บอร์ด BOI ได้อนุมัติให้สิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนของเอกชนที่ได้สร้างสถานีชาร์จไฟ EV โดยพวกเขาจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีนาน 3-5 ปี
น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ออกมาเปิดเผยผลการประชุมบอร์ด BOI ว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในการทำกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อสนับสนุนนักลงทุนรายเล็กและกลุ่มสตาร์ทอัพดังนี้ต่อไปนี้
- กรณีที่มีหัวจ่ายประจุไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 40 หัว โดยเป็นประเภทชาร์จเร็วไม่น้อยกว่า 25% ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี ส่วนกรณีอื่นๆ ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี
- ยกเลิกเงื่อนไขห้ามรับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานอื่น เนื่องจากการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าต้องอาศัยมาตรการหลายๆ ประการควบคู่กัน เพราะปัจจุบันยังมีจำนวนสถานีชาร์จไฟต่ำกว่าเป้าหมายมาก
- ยกเลิกเงื่อนไขการต้องได้รับรองมาตรฐาน ISO 18000 และปรับเงื่อนไขเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายหรือข้อกำหนดด้านมาตรฐานและความปลอดภัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- เพิ่มเงื่อนไขให้มีการเชื่อมต่อเข้ากับแพลตฟอร์มบูรณาการหรือแพลตฟอร์มส่วนกลางสำหรับการบริหารจัดการเครือข่ายระบบอัดประจุไฟฟ้า เพื่อเชื่อมโยงระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้าเข้าด้วยกัน
“การปรับปรุงสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขในครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็กหรือธุรกิจสตาร์ทอัพสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของ BOI ได้ง่ายขึ้น และสร้างระบบนิเวศน์รองรับการบริหารจัดการธุรกิจบริการอัดประจุไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการเลือกใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต” น.ส. ดวงใจ กล่าว
ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้อย่างน้อย 30% ของปริมาณการผลิตรถยนต์หรือ 750,000 คัน ภายในปี 2030
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานเป็นหน่วยงานหลักที่จะรับผิดชอบดำเนินการจัดทำแพลตฟอร์มบูรณาการหรือแพลตฟอร์มส่วนกลางสำหรับการบริหารจัดการเครือข่ายระบบอัดประจุไฟฟ้า เพื่อเชื่อมโยงระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดให้สามารถบริหารจัดการการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้เพียงพอต่อความต้องการ
นอกจากนั้นทางภาครัฐยังได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเล็กหรือธุรกิจสตาร์ทอัพสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ด้วย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น โดยการดำเนินงานต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดผลตามเป้าหมายที่กำหนด รวมถึงต้องมีการบูรณาการแผนการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางคมนาคมของกระทรวงคมนาคมให้สอดคล้องกับแผนการด้านพลังงานของกระทรวงพลังงาน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันจนเกิดผลเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายที่กำหนดไว้โดยเร็ว
อ้างอิง : thansettakij.com