More

    ลวงโลก?!! ใช้สายรัดประหยัดน้ำมัน อันตรายระวังกลายพันธุ์!!

    หลังจากที่เฟซบุ๊กเพจดังหลายเพจต่าง ๆ ได้เสนอข่าวถึงนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยลดการใช้น้ำมันในรถยนต์ได้ ทำให้ประหยัดค่าน้ำมันไปได้เยอะ คือ “สายพลังงานประหยัดน้ำมัน” ซึ่งพบว่าผู้จำหน่ายเป็นไฮโซหญิงรายหนึ่ง เธอได้โพสต์ลงทั้งเพจของสินค้าและเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีดาราชื่อดังหลายคนช่วยโปรโมต รวมไปถึงอู่รถยนต์และบริษัทต่าง ๆ 

    สินค้าอุปกรณ์เสริมช่วยประหยัดน้ำมันนี้ ถูกโพสต์ขายบน Facebook Fanpage : EnSave สายพลังงานประหยัดน้ำมัน และ Piwaterthailand ซึ่งสายรัดสีฟ้าหรือสีเขียวที่ว่านี้ทางผู้ผลิตได้ระบุว่ามีการใช้ซิลิโคนที่ผลิตด้วย Black Technology ผสมกับแร่ชนิดพิเศษที่มีชื่อว่า ซูเปอร์พาย 2 ซึ่งได้ผ่านการคิดค้นร่วมกับสถาบันวิจัยในประเทศญี่ปุ่นมานานกว่า 15 ปี เสริมด้วยแร่แกรฟีนและหินลาวา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดพลังงานควอนตัม (Quantum) ทำให้เกิดพลังงานแผ่รังสี “แกรมม่าเรย์” ช่วยให้น้ำมันเชื้อเพลิงนั้นนั้นมีขนาดโมเลกุลที่เล็กลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อรถของคุณดังต่อไปนี้

    • ช่วยให้ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้มากถึง 20%
    • ช่วยเพิ่มแรงม้าของเครื่องยนต์ ให้อัตราเร่งที่ดีขึ้น ออกตัวดีขึ้น
    • ช่วยลดควันดำของเครื่องยนต์ดีเซล
    • ช่วยยืดอายุการใช้งานของเครื่องยนต์
    • EnSave สายพลังงานประหยัดน้ำมัน

    นอกจากนี้ทางผู้ผลิตยังได้มีการตรวจวัดค่าพลังงานที่ปล่อยออกมาด้วยเครื่อง ion tester รวมถึงยังได้มีการกล่าวอ้างว่าสินค้าตัวนี้ผ่านการตรวจสอบจากสถาบันนิวเคลียแห่งชาติอีกด้วย

    โดยล่าสุดทาง รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. พร้อมเจ้าหน้าที่จากศูนย์บริการเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวว่า บริษัท เอสบีพี อินโนเวชั่น จำกัด ได้มาขอรับบริการตรวจวิเคราะห์ธาตุของสาย Ensave ซึ่งเป็นงานบริการปรกติของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) และคิดค่าบริการปรกติตามอัตราที่ สทน.กำหนด โดยได้รับสินค้ามา เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 สทน.ได้ตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบธาตุ โดยวิธี X-rays Fluorescent (XRF) และออกผลให้เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 ซึ่งในเอกสารแจ้งผลว่าพบธาตุใดบ้างที่ประกอบอยู่ในตัวผลิตภัณฑ์ นอกจากนั้น สทน.ยังได้ตรวจปริมาณการแผ่รังสีของผลิตภัณฑ์เนื่องจากผลิตภัณฑ์มีส่วนประกอบของธาตุกัมมันตรังสีอยู่ และออกใบรับรองผลปริมาณรังสีที่แผ่ออกมาจากวัตถุ โดยออกใบรับรองผลการสอบเทียบให้เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565

    ฉะนั้น ตามที่มีการระบุว่า สทน. ให้การรับรองการประหยัดพลังงานของสายรัดนั้นไม่เป็นความจริง เราไม่มีภารกิจในการตรวจสอบเรื่องการประหยัดพลังงาน และตามหลักวิชาการยังไม่มีงานวิจัยที่ระบุว่ารังสีที่อยู่ในสายรัดจะทำให้เกิดการแตกตัวของอนุภาคน้ำมันแล้วทำให้เกิดการประหยัดพลังงาน หรือหากผู้เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์มีผลวิจัยนั้นก็ต้องนำออกมาแสดงให้สังคมสิ้นสงสัย และอาจจะมีบางท่านได้ทดลองนำไปใช้แล้วระบุว่าได้ผล นั่นก็เป็นเรื่องของเฉพาะบุคคล

    และยังมีผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ มาช่วยผนึกยืนยันถึงข้อมูลลวงโลกนี้ โดยมี นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ หรือ อาจารย์เจษฎ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ถึงประเด็นนี้ด้วยว่า

    “เตือนระวัง อย่าหลงเชื่อโฆษณาหลอกขาย อุปกรณ์ประหยัดน้ำมัน” ในช่วงที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นมากอย่างตอนนี้ ก็มีอุปกรณ์ที่อ้างว่าสามารถทำให้ยานพาหนะประหยัดการใช้พลังงานขึ้นได้ ออกมาจำหน่ายมากมายหลายยี่ห้อเลยครับ

    ซึ่งหลักๆ แล้ว มักจะเป็นอุปกรณ์ที่แอบอ้างหลอกลวง หรือโฆษณาเกินจริงด้วยการใช้คำพูดเชิง pseudo science วิทยาศาสตร์ลวงโลก มาทำให้ดูน่าเชื่อถือ … แล้วตามด้วยการอ้าง “ผู้ใช้” มาบอกต่อกันว่าประหยัดจริงๆ อย่างนั้นอย่างนี้ (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นอุปาทานไปกันเอง เพราะไม่ได้ใช้เครื่องมือวัดที่ถูกต้อง .. หรือว่าเป็นหน้าม้าร่วมด้วย)

    1.อย่างภาพโฆษณาของสินค้าเก่าที่พอจะหาภาพเจอ (ขายในปี พ.ศ. 2558) อันนี้ ที่เอาไปพันกับท่อในเครื่องยนต์แล้วอ้างว่าประหยัดน้ำมันได้ ก็เป็นตัวอย่างที่ดีในการอธิบายถึงการหลอกขายได้ เช่น

    • อ้างเรื่องพลังงานที่ไม่มีอยู่จริง คือ พลังงานสเกล่าร์ ซึ่งอ้างว่าเป็นพลังงานธรรมชาติจากหินลาวาภูเขาไฟ ทำให้ร่างกายสมดุล มาผลิตเป็นเครื่องประดับ (ซึ่งถ้าใครจำได้ มันคือเรื่อง “เหรียญควอนตัม” หลอกลวง นั่นแหละครับ) ซึ่งก็ชัดเจนว่าไม่ได้
    • อ้างเรื่องที่มีอยู่จริง คือ แม่เหล็ก แต่เอาไปเคลมแบบมั่วๆ ว่าเป็นพลังงานที่เอาไปใช้เสริมสร้างร่างกาย รักษาโรคได้ ทำให้สมดุลร่างกายดีขึ้น (ซึ่งก็ไม่จริงนะ เป็นเรื่องอ้างมั่วๆ กันมานานแล้ว) ดังนั้น เมื่อเอามาใช้กับเครื่องยนต์ จะทำให้เครื่องยนต์เกิดสมดุลขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น (เชื่อมโยงกันยังไงเนี่ย สมดุลในร่างกายคน กับสมดุลในเครื่องยนต์รถ)
    • อีกเรื่องที่มีอยู่จริง แต่มาอ้างมั่วๆ คือ ฟาร์ อินฟาเรด ซึ่งจริงๆ ก็เป็นแค่ช่วงคลื่นของแสงที่อยู่เหนือช่วงอินฟาเรด (ช่วงคลื่นของแสงที่ตามองไม่เห็น และทำให้เกิดความร้อน) ขึ้นไป ซึ่งมีคนเยอะเลยที่ชอบเอามาอ้างกันเกินจริง ว่ามีผลดีต่อสุขภาพอย่างนั้นอย่างนี้ ทำให้โมเลกุลของน้ำแตกตัว เล็กลง นำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายเร็วขึ้น ฯลฯ (ซึ่งก็ไม่จริงนะ อ้างกันมั่วๆ ) แล้วเอามาเชื่อมโยงกับน้ำมันรถยนต์ อ้างว่าทำให้โมเลกุลน้ำมันหรือแก๊สแตกตัว เล็กลง เผาไหม้สมบูรณ์ขึ้น (ซึ่งทั้งไม่จริง และทั้งเชื่อมโยงได้มั่วมาก)
    • จากนั้น ก็ตามด้วยการเอา “ผู้ใช้” มาอ้างว่าใช้แล้วประหยัดน้ำมันขึ้น ซึ่งเราไม่มีทางรู้ว่าเป็นเรื่องจริง หรือเป็นการหลอกโดยหน้าม้า หรือว่าเป็นแค่อุปาทานของคนนั้นคิดไปเอง ซึ่งการจะรู้ได้ว่าประหยัดน้ำมันแค่ไหนจริง แต่ผ่านการทดสอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ และอุปกรณ์เฉพาะ

    อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะหลงเชื่อไปใช้สินค้าที่บรรยายสรรพคุณที่ไม่น่าเชื่อถือต่าง ๆ ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน จะได้ไม่เสียเงินโดยใช่เหตุ และหากท่านใดพบเห็นการขายสินค้าหรือบริการลวงโลกนี้ ให้แจ้งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที เพื่อที่จะได้ไม่ให้มีผู้เสียหายเป็นวงกว้างอีก 


    บทความอื่น ๆ

    ABOUT THE AUTHOR

    Latest Posts