More

    แรงงานยานยนต์!! เสี่ยงตกงานเกลื่อน ผลกระทบจากการเปลี่ยนไปสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้า

    สิ่งที่น่าเป็นห่วงในช่วงวิกฤตการโลกช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาวะโรคระบาด สงคราม หรือเศรษฐกิจทั่วโลก ก็คือพนักงานระดับปฏิบัติการในโรงงาน ที่ทำส่วนประกอบต่าง ๆ เสมียน หรือที่เรียกว่ากลุ่มที่มีทักษะต่ำ (Low Skill) อีกกลุ่มที่น่ากังวลคือกลุ่มการศึกษาระดับประถมศึกษา มีความเสี่ยงตกงานได้มากถึง 3 แสนคน ภายในระยะเวลา 5 ปีนี้ ซึ่งแรงงานที่มีอายุ 35 –44 ปีขึ้นไปมีความเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากยิ่งอายุมากขึ้นการเรียนรู้ทักษะใหม่ (Reskill) จะทำได้ยากขึ้น

    อีกด้านหนึ่งแรงงานในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ก็มีความเสี่ยงตกงานเช่นกัน เพราะการศึกษาเรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า ที่มีต่อแรงงานในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ โดยการวิจัยของนักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า รถยนต์ไฟฟ้าใช้ชิ้นส่วนลดลงจาก 30,000 ชิ้น เหลือเพียง 1,500-3,000 ชิ้น ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ท่อไอเสีย หม้อน้ำ ถังน้ำมัน เป็นต้น

    จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย มีจำนวนประมาณ 816 แห่ง จาก 2,500 แห่ง โดยบริษัทเหล่านี้จ้างแรงงานอยู่จำนวน 326,400 คน หรือ 47% ของแรงงานทั้งหมดในอุตสาหกรรมยานยนต์ และยังมีอุตสาหกรรมสนับสนุนที่จะได้รับผลกระทบมีอีกจำนวน 183 แห่ง

    โดยล่าสุด ในช่วงเดือน เม.ย. ต่อเนื่องเดือน พ.ค. 2565 เริ่มมีผู้ประกอบการหลายรายเปิดโครงการสมัครใจลาออก เช่น บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ที่เปิดให้พนักงานอายุ 45-54 ปี เป็นพนักงานประจำ และมีอายุงานตั้งแต่ 10 ปี ถึง 25 ปีขึ้นไปที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพเข้าร่วมโครงการได้ โดยจะได้ผลตอบแทนเงินช่วยเหลือตามอายุงาน ต่ำสุด 17 เดือน สูงสุด 30 เดือน

    โดยกลุ่มเป้าหมาย คุณสมบัติคือเป็นพนักงานประจำอายุ 45 ปีบริบูรณ์ถึง 54 ปีและอายุงานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ส่วนพนักงานที่เตรียมเกษียณอายุในปี 2562 ไม่มีสิทธิ์ โดยพนักงานที่อายุงาน 10-14 ปีจะได้รับเงินชดเชยสูงสุด 17 เดือน และอายุงาน 15-19 ปีชดเชยสูงสุด 18 เดือน อายุงาน 20-24 ปีชดเชยสูงสุด 23.34 เดือน ส่วนอายุงาน 25 ปีขึ้นไปรับเงินชดเชยสูงสุด 27.34 เดือน

    การปรับโครงสร้างต่างๆที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์จากฟากฝั่งผู้ผลิต ถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนให้กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วน ,อุปกรณ์เกี่ยวเนื่องให้มีการเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยน แปลงที่จะเกิดขึ้น โดยมีการประเมินกันว่า จะมีการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในระบบการผลิต ไม่เพียงเท่านั้นทิศทางยานยนต์ยุค 4.0 ที่จะมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ ระบบออโตเมชันต่างๆและการขยับเข้าสู่รถยนต์ไฟฟ้า ล้วนแล้วแต่มีผลทำให้กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ และแรงงานในไทยต้องปรับตัวตาม

    แรงงานในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์มีความเสี่ยงคือค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ผลิตหันไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย,เมียนมา, เวียดนาม หรืออีกนัยหนึ่ง ต่อให้ค่าแรงไม่ขึ้น แต่แรงงานก็อาจจะตกงานเพราะการเข้าสู่ยุค 4.0 ที่เหล่าผู้ประกอบการจะนำออโตเมชัน, หุ่นยนต์ เข้ามาใช้มากขึ้น

    ทั้งนี้ก็สามารถเข้าใจการแบกรับภาระของทั้งสองฝ่ายได้ เพียงแต่ทุกอย่างต้องมีการปรับเปลี่ยน เปลี่ยนแปลง เอาตัวรอดตามสัญชาตญาณของนักลงทุนและผู้ใช้แรงงาน ในอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไรต่อไปกับอาชีพแรงงานเหล่านี้ อาจจะต้องติดตามกันต่อไป เพราะโลกตอนนี้เปลี่ยนไปไวมาก car2day ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนนะคะ


    บทความอื่น ๆ 

    ABOUT THE AUTHOR

    Latest Posts