เมื่อสังคมของบ้านเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคของผู้สูงอายุ พบว่าปัจจุบันมีผู้สูงอายุ (วัยเกิน 60 ปีขึ้นไป) จำนวนมากที่ยังคงขับรถยนต์ด้วยตัวเอง และหลายครั้งที่ลูกหลานต้องกังวลด้วยความเป็นห่วงในเรื่องนี้ แต่ไม่สามารถห้ามพวกเขาได้ ดังนั้นเราลองมาเช็ค และรู้ถึง 5 ข้อควรระวัง สำหรับผู้สูงอายุที่ขับรถเองกันไว้ก่อน เพื่อที่จะได้เตรียมพร้อม ป้องกัน และสบายใจกันทั้งตัวผู้สูงอายุ และลูกหลาน
- ตรวจเช็คสภาพรถอยู่เสมอ ควรนำรถไปตรวจเช็คสภาพ ให้พร้อมกับการเดินทาง เป็นวิธีลดความเสี่ยงสำหรับผู้สูงวัยที่ต้องเดินทางเพียงผู้เดียว
- ไม่ควรให้ขับรถทางไกล เพราะด้วยในระยะทางที่ไกล อาจจะทำให้รู้สึกเหนื่อย หรือ เพลียได้ง่าย แนะนำว่าให้หา เพื่อนร่วมทางไปด้วยจะดีที่สุด
- ตรวจสุขภาพร่างกายสม่ำเสมอ สิ่งที่น่าเป็นกังวลคือโรคเกี่ยวกับ สายตากล้ามเนื้อและสมอง เพื่อที่จะได้ขับขี่อย่างปลอดภัย ลดการเกิดอุบัติเหตุ
- ไม่ควรขับรถขณะฝนตก เมื่อฝนตกถนนลื่นย่อมเสี่ยง ต่อการเกิดอุบัติเหตุมากกว่าปกติ เมื่อฝนตกหนักไม่ควรให้ผู้สูงวัย ขับรถด้วยตัวเองโดยเด็ดขาด
- ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ รวมถึงยาที่มีฤทธิ์กล่อมประสาท ทำให้รู้สึกง่วงนอน มีเปอร์เซ็นต์ สูงมากที่จะเกิดเหตุอันตรายขึ้น
นอกเหนือจากการเตรียมพร้อม และป้องกันทั้ง 5 ข้อนี้ คุณควรจะต้องรู้ถึงโรคต่างๆ ของผู้สูงอายุไว้อีกด้วย ว่าโรคใดมีผลกระทบต่อการขับรถยนต์ของพวกเขา
- โรคทางสมอง ผู้ที่สมองเสื่อม มีอาการหลงลืม ขับรถหลงทาง เลี้ยวผิดเลี้ยวถูก การตัดสินใจและสมาธิไม่ดี หรือแขนขาไม่มีแรงที่จะขับรถ เหยียบคันเร่ง เหยียบเบรกหรือเปลี่ยนเกียร์ได้ดี หรือความไวของการตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ ลดลง
- โรคตา ผู้ที่เป็นโรคตา เช่น ต้อหิน ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม ทำให้ขับรถในเวลาโพล้เพล้หรือตอนกลางคืนแล้วมองไม่ชัด ในผู้ป่วยต้อหินยังอาจมีลานสายตาที่แคบทำให้มองเห็นภาพส่วนรอบได้ไม่ดี ผู้ป่วยโรคต้อหินจะมองเห็นแสงไฟบอกทาง ไฟหน้ารถพร่าได้
- โรคหัวใจ ทำให้อาจมีอาการแน่นหน้าอกเมื่อขับรถนานๆ เครียดจากรถติด
- โรคลมชัก ซึ่งพบได้ในผู้สูงอายุมากกว่าคนหนุ่มสาว เมื่อมีอาการชัก จะเกร็ง กระตุก ไม่รู้สึกตัว ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
- โรคพาร์กินสัน ที่มีอาการแข็งเกร็ง มือสั่น บางทีมีเท้าสั่นด้วย ทำอะไรเชื่องช้าลง ทำให้ขับรถได้ไม่ดี
- โรคเบาหวาน ทำให้มีอาการหน้ามืด ใจสั่น สมาธิไม่ดี ตาพร่า ถ้าน้ำตาลในเลือดต่ำลง
- โรคข้อเสื่อม ข้ออักเสบต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการขับรถเช่น ข้อเข่าเสื่อม ทำให้เหยียบเบรกได้ไม่เต็มที่
- โรคประจำตัวต่างๆ ที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝันขณะขับรถได้
ที่สำคัญ ให้ระวังในกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องทานยาประเภทต่างๆ ที่จะมีอาการทำให้มีอาการง่วงซึ่มหลังจากทานยาเข้าไป
ทั้งนี้ควรดูแลกลุ่มผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องขับรถอย่างใกล้ชิด หรือถ้าเป็นไปได้ควรจะขับให้กับพวกเขาได้นั่งสบายๆ จะดีซะกว่า เพราะการขับรถมากๆนั้น ก็อาจทำให้ร่างกายเมื่อยล้าได้เช่นกัน