นับตั้งแต่ออสเตรเลียเตรียมที่จะบังคับใช้กฎหมายกำหนดประสิทธิภาพการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากรถยนต์ New Vehicle Efficiency Standard-NVES
จะมีการบังคับใช้ในปี 2025 และถ้ามีการบังคับใช้จริงอาจส่งผลให้ค่ายรถสูญเสียโอกาสในด้านการขายและการบริการจนถึงขึ้นอำลาตลาด ล่าสุดเว็ปรถยนต์อย่าง Carsales รายงานว่า ISUZU UTE ผู้จำหน่ายรถในออสเตรเลียกำลังพิจารณาข้อเสนอมาตรฐานประสิทธิภาพการปล่อยไอเสีย
โดยทาง ISUZU เรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลียออกมาเจรจาร่วมกับผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านลบต่อผู้บริโภคซึ่งยอดขายของ ISUZU D-MAX และ ISUZU MU-X ยอดขายดีกว่าหลายเจ้าแต่เป็นรอง 2 แบรนด์อย่าง Toyota และ Ford ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
แม้ทาง Toyota ออสเตรเลียก็ได้มีการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงกฏ NVES ในอาทิตย์ที่ผ่านมา พร้อมทั้งกำหนดบทลงโทษเมื่อมีรถที่ปล่อยก๊าซ CO2 เกินกำหนดด้วยการขึ้นราคารถ พร้อมให้ยุติการทำตลาดขุมพลังดีเซลภายใต้กฏหมายของออสเตรเลีย
ทาง ISUZU กล่าวว่าข้อเสนอของ NEVS ไม่ได้คำนึงถึงวงจรการพัฒนายานยนต์ซึ่งต่างจากฝั่งอเมริกาที่มาตรการของเขาสอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีการมลพิษ ทางเราขอให้รัฐบาลให้เวลาแก่ผู้ผลิตรถมากขึ้นในการลดการปล่อยมลพิษให้เป็นไปตามอายุตลาดของผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันผลกระทบของลูกค้า
ซึ่งบทลงโทษที่รัฐบาลเสนอยังไม่บรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และอาจจะทำให้ราคารถยนต์ขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมบทลงโทษ หรือร้ายแรงสุด อาจจะเลิกทำตลาดไปในที่สุด
สถานการณ์ของ ISUZU UTE เรียกว่ากลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะมีโอกาสที่จะเลิกทำตลาดออสเตรเลีย เพราะ ณ เวลานี้ D-MAX และ MU-X ยังไม่มีแผนในการทำตลาดเวอร์ชั่นไฮบริดหรือพลังไฟฟ้า ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้แนะนำขุมพลัง 1.9 ลิตรทั้ง 2 รุ่น และไม่มีแผนที่จะเปิดตัว D-MAX หรือ MU-X รุ่นไฮบริดหรือไฟฟ้า
ทั้งสองรุ่นถูกจัดให้เป็นรถ SUV ขนาดใหญ่ แม้ว่าวัตถุประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่างกันก็ตามทั้งนี้รายละเอียดของ D-MAX EV ที่จะเปิดตัวในนอร์เวย์ในปี 2025 รวมถึง MU-X ที่มีข่าวลือว่ามาพร้อมขุมพลัง Hybrid ยังคงเป็นความลับอยู่และอาจเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่จะถูกบังคับให้ยุติทำตลาดออสเตรเลียตามแหล่งข่าวในแคนเบอร์ราเนื่องจากไม่มีรุ่นใหม่ๆมาทำตลาด
ทางด้านเมืองไทยในฐานะผู้ส่งออกรถปิกอัพไปยังออสเตรเลียล่าสุดทาง กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งหาทางออกเกี่ยวกับกฎหมายกำหนดประสิทธิภาพการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากรถยนต์ NVES ที่มีแผนการบังคับใช้ในปี หน้า และหากมีการบังคับใช้มาตรฐานนี้จะส่งผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์ของผู้ประกอบการในประเทศไทย และอาจทำให้การส่งออกจากประเทศไทยลดลง
ปัจจุบันไทยมีการส่งออกรถยนต์ไปยังออสเตรเลียประมาณ 260,000 คันต่อปี และออสเตรเลียนำเข้ารถปิกอัพจากไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 (ร้อยละ 48.25 ของปริมาณการนำเข้ารถปิกอัพทั้งหมด) และหากมีการบังคับใช้มาตรฐานฯ ดังกล่าวแล้ว รถยนต์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ฯ กำหนดจะมีค่าปรับสูงมากถึง 100 เหรียญ/กรัม/กิโลเมตร
ล่าสุด ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ได้ประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อขอความช่วยเหลือ โดยต้องการเวลาที่เหมาะสมเพื่อการปรับตัวสำหรับการเปลี่ยนผ่าน ที่รวมถึงการที่ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตหลายส่วน จึงต้องการขอให้ทางการออสเตรเลียพิจารณาระยะเปลี่ยนผ่านอย่างน้อย 2-3 ปี
ภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (WTO TBT Agreement) ซึ่งทางออสเตรเลียเองอยู่ระหว่างเวียนแจ้งกฎระเบียบดังกล่าวให้ประเทศสมาชิกมีโอกาสแสดงความคิดเห็น ภายในวันที่ 30 เมษายน 2024 และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ดำเนินการแจ้งกฎระเบียบดังกล่าวของออสเตรเลียไปยังผู้เกี่ยวข้องในประเทศไทยทุกส่วน เช่น สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เป็นต้น เพื่อรวบรวมและรับฟังความเห็นอย่างเป็นทางการ
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ได้นำประเด็นนี้เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ที่จะเดินทางไปประชุม ASEAN Summit ที่ออสเตรเลีย ในวันที่ 3 มี.ค.นี้ อีกทั้งยังย้ำว่า การช่วยเหลือผู้ประกอบการเป็นหนึ่งในภารกิจของกระทรวงอุตสาหกรรม การดำเนินการของภาคอุตสาหกรรมควรเป็นไปตามความเหมาะสม ให้ความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน ควบคู่กับการเคารพในกรอบกติกากฎหมายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ