถสร้าง Downforce ให้กดรถแนบไปกับพื้นไม่ให้หลุดโค้ง โดยในปีนี้ F1 ได้มีการใช้ Ground Effect ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีในการสร้าง Downforce
Ground Effect เป็นการเล่นกับอากาศที่ไหลผ่านใต้ท้องรถ โดยการสร้างชิ้นส่วนที่บังคับทิศทางการไหลและเพิ่มความเร็วของอากาศที่ไหลผ่านใต้ท้องรถให้มากกว่าด้านบนของรถ มันจะเกิดความแตกต่างของความกดอากาศทำให้อากาศกดรถลงมานั่นเอง
“เมื่อคุณพูดถึงการเอียงรถลงมา 60 องศา แฟริ่งนั้นจะอยู่ใกล้กับพื้นมาก บางทีนี่อาจจะเป็นสิ่งที่ Ducati กำลังทำ” Barnard กล่าว
Gigi Dall’Igna และทีมวิศวกรของเขาได้วิจัยการใช้อากาศพลศาสตร์กับตัวรถ Ducati ของพวกเขามาเป็นเวลาหลายปี โดยเป้าหมายนั้นคือการลดอาการล้อหน้าลอยเมื่อออกจากโค้ง ทำให้นักบิดสามารถเปิดคันเร่งได้มากขึ้นเมื่อออกจากโค้ง แถมยังช่วยเพิ่มความเสถียรเมื่อนักบิดเบรกหนักอีกด้วย
คำถามมีอยู่ว่า แล้วในตอนนี้ Ducati กำลังไล่ล่าหาวิธีการใช้ประโยชน์จาก Ground Effect อยู่หรือไม่? Ali Rowland-Rouse วิศวกรอากาศพลศาสตร์ของ F1 และเป็นไบค์เกอร์ด้วย คิดว่า Ducati ได้ใช้ Ground Effect มาตั้งแต่ปี 2019 โดยการใช้แผ่นปิดล้อด้านล่างตามที่เราเห็น
“แผ่นปิดล้อนั้นทำหน้าที่ 2 อย่าง อย่างแรกคือจัดระเบียบอากาศเมื่อวิ่งอยู่บนทางตรง และอีกอย่างคือสร้าง Downforce เมื่อตัวรถเกิดการเอียง เพราะเมื่อคุณเอาแผ่นเรียบที่มีความเร็วไว้ใกล้กับพื้น เมื่ออากาศไหลผ่านด้านบนกับด้านล่างของแผ่นไม่เท่ากัน ความกดอากาศก็ย่อมที่จะไม่เท่ากัน และนั่นจึงเป็นเหตุให้คุณสามารถสร้าง Downforce ขึ้นมาได้” Rowland-Rouse กล่าว
“แอโรพาร์ทส่วนใหญ่ของ MotoGP นั้นจะสร้าง Downforce เมื่อรถตั้งตรง แต่เมื่อคุณเอียงรถมากกว่า 45 องศา มันจะกลายเป็น Side Force หรือแรงกระทำด้านข้างแทนซึ่งจะดันให้รถเหวี่ยงหนีศูนย์ออกนอกโค้ง ดังนั้นแผ่นปิดล้อจึงได้มาทำหน้าที่ตรงนี้แทนเมื่อตัวรถนั้นเอียง”
แอโรพาร์ทที่น่าสนใจสุดเห็นจะเป็นท่อดูดอากาศที่หักทำมุมเกือบ 90 องศา และปล่อยอากาศออกสู่ด้านล่าง “นี่เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นแฟริ่งแอโรถูกติดอยู่ต่ำขนาดนี้ เมื่อรถเอียงมากมันก็ยิ่งอยู่ติดพื้นมาก ดังนั้นมันสร้าง Downforce อย่างแน่นอน”
นอกจากนั้น Rowland-Rouse ยังคิดว่าชิ้นส่วนนี้ยังให้ผลกับประสิทธิภาพส่วนอื่นๆ ของรถอีกด้วย “ขอบด้านท้ายของปีกกลางนั้นอยู่สูงกว่าขอบด้านหน้า ดังนั้นมันจะสร้างความดันต่ำบริเวณใต้ปีก ส่วนท่อดูดนั้นกลับกัน มันช่วยลดความดันด้านบนท่อทำให้เพิ่มประสิทธิภาพของอากาศที่ไหลด้านใต้ของปีกกลางด้านบน นั่นคือสิ่งหนึ่ง”
“อย่างถัดไปคือกระแสอากาศที่ไหลผ่านข้างใต้ของรถนั้นเละเทะมาก ล้อหน้านั้นจะสร้างอากาศปั่นป่วนออกมาด้านหลังซึ่งมันสร้าง Drag Force หรือแรงต้านอากาศ ท่อดูดอากาศจะส่งอากาศไปยังใต้ท้องรถทำให้ความดันอากาศบริเวณนั้นเพิ่ม ยังผลให้เกิดเป็นการลดแรงต้านอากาศ ทำให้ความเร็วปลายของรถสูงขึ้น”
“การใช้ท่อดูดอากาศยังส่งผลไม่เพียงแต่รถของ Ducati เองเท่านั้น มันส่งอากาศออกไปยังด้านหลังทำให้รถคันที่ตามมานั้นไม่สามารถใช้สลิปสตรีมจากรถของ Ducati ได้โดยง่ายด้วยเช่นกัน”
จากการวิเคราะห์ที่กูรูทั้งหลายกล่าวมาข้างต้นนั้น เราจะเห็นได้ว่า Ducati ไม่เพียงแต่ไล่ล่าหา Downforce เพื่อเพิ่มความเร็วในโค้งเท่านั้น พวกเขายังหาทางเพิ่มความเร็วทางตรง และยังป้องกันไม่ให้คู่แข่งใช้ประโยชน์จากการที่รถของพวกบังอากาศให้ และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงได้รับการยกย่องว่าเป็น “ราชาแห่งอากาศพลศาสตร์ใน MotoGP”
อ้างอิง : motorsportmagazine.com