นับตั้งแต่ Formula 1 เปลี่ยนคอนเซ็ปต์รถมาใช้การสร้าง Downforce จาก Ground Effect พวกเขาต้องพบกับปัญหาอีกหนึ่งอย่างที่ตามมาหลอกหลอนจนถึงทุกวันนี้ นั่นก็คือ การกระดอน (Porpoising)
ทุก ๆ ทีมนั้นประสบปัญหากับการกระดอน แต่จะแตกต่างกันแค่เพียงว่าแต่ละทีมนั้นจะเจอกับปัญหามากน้อยเพียงใด เหล่านักแข่งเองก็มีการบ่นออกมาเป็นระยะ ๆ โดยพวกเขากล่าวว่าปัญหานี้ได้ส่งผลต่อความปลอดภัยและสุขภาพของพวกเขา นั่นจึงทำให้ FIA ตัดสินใจเข้ามาแทรกแซง
แรกเริ่มนั้น FIA ได้ทำการกำหนด Aerodynamic Oscillation Metric (AOM) ที่จะเป็นตัวชี้วัดการกระดอนในรถแต่ละคัน ซึ่งพวกเขาจะเริ่มการใช้ AOM ตั้งแต่ Belgian Grand Prix เป็นต้นไป แต่ในปี 2023 พวกเขามีแผนการเปลี่ยนแปลงกฎด้านเทคนิคที่น่าจะให้ผลดีในการลดการกระดอนลงได้มากกว่าเดิม
แผนการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ถูกพูดคุยกันไปแล้วในระหว่างการประชุมของคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านเทคนิค F1 และเตรียมที่จะส่งเรื่องให้สภากีฬายานยนต์โลกในความควบคุมของ FIA ให้ทำการประทับตราอนุมัติ
FIA นั้นตั้งเป้าที่จะลดการกระดอนโดยการยกระดับความสูงจุดที่อยู่ต่ำสุดบนรถในบางจุดขึ้น นั่นรวมถึงการยกส่วนหน้าของ Diffuser ขึ้น และขอบพื้นรถเองก็จะถูกยกขึ้นมา 25 มิลลิเมตร นอกจากนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ทีมแข่งใช้พื้นรถที่มีความยืดหยุ่นมากเกินไป FIA จะมีการใช้การทดสอบการโก่งตัวของพื้นรถที่เข้มงวดยิ่งขึ้นอีกด้วย
ในส่วนของการตรวจสอบนั้น FIA จะริเริ่มการใช้งานเซนเซอร์ที่มีความแม่นยำยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อจับตาดูการแกว่งในเชิงปริมาณตามหลักอากาศพลศาสตร์ของรถอย่างใกล้ชิด
ทางทีมแข่งเองยังได้รับคำแนะนำจาก FIA ให้ใช้ครีบขนาดใหญ่ 2 ครีบ ติดอยู่ภายใน Diffuser ซึ่งเชื่อว่ามันจะช่วยลดปัญหาทางอากาศพลศาสตร์ที่มากับกฎด้านเทคนิคใหม่ในปี 2022
การเปลี่ยนแปลงที่ FIA นำเสนอนี้มีความคล้ายคลึงกับการเปลี่ยนแปลงกฎด้านเทคนิคในปี 2021 เนื่องจากทีมแข่งนั้นพยายามที่จะผลักดันการออกแบบให้ถึงขีดจำกัด จนบางครั้งมันค่อนข้างที่จะเลยเถิดไปยังจุดที่เริ่มจะต้องกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย
นอกจากนั้น ช่วงเวลาที่ FIA นำเสนอการแก้ไขในปี 2023 ยังอยู่ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับที่พวกเขานำเสนอในปี 2021 ซึ่งนั่นยังพอทำให้ทีมแข่งมีเวลาในการปรับตัวและวางแผนการพัฒนารถของตัวเองใหม่
อ้างอิง : motorsport.com