More

    8 วิธีเอาตัวรอด หากถูกคุณตำรวจค้นรถ

    ช่วงนี้ตำรวจบ้านเรากำลังท็อปฟอร์มกันหลายอย่าง หากคุณเป็นคนนึงที่เคยผ่านด่านตรวจและรอดไปได้นั่นถือว่าโชคดี แต่ถ้าหากยังมีอีกหลายคนที่เราไม่รู้ว่าคุณตำรวจจะมาไม้ไหน จะทำอะไรให้เราเสียหายหรือไม่ วันนี้ลองมาดูว่าเราจะเอาตัวรอดอย่างไร จากความบริสุทธิ์ใจหากคุณโดนขอตรวจค้นรถ

    การตรวจค้นรถจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ ระดับ ‘สัญญาบัตร’ เท่านั้น??

    ด่านตรวจที่ตั้งขึ้นอย่างถูกต้อง จำเป็นต้องมีตำรวจชั้นสัญญาบัตรควบคุมอยู่ด้วยอย่างน้อย 1 นาย คือยศชั้นร้อยตรีขึ้นไป ตามระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงด่านตรวจต้องมีป้ายแสดง ‘จุดตรวจ’ ชัดเจน ดังนั้น หากเป็นการขอตรวจค้นรถในจุดลับตาคนโดยตำรวจชั้นประทวนไม่กี่นาย อันนี้เรามีสิทธิ์ไม่ให้กระทำการได้ สามารถโทรสอบถามกับทางสถานีตำรวจจราจรใกล้เคียงพื้นที่เพื่อขอตรวจสอบได้เลย

    การบันทึกภาพหรือวีดีโอขณะค้น ทำได้หรือไม่??

    สามารถทำได้ ไม่ละเมิดสิทธิ์และไม่ผิดกฎหมาย โดยการขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ด้วยเบื้องต้น เนื่องจากการถ่ายภาพหรือวีดีโอจะแสดงความบริสุทธิ์ใจแก่ทั้งสองฝ่าย และลักษณะการถ่ายจะต้องไม่เป็นการขัดขวางเจ้าหน้าที่  แต่ถ้าหากบันทึกภาพหรือคลิปแล้วนำไปเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ และพิมพ์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ อันนี้ผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2551  นะครับ

    ในเรื่องของกฎหมายนั้น  เราควรศึกษาเอาไว้เพื่อเวลาจำเป็นก็จะสามารถช่วยให้เราเอาตัวรอดได้จากการกระทำที่ไม่ถูกต้องของเจ้าหน้าที่ เพื่อจะได้รับมือกับสถานการณ์ต่างๆได้ และไม่ตกเป็นเป้าให้ถูกเอาเปรียบ

    หากถูกเรียกตรวจค้น ต้องตั้งสติให้รอบครอบ

    หากเป็นการขอตรวจค้นรถที่ถูกต้องกฎหมายแล้ว เราก็ต้องปล่อยให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ โดยต้องตั้งสติ ไม่ใช้อารมณ์ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ไม่เช่นนั้นอาจจะถูกข้อหาขัดขวางการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ได้  ทั้งนี้เราสามารถที่จะตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่ เพื่อสอดส่องดูว่าเจ้าหน้าที่ทำการตรวจค้นอย่างถูกต้องหรือไม่ ไม่ได้มีการนำสิ่งแปลกปลอมมาเพื่อยัดข้อหาแก่เจ้าของรถ

    ขั้นตอนการขอตรวจค้นโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ

    1. ทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจรถเรา เราสามรถขอดูบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ เพื่อแสดงออกให้ชัดเจนว่าคือเจ้าหน้าที่จริง และขอให้เจ้าหน้าที่ถอดหมวด เปิดหน้าให้ชัดเจน
    2. ขออนุญาตบันทึกภาพหรือวีดีโอเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการตรวจค้น ซึ่งจะเป็นผลดีที่แสดงความบริสุทธิ์ใจทั้งเราและเจ้าหน้าที่อีกด้วย

    3.ติดต่อคนใกล้ชิด หรือญาติให้มาสมทบโดยเร็วที่สุด เพื่อเป็นพยาน หรือกรณีที่ไม่ปกติควรติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง

    4.ขอให้เจ้าหน้าที่เพียง 1 คน ทำการตรวจค้นรถ เพื่อจะได้สะดวกในการมองเห็นและถ่ายคลิปได้ชัดเจน

    5.เราสามารถขอให้เจ้าหน้าที่เปิดแขนเสื้อเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจได้ว่าไม่มีสิ่งแปลกปลอมซ่อนอยู่

    6.กรณีถูกควบคุมตัว เมื่อพบของกลาง ซึ่งเรามั่นใจว่าไม่ใช่ของเรา ห้ามไปแตะต้องเด็ดขาด เนื่องจากอาจจะทำให้มีรอยนิ้วมือของเราติดไปได้

    7.ห้ามเซ็นเอกสารใดๆ จนกว่าเจ้าหน้าที่ที่ไว้ใจหรือคนใกล้ชิดหรือทนายความจะมาถึง

    8.หากเราไม่ได้กระทำผิด อย่ายอมถ่ายภาพคู่กับของกลางเด็ดขาด

    กฎหมายสำหรับการขอตรวจค้น 

    • เมื่อเข้าตรวจค้นต้องแสดงหมาย-ได้รับความยินยอมตามกฎหมาย ป.วิอาญาฯ มาตรา 94 ระบุว่า การตรวจค้น ผู้ตรวจค้นต้องแสดงหมายค้น หรือชี้แจงเหตุในการค้นโดยไม่มีหมายศาลซึ่งต้องเป็นไปตามข้อยกเว้นที่กฎหมายกำหนดไว้ ถ้าผู้ทำการตรวจค้นมีการแสดงหมายค้น หรือ เหตุในการค้นโดยไม่มีหมายศาลแล้ว ให้ผู้ตรวจค้นมีอำนาจสั่งเจ้าของให้ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ตรวจค้นได้ และถ้าบุคคลนั้นไม่ยินยอม ตำรวจอาจใช้กำลังเพื่อเข้าไปได้ อีกทั้ง ตำรวจยังมีอำนาจควบคุมตัวบุคคลที่จะขัดขวางการค้นได้ ตามกฎหมาย ป.วิอาญาฯ มาตรา 100นอกจากนี้ การจะเข้าตรวจค้นบ้าน ยังสามารถทำได้ตาม “หลักความยินยอม” กล่าวคือ ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองให้ความยินยอมก็สามารถกระทำได้ ดังเช่นในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1047/2555 เจ้าพนักงานตำรวจขอเข้าตรวจค้นหาสิ่งของซึ่งมีไว้เป็นความผิดในบ้าน เจ้าของบ้านยินยอมให้ตรวจค้นแต่โดยดี ถือว่าเป็นการค้นโดยชอบฯ เป็นต้น ซึ่งการให้ความยินยอมอาจจะทำการยินยอมโดยชัดแจ้ง หรืออาจยินยอมโดยปริยาย เช่น เจ้าของบ้านวิ่งมาแจ้งขอให้เข้าไปช่วยเหลือคนภายในบ้าน ตำรวจจึงมีอำนาจเข้าบ้านตามหลักความยินยอม เป็นต้น

      ทั้งนี้ การให้ความยืนยอม ตามหลักความยินยอมจะต้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และจะต้องเป็นไปโดยสมัครใจ ปราศจากการทำกลฉ้อฉล หลอกลวง ข่มขู่ หรือสำคัญผิด และต้องเป็นการให้ความยินยอมโดยไม่มีเงื่อนไข มิเช่นนั้นจะถือเป็นการละเมิดสิทธิ อีกทั้ง การค้นเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานดังกล่าว จะไม่สามารถใช้ได้ ตามกฎหมาย ป.วิอาญาฯ มาตรา 226 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้อ้างพยานหลักฐานชนิดที่เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น

     

    • ห้ามตรวจค้นยามวิกาล เว้นแต่มีเหตุฉุกเฉิน-ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ป.วิอาญาฯ มาตรา 96 การค้นในที่รโหฐานจะต้องกระทำระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและตก ไม่ว่าจะมีหมายค้นหรือไม่ก็ตาม จะต้องกระทำในช่วงเวลากลางวันเท่านั้น หากต้องการค้นในเวลากลางคืน จะต้องเข้าข้อยกเว้น ดังนี้
      เมื่อเริ่มลงมือค้นตั้งแต่เวลากลางวัน แล้วยังไม่เสร็จ กฎหมายกำหนดให้จะต่อเนื่องกันไปในเวลากลางคืนก็ได้ หากหมายค้นระบุว่าต้องค้นให้เสร็จสิ้น ตำรวจจะค้นไปได้จนกว่าจะเสร็จสิ้น โดยเวลาพระอาทิตย์ตกนี้จะต้องอาศัยเวลาตามความเป็นจริงในแต่ละวันด้วย
      ในกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง หรือมีกฎหมายอื่นบัญญัติให้ค้นได้เป็นพิเศษ จะทำการค้นในเวลากลางคืนก็ได้ ความฉุกเฉินอย่างยิ่งดังกล่าวจะหมายถึง หากไม่ตรวจค้นทันที บุคคลจะหลบหนีไปได้ พยานหลักฐานจะสูญหายหรือถูกทำลาย เป็นต้น
      การค้นเพื่อจับผู้ดุร้ายหรือผู้ร้ายสำคัญ จะทำในเวลากลางคืนก็ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตพิเศษจากศาล ผู้ดุร้ายอาจไม่ใช่ผู้กระทำความผิดก็ได้ เช่น เป็นคนจิตไม่ปกติ จิตใจโหดเหี้ยมทารุณ เคยทำร้ายผู้อื่นมาก่อน ชอบเผาบ้านเรือนคนอื่นเป็นต้น ส่วนผู้ร้ายสำคัญคือผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ เช่นฆ่าคนตาย ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ เป็นต้น

     

    • หมายค้นมีไว้หาคนหรือของ-จับกุมต้องมีหมายตามกฎหมาย ป.วิอาญาฯ มาตรา 70 การจะพบและจับบุคคลได้นั้น จะต้องมีหมายค้น ประกอบกับหมายจับด้วยทั้งสองอย่าง จึงจะจับได้ ถ้าตำรวจมาขอหมายค้นโดยอ้างว่าจะเอาไปจับกุมบุคคลในที่รโหฐานนั้น ตำรวจจะต้องมีหมายจับติดมือมาก่อนแล้วด้วย และจะต้องเชื่อว่าบุคคลตามหมายจับได้ซุกซ่อนตัวอยู่ที่นั่น ศาลจึงจะออกหมายจับได้ หรืออีกประการหนึ่ง ตำรวจก็อาจจะจะใช้วิธีมาขอทั้งหมายค้นและหมายจับพร้อมกันทีเดียวเลยก็ได้

    อย่างไรก็ตาม การให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี ไม่มีข้อพิรุจ และบริสุทธิ์ใจถือเป็นเรื่องที่จะทำให้คุณผ่านด่านตรวจไปได้อย่างลุล่วง และที่สำคัญเราก็ต้องป้องกันตัวเองจากตำรวจที่ไม่ดี ตามวิธีข้างต้นเข้าไว้ เพียงเท่านี้คุณก็สามารถเอาตัวรอดจากด่านตรวจนี้ได้แล้วครับ


    บทความอื่น ๆ 

    ABOUT THE AUTHOR

    Latest Posts