ทุกครั้งที่มีกฎใหม่ด้านเทคนิคออกมา ทีมแข่ง F1 แต่ละทีมนั้นก็มักจะมีแนวทางการออกแบบที่หลากหลายให้เห็น ซึ่งในปีนี้กฎใหม่นั้นส่งผลต่อการออกแบบ “ไซด์พอด” ของแต่ละทีม โดยเฉพาะ Ferrari และ Mercedes ที่มีแนวทางการออกแบบตรงกันข้ามกันโดยสิ้นเชิง
Mercedes นั้นพยายามออกแบบไซด์พอดให้มีขนาดเล็กที่สุด โดยบีบขนาดตั้งแต่ทางเข้าช่องหม้อน้ำไปจนถึงส่วนท้ายของรถ ในขณะที่ Ferrari นั้นออกแบบไซด์พอดขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ ดังนั้นเรามาลองดูกันว่าทำไมแต่ละทีมถึงเลือกแนวทางไปแบบนั้น
- Ferrari
Ferrari นั้นพยายามที่จะส่งอากาศจากด้านหน้าขึ้นสู่ส่วนบนของตัวรถ โดยการเว้าด้านบนของไซด์พอดและทำรูปทรงส่งอากาศขึ้นไปยังปีกหลัง
เปรียบเทียบกับทีมอื่นๆ ที่มีแนวทางออกแบบคล้ายคลึงกัน Aston Martin, Alpine, และ Alfa Romeo ต่างทำไซด์พอดขนาดใหญ่ แต่ไม่มีทีมไหนที่ทำแบบเต็มพื้นที่เหมือนกับ Ferrari ทั้ง 3 ทีมข้างต้นนั้นยังมีการเว้าส่วนล่างของไซด์พอด เพื่อให้มีอากาศไหลผ่านไปยังส่วนท้ายเหนือดิฟฟิวเซอร์ แต่ Ferrari นั้นดูจะโฟกัสไปกับอย่างอื่นแทน
Ferrari นั้นพยายามที่จะลดแรงต้านอากาศให้น้อยที่สุดโดยการเปลี่ยนไปใช้แอร์บ็อกซ์สามเหลี่ยมแบบที่เคยใช้ในปี 2020 นั่นทำให้บริเวณฝาครอบเครื่องยนต์นั้นผอมเล็ก ซึ่งจะรบกวนอากาศที่ถูกส่งไปยังปีกหลังน้อยลง นอกจากนั้นพวกเขายังมี “ทาวเวอร์” ทั้ง 2 ฝั่งของแอร์บ็อกซ์ เพื่อจัดเรียงอากาศส่งไปยังปีกหลังอีกด้วย
การที่ Ferrari โฟกัสกับการไหลของอากาศบริเวณส่วนบนของรถ นั่นอาจจะบอกเป็นนัยๆ ว่าพวกเขามั่นใจกับการสร้าง Downforce จากข้างใต้พื้นรถ
ภายในไซด์พอดนั้น หม้อน้ำของตัวรถเองก็ไม่ได้ใหญ่ขนาดเต็มพื้นที่ด้านในไซด์พอด มันยังเหลือพื้นที่ให้พอเฉือนไซด์พอดออกไปได้ ซึ่งพวกเขาอาจเปลี่ยนแปลงในอนาคตหากได้รับข้อมูลเพิ่มเติม แต่ในขณะนี้ไซด์พอดที่พวกเขาสร้างนั้นเป็นไปตามความต้องการทางอากาศพลศาสตร์ล้วนๆ โดยไม่ได้มีปัญหาเรื่องขนาดของหม้อน้ำหรือการระบายความร้อนแต่อย่างใด
- Mercedes
ทางด้าน Mercedes ดูจะมีการออกแบบทางอากาศพลศาสตร์ที่ซับซ้อนกว่า Ferrari โดยทีมแข่งศรเงินเป็นทีมแรกๆ ที่ออกแบบโดยใช้ปรากฏการณ์ควานด้าเข้ามาช่วยเร่งอากาศให้ไหลจากส่วนบนของไซด์พอดไปยังส่วนบนของพื้นรถและดิฟฟิวเซอร์ ซึ่งไซด์พอดใหม่ของพวกเขาก็ยังคงเดินตามแนวทางการออกแบบข้างต้น เพียงแต่มันถูกบีบให้เล็กที่สุดเพื่อลดแรงต้านอากาศลงด้วย
สเป็คไซด์พอดใหม่ที่บาห์เรนนั้น ช่องทางเข้าอากาศจะมีลักษณะแคบสูง โดยด้านบนนั้นจะแคบกว่าด้านล่าง ซึ่ง Mercedes มีความพยายามอย่างมากที่จะลดแรงต้านอากาศ และทำให้อากาศไหลผ่านด้านบนพื้นรถไปด้านหลังให้ราบเรียบที่สุด นอกจากนั้นพวกเขายังพยายามสร้างความแตกต่างของความกดอากาศระหว่างด้านบนกับด้านล่างพื้นรถ เพื่อให้เกิด Downforce สูงสุด
ไม่เพียงเท่านั้น Mercedes ยังได้ใช้ช่องโหว่ของกฎในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างป้องกันการกระแทกด้านข้างให้กลายเป็นปีกรถด้านหน้าไซด์พอด เพื่อใช้ประโยชน์ในทางอากาศพลศาสตร์เพิ่มเติม แถมยังทำโครงสร้างป้องกันการกระแทกเป็นฐานของกระจกมองหลัง ซึ่งแน่นอนว่าออกแบบมาในรูปทรงที่ยังผลให้เกิดประโยชน์ในทางอากาศพลศาสตร์เช่นกัน และทำให้แต่ละทีมต้องถามถึงความถูกต้องกลับไปยัง FIA กันวุ่นวายเลยทีเดียว
- แล้วใครจะไปถูกทาง?
มีเพียงแค่การทดสอบวิ่งบนแทร็คจริงเท่านั้นที่จะตอบเราได้ ทั้ง 2 ทีมนั้นต่างอัปเกรดรถโดยพยายามดึง Downforce ออกมาใช้งานให้ได้มากที่สุดและลดผลกระทบของ Porpoising ให้มากที่สุด แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือ หากทีมใดก็ตามออกแบบไปผิดทาง พวกเขาจะไม่สามารถก็อปปี้คอนเซ็ปต์ของอีกฝ่ายหนึ่งได้ และทำได้เพียงปรับแต่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุดเท่านั้นเอง
อ้างอิง : the-race.com