ทำความรู้จัก 9 สัญลักษณ์แจ้งเตือนบนหน้าปัดรถยนต์
การดูแลรถยนต์สำหรับสาว ๆ ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป วันนี้ Car2Day จะพาทุกคนมาเรียนรู้เบื้องต้นง่าย ๆ เกี่ยวกับ สัญลักษณ์แจ้งเตือนบนหน้าปัดรถยนต์ สัญลักษณ์แต่ละตัวแจ้งเตือนเรื่องอะไร และมีความอันตรายในระดับไหน
สีของสัญลักษณ์แจ้งเตือน
ไฟสีแดง ระบบในรถยนต์กำลังมีปัญหา อาจเกิดความเสียหายร้ายแรงหรืออันตรายได้ ควรหยุดรถและตรวจสอบทันที
ไฟสีเหลือง ระบบในรถยนต์มีปัญหาบางอย่าง แต่ยังสามารถใช้งานรถยนต์ได้อยู่ แต่ควรนำรถไปตรวจเช็กให้เร็วที่สุด
ไฟสีเขียว/ฟ้า/ขาว แจ้งบอกสถานะการทำงานของอุปกรณ์หรือระบบในรถยนต์ที่คุณกำลังใช้งานอยู่
สัญลักษณ์แจ้งเตือนบนหน้าปัดรถยนต์
1. ไฟเตือนระบบเบรก มีการดึงเบรกมืออยู่ หากออกรถในขณะที่มีสัญลักษณ์นี้ จะทำให้รถเคลื่อนตัวได้ช้า และอาจทำให้เบรกไหม้ได้
2. ไฟเตือนความร้อนเครื่องยนต์ ระบบระบายความร้อนมีปัญหา อาจเกิดจากน้ำในหม้อน้ำหมด ต้องรีบจอดรถและทำการตรวจเช็คทันที ไม่เช่นนั้นจะเกิดอันตรายได้
3. ไฟเตือนระดับน้ำมันเครื่อง หากสัญลักษณ์นี้ปรากฎขึ้น แสดงว่าระดับน้ำมันเครื่องต่ำ หรือมีการรั่วไหลของน้ำมันเครื่อง ซึ่งจะส่งผลให้เครื่องยนต์ร้อนเกินไป เครื่องยนต์ทำงานเสียงดังผิดปกติ และอาจทำให้เครื่องยนต์ดับได้
4. ไฟเตือนแบตเตอรี่ นอกจากเป็นการแจ้งเตือนว่าแบตเตอรี่รถยนต์ใกล้หมดแล้ว แต่ยังหมายถึงปัญหาอื่น ๆ อีกด้วย เช่น ระบบไดชาร์จทำงานผิดปกติหรือขั้วสายแบตเตอรี่หลวม เป็นต้น
5. ไฟเตือนปิดประตูไม่สนิท สัญลักษณ์จะปรากฏขึ้นหากคุณปิดประตูไม่สนิทหรือมีคนเปิดประตูรถทิ้งไว้ ต้องทำการปิดให้สนิทเรียบร้อยก่อนออกเดินทาง
6. ไฟเตือนระดับน้ำมัน เมื่อน้ำมันในถังเหลือประมาณ 10% สัญลักษณ์นี้จะปรากฏขึ้น ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วน้ำมันที่เหลืออยู่นี้จะสามารถขับต่อไปได้อีก 20 – 30 กิโลเมตร ดังนั้นควรรีบหาปั๊มน้ำมันที่ใกล้ที่สุดเพื่อทำการเติมน้ำมัน
7. ไฟเตือนลมยางอ่อน สัญลักษณ์นี้จะขึ้นเตือนเมื่อลมยางในล้อใดล้อหนึ่งมีระดับต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่เหมาะกับการใช้งาน อาจเกิดอันตรายได้
8. ไฟเตือนระบบเครื่องยนต์ หากสัญลักษณ์ไฟนี้แจ้งเตือนแสดงว่าเครื่องยนต์กำลังมีปัญหา หรือมีบางอย่างผิดปกติ เพื่อความปลอดภัยควรนำรถไปพบช่างผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจสอบโดยด่วน
9. ไฟสูง สัญลักษณ์นี้จะปรากฎขึ้นเมื่อคุณใช้ไฟสูง ซึ่งไฟสูงควรใช้เฉพาะตอนที่ไม่มีรถคันอื่น ๆ อยู่ข้างหน้าหรือขับสวนทางมาเท่านั้น เพราะไฟสูงก่อให้เกิดการรบกวนสายตาของผู้ขับขี่คนอื่น จนทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
ติดตามข่าวสารยานยนต์ : car2day.com
Page Facebook : Car2Day
Youtube : youtube.com/@Car2day