More

    6 เทคนิค “ขับรถขึ้น-ลงดอย” อย่างไรให้ปลอดภัย

    แพลนปีใหม่ของหลายๆคนส่วนใหญ่ในช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นทริปขึ้นดอยขึ้นเขา อย่างแน่นอน เมื่อมีแพลนว่าจะหาเวลาไปพักผ่อนสูดอากาศเย็นสดชื่นกันแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นหลักสำคัญของการขับรถขึ้นดอยขึ้นเขา นั้นก็คือเทคนิคการขับต่างๆ ที่จะช่วยให้เราปลอดภัยจากการเดินทางในครั้งนี้ เส้นทางเหล่านี้มีความอันตรายมากจึงต้องอาศัยเทคนิค ทักษะการขับรถอยู่พอสมควร เอาเป็นว่าก่อนออกเดินทาง Car2day จะมาแนะนำเทคนิคดีๆ ในการขับรถขึ้น-ลงดอยอย่างไรให้ปลอดภัย มาฝากกันค่ะ 

    ขึ้นเขา1. ขับรถขึ้นเขาลงดอยควรใช้เกียร์ต่ำ

    เมื่อต้องขับรถยนต์ขึ้นเขาหรือเส้นทางลาดชัน ยิ่งเส้นทางนั้นมีความลาดชันต่อเนื่องสลับกัน โดยเฉพาะช่วงทางโค้ง จำเป็นต้องใช้กำลังฉุดลากที่มากกว่าปกติ เราจึงเห็นป้ายเตือนให้ใช้เกียร์ต่ำอยู่บ่อยครั้งในเส้นทางลักษณะนี้ เพราะเกียร์ต่ำ ในตำแหน่งเกียร์ 1 หรือเกียร์ 2 ของเกียร์ระบบธรรมดา และตำแหน่งเกียร์ L หรือ D-3-2-1 คือตำแหน่งที่เป็นเกียร์ต่ำในเกียร์อัตโนมัติรุ่นนั้นๆ จะมีคุณสมบัติที่จะช่วยส่งกำลังต้านกันระหว่างแรงโน้มถ่วงของโลกและแรงในการส่งรถขึ้นในที่สูง การใช้เกียร์ต่ำจึงจำเป็นเพื่ออาศัยแรงบิดของเครื่องยนต์ในการฉุดลากตัวรถของเราขึ้นไปในที่สูง

    ซึ่งตามปกติแล้วเส้นทางเหล่านี้ จะไม่สามารถใช้ความเร็วได้มากเท่าไรอยู่แล้ว และยิ่งเป็นช่วงขาลงจากเขายิ่งควรระมัดระวังควบคุมความเร็วให้เหมาะสมเป็นอย่างมาก การใช้จังหวะเกียร์ต่ำต่อเนื่องจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนเกียร์ไปตามลักษณะของความเร็วที่เหมาะสม 1 ไป 2 ไป 3 และลดลงมาตามลักษณะของเส้นทาง แค่เราต้องจำไว้เพียงว่าอย่าทำการเปลี่ยนเกียร์ในระหว่างที่อยู่บนเนิน และต้องเลี้ยงคันเร่งเพื่อให้รอบเครื่องเดินอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำหรือสูงเกินไป เพื่อไม่ให้เกิดความร้อนสูงกับเครื่องยนต์ได้

    2. ขณะลงจากดอย อย่าแตะเบรกค้างเป็นอันขาด

    ขาลงจากที่ลาดสูงชัน ให้ใช้การผ่อนคันเร่งและใช้เบรกช่วยในบางจังหวะ อย่าแตะค้างไว้นานเกินไป ขาลงนั้นก็จะใช้เกียร์ต่ำเหมือนกับตอนขาขึ้น แต่เราจะให้เครื่องยนต์ทำงานช่วยดึงตัวรถด้วยรอบเครื่องกับอัตราทด Engine Brake ของชุดเกียร์นั่นเอง ผสมผสานกับการใช้เบรกอย่างเหมาะสม เราสามารถกดเบรกในน้ำหนักที่เหมาะในจังหวะที่ต้องเบรก แต่ไม่ควรกดแช่ค้างเอาไว้ เพราะอาจจะทำให้ผ้าเบรกไหม้ได้ เพราะถ้าหากเบรกไหม้อาจจะเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้นได้ แต่ถ้าเส้นทางนั้นลาดชันและมีระยะทางที่ไกลซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้เบรกช่วยในการขับขี่ได้ จำเป็นที่จะต้องหาจุดจอดพักเป็นระยะๆ เพื่อให้ได้ระบายความร้อนของน้ำมันเบรก อย่าฝืนจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้เบรกแตกได้อีกเช่นกันนะคะ

    3.แตะคันเร่งเบาๆ คอยควบคุมความเร็วให้สม่ำเสมอ

    หลายคนมีความเชื่อแบบผิดๆ ว่าเมื่อลงเขาหรือทางลาดชันแล้วให้เข้าเกียร์ N ไว้เพื่อที่จะช่วยประหยัดน้ำมัน และปล่อยให้แรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้รถไหลลงไปเอง แล้วค่อยแตะเบรกเอา เป็นความเชื่อที่ผิดอย่างมาก ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้รถไหลลงเร็วเกินกว่าเราจะควบคุมความเร็วเอาไว้เองได้ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอันตรายหลุดโค้งหรือ ไถลออกนอกเส้นทางและยังทำให้อายุการใช้งานของเกียร์สั้นลงอีกด้วย เพราะฉะนั้นควรใช้เกียร์ต่ำอย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น เพื่อควบคุมความเร็วด้วยตัวเองและถนอมการใช้งานของเกียร์อีกด้วย

    4. ใช้ความเร็วให้เหมาะสม

    • ความเร็วในการขับรถขึ้นเขา
      ด้วยความที่การขับรถขึ้นดอย หรือขับรถขึ้นเขาเป็นเส้นทางที่ชันมาก ทำให้ต้องรักษาความเร็วอยู่ที่ 50-80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะถ้าขับไวมากๆ จะทำให้ควบคุมรถยากและอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุรถชน หรือขับรถตกเขาได้
    • ความเร็วในการขับรถลงเขา
      ก่อนอื่นต้องหมั่นเหยียบเบรกรถยนต์เป็นระยะ เพราะถ้าเหยียบค้างนานๆ จะทำให้เกิดเบรกไหม้ หรือเบรกแตกได้ค่ะ และความเร็วควรรักษาระดับให้คงที่ 30-50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
    • ความเร็วที่ไม่ให้ขับรถหลุดโค้ง
      ขับรถบนถนนทางหลวงเวลาเข้าโค้งก็ว่าอันตรายแล้ว แต่ขับรถขึ้นลงเขาและต้องเข้าโค้ง คงทวีคูณความน่ากลัวสำหรับมือใหม่มากๆ เพราะถ้าหลุดโค้งขึ้นมาจะทำให้ร่างกายและทรัพย์สินเสียหาย ดังนั้น ควรลดความเร็วให้อยู่ที่ 40-50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

    5. อย่าแซงตรงทางโค้งหรือเส้นทึบ

    เป็นการระมัดระวังความปลอดภัยพื้นฐานเลยก็ว่าได้ กับเส้นทางที่เป็นทางโค้ง เป็นสิ่งที่รู้กันอยู่แล้วว่าไม่ควรแซงหรือใช้ความเร็ว ให้หมั่นสังเกตป้ายบอกทางต่างๆ จะมีป้ายคอยเตือนเสมอว่าด้านหน้ามีทางโค้ง หรือทางลาดชัน และพยายามใช้ความเร็วให้เหมาะสม ทางที่ดีไม่ควรแซงทั้งทางโค้งและทางตรงปกติบนภูเขาจะดีที่สุด เพราะลักษณะถนนจะมีความแคบหากเกิดเสียหลักได้

    6. ส่งสัญญาณเมื่อเข้าโค้งหรือต้องการเลี้ยว

    หากคุณกำลังขับรถอาจจะเป็นช่วงเวลาที่มืด ตามดอยตามเขามักมีไฟส่องสว่างไม่ค่อยเพียงพอ ทำให้วิสัยทัศน์ในการมองไม่ค่อยดีเท่าไร หากต้องเลี้ยวหรือกำลังจะเข้าโค้งที่เป็นจุดอับสายตา ให้พยายามส่งสัญญาณไฟ หรือบีบแตร เพื่อที่จะคอยสอดส่อง หรือส่งสัญญาณให้กับรถคันอื่นๆ ให้รู้กันว่ากำลังมีรถจะขับสวน หรือกำลังจะเลี้ยว

    การศึกษาเทคนิควิธีขับรถขึ้น-ลงดอยด้วยเกียร์อัตโนมัติ หรือเกียร์ธรรมดา หัวใจสำคัญคือการควบคุมความเร็วรถ กับเกียร์นั้นให้ทำงานสัมพันธ์กัน เพื่อให้รถสามารถวิ่งต่อไปได้เรื่อยๆ ส่งผลให้ถึงจุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัย ไม่เจออุบัติเหตุรถชน ท่องเที่ยวด้วยความสบายใจ 


     

    ABOUT THE AUTHOR

    Latest Posts