บทความนี้นำเสนอเรื่องกฎหมายเกี่ยวการการ ” พกปืนบนรถ ” ผิดกฎหมายหรือไม่อย่างไร สามารถได้หรือไม่ ต้องปฎิบัติอย่างไร มาลองศึกษากันดูครับ
ในยุคที่บ้านเมืองของเราจะพึ่งพาอาศัยเพียงเจ้าหน้าที่อย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอต่อความไว้วางใจ กับสังคมในปัจจุบันสักเท่าไร ก็อาจจะต้องมีการพกอาวุธที่จะสามารถเอาไว้ป้องกันตัวในยามฉุกเฉินเผื่อเอาไว้ หากเกิดมีผู้ไม่หวังดีจะเข้ามาทำร้าย ก็อาจจะช่วยป้องกันตัวได้ แต่ในที่นี้เราหมายถึงถ้ายังไม่ถึงขั้นหมายจะเอาชีวิต เพียงแต่เรามีอาวุธปืนอยู่ใกล้ตัว ก็ไม่ควรเอาออกมาใช้สุ่มสีสุ่มห้านะ ต่อให้คุณมีใบอนุญาติ ก็มีความผิดได้เหมือนกัน วันนี้ลองมาดูวิธีการพกปืนไปไหนมาไหนด้วยเอาไว้ในรถกันดูว่า พกพาแบบไหนถึงจะถูกกฎหมาย
ตามบันทึกของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 0503 (ส) / 27663 ลง 30 ก.ย. 25 เรื่องการปฏิบัติเกี่ยวกับการตรวจค้นบุคคลพกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะ มีแนวทางในการที่สั่งไม่ฟ้องดังนี้
- ในการปฏิบัติของข้าราชการตำรวจ ให้ใช้ดุลพินิจในการตรวจค้น จับกุมผู้พกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณสถานให้เป็นการถูกต้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 ได้บัญญัติไว้
- ต่อมาได้มีคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 8 ทวิ แห่ง พรบ. อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ขึ้นอีก ในทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในปัจจุบันยังคงมีปัญหาเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจค้นพบบุคคลพกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะ โดยมีเพียงใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ( ป. 4 ) แต่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ( ป. 12 ) ก็มักจะควบคุมตัวมาดำเนินคดีทุกรายไป ทำให้เป็นที่เดือดร้อนแก่ผู้บริสุทธิ์ที่ถูกตรวจค้นและจับกุม เพื่อให้การปฏิบัติของเจ้าพนักงานตำรวจเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและถูกต้อง จึงขอซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติเพิ่มเติมดังนี้
-
- ตามบทบัญญัติ มาตรา 8 ทวิ แห่ง พรบ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งคณะปฏิรูป การปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3 กำหนดว่า ห้ามมิให้ ผู้ใดพกพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว เว้นแต่กรณีต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ไม่ว่ากรณีใด
- ห้ามมิให้พกพาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผยหรือพาไปในที่ชุมนุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อนมัสการ การรื่นเริง การมหรสพ หรือการอื่นใด ดังนั้นจะเห็นได้ว่า กฎหมายยังคงเปิดโอกาส ให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์นำเอาอาวุธปืนที่ตนมีไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้พกพาติดตัวไปเพื่อป้องกันตัวและทรัพย์สินได้ ภายในขอบเขตที่กฎหมายให้กระทำได้ ตามแนวคำชี้ขาดไม่ฟ้องคดีของอธิบดีกรมอัยการเกี่ยวกับการพกพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้พกพาจากเจ้าพนักงาน ซึ่งถือว่าโดยสภาพเป็นกรณีที่ต้องมีอาวุธปืนติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วน ตามสมควรแก่พฤติการณ์ มีแนวทางพอสรุปได้ดังนี้คือ
-
1. นำอาวุธปืนใส่กระเป๋าเก็บไว้ในช่องเก็บของท้ายรถ ซึ่งไม่สามารถหยิบใช้ได้ทันทีทันใด
2. นำอาวุธปืนใส่กระเป๋าใส่กุญแจแล้ววางไว้ในรถซึ่งไม่สามารถหยิบใช้ได้ในทันทีทันใด
3. ไปเก็บเงินจากลูกค้าต่างจังหวัด จำนวนเป็นหมื่นๆ นำติดตัวมาแล้วมีอาวุธปืน ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนแล้ว ใส่ช่องเก็บของหน้ารถยนต์ เพื่อป้องกันตัวและทรัพย์สิน
4. ไปเก็บเงินจากลูกค้าต่างจังหวัด นำอาวุธปืนติดตัวมาด้วย โดยแยกอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนออกจากกัน ใส่กระเป๋าเอกสารไว้ที่พนักเบาะหลังรถยนต์
5. ห่ออาวุธปืน และแหนบบรรจุกระสุนปืน ( แมกกาซีน ) แยกออกคนละห่อเก็บไว้ในกระโปรงรถยนต์ซึ่งใส่กุญแจ
ข้อยกเว้น
- เจ้าพนักงานบางประเภท ลูกจ้าง เจ้าพนักงานบางประเภท มีสิทธิพกพาอาวุธปืนได้ โดยไม่ต้องมีใบอนุณาติ เช่น เจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ทหาร ตำรวจ ซึ่งขณะปฏิบัติหน้าที่ พนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีหน้าที่ปกป้องทรัพย์สินที่สำคัญของรัฐ
- เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งพกอาวุธปืนได้ มี ทหารเหล่า สห. เจ้าหน้าที่การเงิน โดยต้องแต่งเครื่องแบบประกอบ ทหารมีหน้าที่รักษาการณ์ ภายนอก ภายใน ออกทำการฝึก นอกนั้นหากพกติดตัวไปจะมีความผิด
- ประชาชนทั่วไปจะสามารถมีและใช้อาวุธปืนได้จะต้องขออนุญาตต่อนายทะเบียนของแต่ละพื้นที่นั้นๆ ซึ่งเมื่อทางราชการอนุญาตแล้ว ก็จะได้ออกใบอนุญาตให้ไป ใบอนุญาตที่เกี่ยวกับอาวุธปืนที่สำคัญ การขออนุญาตมีและใช้ อาวุธปืนตามกฎหมายนี้ก็เพื่อ ป้องกันตัวหรือทรัพย์สินของตนหรือสำหรับใช้ในการกีฬาหรือล่าสัตว์
อาวุธปืนที่ทำขึ้นมาเอง หรือ ได้มาอย่างผิดกฎหมายนั้น ไม่สามารถพกออกมาในที่สาธารณะได้ และยังมีความผิดฐานครอบครองอาวุธเถื่อน
อาวุธปืนคืออาวุธร้ายแรงอย่างนึงที่หากผู้ที่ใจร้อน ควบคุมสติไม่ได้ ถือไว้จะเป็นอันตรายต่อสังคมมาก ซึ่งต่อให้มีใบอนุญาติพกถูกกฎหมายแล้วก็ตาม ควรประเมินต่อเหตุการณ์ว่าสมควรหรือไม่ที่จะนำออกมาข่มขู่หรือทำร้ายผู้อื่นด้วยอารมณ์หรือความขาดสติ