More

    8 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการขับรถที่คนส่วนใหญ่อาจไม่รู้

    แม้การขับรถจะเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันของหลายคน แต่ก็มีพฤติกรรมบางอย่างที่เกิดจากความเข้าใจผิด ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย แต่ยังอาจเป็นการละเมิดกฎหมายจราจรโดยไม่รู้ตัว บทความนี้จะพาคุณไปสำรวจ 8 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการขับรถ เพื่อช่วยให้การเดินทางของคุณปลอดภัยและถูกต้องมากขึ้น

    1. เปิดไฟ “ฉุกเฉิน” ขณะผ่านทางแยกหรือฝนตกหนัก

    การเปิดไฟฉุกเฉินในสถานการณ์ที่ไม่ใช่การจอดรถเสีย หรืออยู่ในภาวะฉุกเฉิน ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อผ่านทางแยกหรือฝนตกหนัก ไฟฉุกเฉินไม่ได้ช่วยบอกทิศทางการเคลื่อนที่ของรถ และยังส่งผลให้รถคันอื่น ๆ เข้าใจผิดจนทำให้เกิดอุบัติเหตุได้อีกด้วย

    2. ขับรถเร็วแล้ววิ่งแช่ขวาได้

    เลนขวาถูกออกแบบให้เป็นเลนสำหรับแซงเท่านั้น ไม่ใช่เลนสำหรับการขับขี่ตลอดเวลา แม้ว่าคุณจะขับรถด้วยความเร็วสูงก็ตาม การวิ่งแช่ขวานอกจากจะเป็นการขัดขวางการจราจรแล้วยังผิดกฎหมายอีกด้วย หากไม่มีเหตุจำเป็น ควรกลับเข้าช่องซ้ายหลังแซงเสร็จ

    3. ใส่เกียร์ “P” เมื่อติดสัญญาณไฟ

    8 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการขับรถ

    สำหรับรถเกียร์อัตโนมัติ หลายคนเข้าใจว่าการใส่เกียร์ “P” (Park) ขณะจอดติดไฟแดงเป็นเรื่องปกติ แต่ในความจริง การใส่เกียร์ “P” อาจทำให้ชุดเกียร์สึกหรอเร็วขึ้น หากมีการกระแทกหรือการเคลื่อนตัวกระทันหัน ควรเปลี่ยนเป็นเกียร์ “N” (Neutral) และดึงเบรกมือแทน

    4. ใช้เกียร์ว่างเมื่อขับรถลงทางลาดชัน

    หลายคนคิดว่าการใช้เกียร์ว่างขณะลงทางลาดชันนั้นช่วยประหยัดน้ำมัน แต่บอกเลยว่าเป็นพฤติกรรมที่เสี่ยงอันตรายมาก ๆ เพราะทำให้ไม่สามารถใช้เครื่องยนต์ช่วยเบรก (Engine Brake) ได้ ส่งผลให้เบรกทำงานหนักและอาจเกิดปัญหาเบรกเฟด (Brake Fade) ซึ่งอาจนำไปสู่การควบคุมรถไม่ได้

    5. ถึงวงเวียนก่อนได้ไปก่อน

    ตามกฎหมายจราจรไทย รถที่อยู่ในวงเวียนมีสิทธิ์ไปก่อนเสมอ ไม่ว่าจะถึงก่อนหรือหลัง การไม่ให้ทางรถในวงเวียนอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุและเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นควรหยุดรอและให้สิทธิ์แก่รถในวงเวียนก่อนเสมอ

    6. แซงไหล่ทาง

    หลายคนมักคิดว่าการแซงไหล่ทางช่วยประหยัดเวลา แต่ในความจริง การกระทำนี้ไม่เพียงแต่ผิดกฎหมาย ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะหากมีรถที่จอดเสียหรือคนเดินอยู่บริเวณไหล่ทาง

    7. นั่งชิดพวงมาลัยมาก ๆ ขับรถได้ถนัดขึ้น

    การนั่งชิดพวงมาลัยจนเกินไปไม่เพียงทำให้เคลื่อนไหวได้ลำบากในกรณีฉุกเฉิน แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากถุงลมนิรภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ควรปรับเบาะให้อยู่ในระยะที่มือจับพวงมาลัยได้สะดวก โดยยังมีระยะห่างที่เหมาะสม

    8. พบรถฉุกเฉินอยู่นิ่ง ๆ เดี๋ยวก็แซงไปเอง

    เมื่อพบรถฉุกเฉิน เช่น รถพยาบาล หรือรถตำรวจ หลายคนมักนิ่งเฉยและคิดว่ารถฉุกเฉินจะแซงไปเอง การกระทำเช่นนี้อาจทำให้การช่วยเหลือผู้ป่วยหรือเหตุการณ์ฉุกเฉินล่าช้า สิ่งแรกที่ควรทำคือ ให้สัญญาณไฟเลี้ยวในทิศทางที่ต้องการจะหลบ และเมื่อดูว่าปลอดภัย ต้องรีบหลบหรือเบี่ยง เพื่อให้ทางแก่รถฉุกเฉินผ่านไปได้อย่างปลอดภัย

    การขับรถอย่างปลอดภัยไม่เพียงแค่ต้องมีทักษะที่ดีเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับกฎจราจรและพฤติกรรมการขับขี่ หวังว่าความเข้าใจผิดที่ถูกแก้ไขในบทความนี้จะช่วยให้คุณขับรถได้อย่างมั่นใจและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

    บทความที่น่าสนใจ
    เช็กด่วน! คำต้องห้ามในสนามบินและบนเครื่องบิน ที่ไม่ควรพูดเด็ดขาด
    เปิดลิสต์ สีรถถูกโฉลกตามวันเกิด เสริมดวงรับปี 2568

    ABOUT THE AUTHOR

    Latest Posts