More

    “ทางม้าลาย” เครื่องหมายจราจรที่ถูกมองข้าม เปิดกฎหมายที่ผู้ใช้งานและผู้ขับรถต้องรู้

    ทางม้าลาย คือ เครื่องหมายจราจรระดับสากล เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าคือจุดที่จัดไว้ให้ผู้คนเดินข้าม เพื่อความปลอดภัยของคนเดินถนน แต่ยังมีอีกหลายคนยังไม่เข้าใจถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับทางม้าลายว่าจะต้องใช้แบบไหนถึงจะถูก จะต้องปฏิบัติตัวอย่างหากต้องใช้ทางม้าลาย หรือต้องขับรถผ่านทางม้าลายนั้น วันนี้มาไขข้อข้องใจตรงนี้กันแบบหมดเปลือกกันเลยครับ

    ประโยชน์ของทางม้าลาย สำหรับคนเดินเท้า หากคุณขับรถแล้วพบทางม้าลาย จะต้องชะลอหรือเตรียมหยุดรถ โดยให้ห่างจากทางม้าลายในระยะ 4-5 เมตร เพื่อให้ทางแก่ผู้ที่จะข้ามได้เตรียมตัวเพื่อข้ามถนน และรอให้ผู้ที่ข้ามถนนถึงอีกฝั่งก่อนจึงค่อยขับรถผ่านไปได้ ในทางม้าลายบางจุดในบ้านเราจะมีไฟสัญญาณให้ข้าม และสัญญาณหยุดรถเพื่อให้คนข้าม ตรงนี้ให้สังเกตุให้ดีกันด้วยนะครับ

    กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทางม้าลาย

    โดยในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มีการระบุถึงกฎหมายการใช้ทางม้าลายเอาไว้หลากหลายมาตรา โดยมีรายละเอียดดังนี้

    • มาตรา 22  ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรที่ปรากฏข้างหน้า

    (4) สัญญาณจราจรไฟลูกศรสีเขียวชี้ให้เลี้ยวหรือชี้ให้ตรงไป หรือสัญญาณ จราจรไฟสีแดงแสดงพร้อมกับสัญญาณจราจรไฟลูกศรสีเขียวชี้ให้เลี้ยวหรือชี้ให้ตรงไป ให้ผู้ขับขี่เลี้ยวรถหรือขับรถตรงไปได้ตามทิศทางที่ลูกศรชี้ และต้องขับรถด้วยความระมัดระวัง “และต้องให้สิทธิแก่คนเดินเท้าในทางข้ามหรือรถที่มาทางขวาก่อน”

    หมายความตามในวรรคนี้คือ หากคุณขับรถแล้วต้องการเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา เมื่อเห็นสัญญาณไฟเขียวให้เลี้ยวได้ ให้เลี้ยวด้วยความระมัดระวัง และถ้าเห็นคนเดินข้ามถนนมาแล้ว ให้หยุดรถเพื่อให้ทางกับคนเดินถนนก่อน

    • มาตรา 46  ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถแซงเพื่อขึ้นหน้ารถอื่นในกรณีต่อไปนี้

    (2) “ภายในระยะ 30 เมตรก่อนถึงทางข้าม” ทางร่วมทางแยก วงเวียนหรือเกาะที่สร้างไว้ หรือทางเดินรถที่ตัดข้ามทางรถไฟ

    หมายความตามวรรคนี้คือ เมื่อเห็นทางม้าลายข้างหน้า ห้ามแซงเด็ดขาดในระยะ 30 เมตร

    • มาตรา 57 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่จอดรถ

    (4) ในทางข้าม หรือในระยะ 3 เมตรจากทางข้าม

    หมายความตามวรรคนี้คือ ห้ามจอดรถทับทางม้าลาย โดยนับจากเส้นไปก่อนและหลัง 3 เมตร เช่นเดียวกับเส้นเหลืองทแยงที่ระบุให้ห้ามจอด

    • มาตรา 70  ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถเข้าใกล้ทางร่วม ทางแยก ทางข้ามเส้นให้รถหยุด หรือวงเวียน ต้องลดความเร็วของรถ

    หมายความตามมาตรานี้คือ เมื่อเห็นทางม้าลาย ให้ชะลอความเร็วก่อนทุกครั้ง

    • มาตรา 104  ภายในระยะไม่เกิน 100 เมตร นับจากทางข้าม “ห้ามมิให้คนเดินเท้าข้ามทางนอกทางข้าม”

    หมายความตามมาตรานี้คือ ผู้ที่ต้องการข้ามถนน หากมีทางม้าลายหรือสะพานลอยในระยะ 100 เมตร ให้ข้ามตรงทางม้าลายหรือสะพานลอยเท่านั้น หากข้ามบริเวณอื่น มิเช่นนั้นจะโดนโทษปรับ

    • มาตรา 105 คนเดินเท้าซึ่งประสงค์จะข้ามทางเดินรถในทางข้ามที่มีไฟสัญญาณจราจรควบคุมคนเดินเท้า ให้ปฏิบัติตามไฟสัญญาณจราจรที่ปรากฏต่อหน้า ดังต่อไปนี้

    (1) เมื่อมีสัญญาณจราจรไฟสีแดง ไม่ว่าจะมีรูปหรือข้อความเป็นการห้ามมิให้คนเดินเท้าข้ามทางเดินรถด้วยหรือไม่ก็ตาม ให้คนเดินเท้าหยุดรออยู่บนทางเท้า บนเกาะแบ่งทางเดินรถหรือในเขตปลอดภัย เว้นแต่ทางใดที่ไม่มีทางเท้า ให้หยุดรอบนไหล่ทางหรือขอบทาง
    (2) เมื่อมีสัญญาณจราจรไฟสีเขียว ไม่ว่าจะมีรูปหรือข้อความเป็นการอนุญาตให้คนเดินเท้าข้ามทางเดินรถด้วยหรือไม่ก็ตาม ให้คนเดินเท้าข้ามทางเดินรถได้
    (3) เมื่อมีสัญญาณจราจรไฟสีเขียวกระพริบทางด้านใดของทาง ให้คนเดินเท้าที่ยังมิได้ข้ามทางเดินรถหยุดรอบนทางเท้า บนเกาะแบ่งทางเดินรถหรือในเขตปลอดภัย แต่ถ้ากำลังข้ามทางเดินรถให้ข้ามทางเดินรถโดยเร็ว
    ในมาตรานี้ ก็ให้คนเดินถนนที่ข้ามทางม้าลายตรงจุดที่มีสัญญาณไฟ เคารพสัญญาณอย่างเคร่งครัด ถ้าสัญญาณไฟแดงขึ้นก็ห้ามข้ามโดยเด็ดขาด ให้ข้ามได้เฉพาะสัญญาณไฟเขียว และถ้าสัญญาณไฟเขียวกระพริบแล้วตัวยังอยู่บนทางเท้าก็ห้ามข้าม ส่วนคนที่เดินลงไปบนถนนแล้วก็ให้รีบข้ามด้วยความรวดเร็ว

    การเดินถนน และการข้ามถนนในจุดที่มีทางม้าลายและไม่มีทางม้าลายที่ถูกวิธี 

    การเดินถนน

    1. บนถนนที่มีทางเท้าหรือฟุตบาทจัดไว้ ให้เดินอยู่ในขอบเขตสำหรับทางเท้า อย่าเดินชิดริมขอบถนนจนเกินไป ให้คอยมองสังเกตุรถที่วิ่งสวนหรือวิ่งมาจากด้านหลังอยู่เสมอ

    2. บนถนนที่ไม่มีทางเท้า ให้เดินชิดริมทางขวาของถนน หากมากกันหลายคน อย่าเดินคู่กัน ให้เดินแถวเรียงเดี่ยว และคอยสังเกตุรถอยู่เสมอ

    3. หากจะต้องเดินถนนพร้อมกับเด็กหรือผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ตั้งครรภ์ ให้จูงบุคคลเหล่านั้นไว้ด้านใน

    4. การเดินถนนในที่มืด ควรสวมเสื้อสีขาวหรือเสื้อที่สามารถมองเห็นได้ชัด ไม่ควรสวมเสื้อสีทึบ

    5. การเดินถนนที่ถูกต้องที่ควร คือ ควรเดินสวนกับทางรถ เพื่อที่จะให้เราสามารถมองหรือสังเกตุรถได้ชัดเจน แน่ชัดยิ่งขึ้น

    การข้ามถนน

    1. ก่อนข้ามถนนทุกครั้ง ต้องหยุดเดินที่ขอบถนน มองขวา มองซ้าย แล้วมองขวาอีกครั้งให้แน่ใจว่าไม่มีรถกำลังแล่นใกล้เข้ามาด้วยความเร็ว แล้วจึงจะข้ามได้ ให้เดินด้วยความเร็ว ห้ามวิ่งตรงพรวดเดียว เพราะอาจจะมีรถแทรกมาแล้วมองไม่เห็น ให้คอยสังเกตุเลนที่รถวิ่งมาตลอดการข้าม

    2. ถ้าบริเวณที่จะข้ามถนนมีช่องข้าม (ทางม้าลาย) ต้องข้ามตรงช่องทางม้าลายเท่านั้น และคอยสังเกตุเหมือนข้อที่ 1

    3. อย่าข้ามถนนโดยออกจุดอับ ที่รถมองไม่เห็นตัวเรา เช่น ออกจากซอยที่รถจอดอยู่ หรือตู้ไฟบังตัวเราอยู่

    4. การข้ามถนนที่รถเดินทางเดียว ต้องหยุดให้แน่ใจเสียก่อนว่ารถ แล่นมาจากไหนและมีความปลอดภัยพอหรือยังจึงข้ามได้

    5. ถนนที่มีเกาะกลางถนนต้องข้ามทีละครึ่งถนน โดยข้ามครั้งแรก ไปพักที่เกาะกลางถนนเสียก่อน หลังจากนั้นดูรถให้แน่ใจตามข้อที่ 1  จึงข้ามไปได้อีกครึ่งทางต่อไป

    6. ช่วงเวลากลางคืน ควรไปข้ามในจุดที่มีไฟส่องสว่าง

    การข้ามถนนในช่องข้ามทางหรือทางม้าลาย

    1. คนเดินเท้าที่กำลังเดินข้ามถนนในทางม้าลายมีสิทธิที่จะข้ามก่อนรถจะมาถึง เพราะตามกฎหมายต้องหยุดให้คนข้ามถนนในช่องข้ามทาง แต่จะต้องระวังให้โอกาสแก่รถที่ชะลอความเร็วไม่ทันหรือหยุดรถไม่ทัน

    2. ถึงแม้ผู้ขับรถจะหยุดให้คนเดินข้าม แต่ผู้ข้ามจะต้องข้ามด้วยความระมัดระวัง มองขวา-ซ้าย ตลอดเวลา เพราะอาจมีผู้ขับขี่ขับแทรกแซงรถที่หยุดอยู่ขึ้นมาได้

    3. การข้ามถนนในช่องทางข้ามที่บริเวณทางแยก ให้ระวังรถที่จะเลี้ยว มาจากทางเลนนั้น ๆ ด้วย

    4. ถ้ามีเกาะกลางถนนทำไว้ที่ทางม้าลาย ให้ข้ามถนนไปทีละครึ่ง โดยพักรออยู่บนเกาะ มองขวา มองซ้าย เมื่อปลอดภัยแล้วจึงข้ามไป ดังนั้น ถ้าท่านกำลังข้ามถนนอยู่ ถ้าเห็นรูปคนสีเขียวกะพริบขึ้นสัญญาณไฟ ก็ให้รีบข้ามถนนโดยเร็ว ข้อสำคัญอย่าก้าวลงไปข้ามถนน เมื่อเห็นรูปสัญญาณข้ามสีเขียวกะพริบเป็นอันขาด เพราะจะข้ามถนนได้ไม่พ้นทางและอาจเกิดอุบัติเหตุได้

    Pedestrian crossing with a yellow traffic lights and a time counter for pedestrians

    กฎหมายจราจรดังกล่าวนี้เพื่อบังคับใช้ทั้งคนขับรถยนต์และขี่มอเตอร์ไซค์รวมถึงคนข้ามถนน ให้เกิดความปลอดภัยในการใช้งาน เพื่อลดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด ซึ่งนอกจากความระมัดระวังแล้วผู้ใช้ถนนทุกคนก็ต้องมีน้ำใจต่อกันและกัน ไม่ประมาทด้วยกันทั้งสองฝ่าย


    บทความที่เกี่ยวข้อง

     

    ABOUT THE AUTHOR

    Latest Posts