พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ที่ต้องต่อเป็นประจำทุกปี รู้หรือไม่ว่าหากเกิดอุบัติเหตุไม่ว่าจะเป็นฝ่ายถูกหรือผิด สามารถเบิกค่าคุ้มครองอะไรได้บ้าง
ความสำคัญของ พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์
พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ หรือ พ.ร.บ. มอเตอร์ไซค์ เปรียบเสมือนการทำประกันภัยชนิดหนึ่งที่สามารถใช้เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ โดยจะอยู่ในความดูแลของบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ซึ่งประกันภัยภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ. นั้นจะให้ความคุ้มครองแค่ตัวบุคคล ไม่รวมทรัพย์สินอื่น ๆ เช่น มอเตอร์ไซค์ รถยนต์ หรือสิ่งของต่าง ๆ ที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุ
มีความผิดอย่างไรหากไม่ต่อ พ.ร.บ. จักรยานยนต์
การขับขี่มอเตอร์ไซค์ที่ไม่มีหรือยังไม่ได้ต่อ พ.ร.บ. หากถูกเจ้าหน้าที่เรียกตรวจจะมีความผิดและมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และหากต่อ พ.ร.บ. เรียบร้อยแล้วแต่ไม่แสดงเครื่องหมายหรือติดป้ายสี่เหลี่ยมแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ก็จะมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ สามารถเบิกอะไรได้บ้าง
หากเกิดอุบัติเหตุ พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์จะให้ความคุ้มครองในเบื้องต้นทันที โดยยังไม่ต้องมีการพิสูจน์ความผิด รวมไปถึงการเกิดอุบัติเหตุแบบไม่มีคู่กรณี เช่น ล้มเอง หรือเฉี่ยวชนกับสิ่งกีดขวางบนท้องถนน ทำให้ผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารบาดเจ็บหรือเสียชีวิต พ.ร.บ. จะให้ความคุ้มครอง ดังนี้
- เบิกค่ารักษาพยาบาลตามค่าใช้จ่ายจริง ในวงเงินไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน
- หากเสียชีวิต ทุพพลภาพ หรือสูญเสียอวัยวะ จะได้รับเงินชดเชย 35,000 บาทต่อคน
- หากเสียชีวิต ทุพพลภาพ หรือสูญเสียอวัยวะตามมาภายหลังเข้ารับการรักษา จะได้รับเงินชดเชยสูงสุด 65,000 บาท
กรณีเกิดอุบัติเหตุ แล้วว่าเป็นฝ่ายถูก
เมื่อพิสูจน์แล้วว่าอุบัติเหตุในครั้งนี้เราเป็นฝ่ายถูก พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์จะจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมซึ่งครอบคลุมตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ดังนี้
- ค่ารักษาพยาบาลตามค่าใช้จ่ายจริง ในวงเงินไม่เกิน 80,000 บาท
- หากเสียชีวิต หรือทุพพลภาพ จะได้รับเงินชดเชย 300,000 บาท
- หากสูญเสียอวัยวะ จะแบ่งออกเป็น
– นิ้วขาด 1 ข้อขึ้นไป ชดเชย 200,000 บาท
– สูญเสียอวัยวะ 1 ส่วน ชดเชย 250,000 บาท
– สูญเสียอวัยวะ 2 ส่วน ชดเชย 300,000 บาท
- หากต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือผู้ป่วยใน จะได้รับเงินชดเชยวันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน
เบิก พ.ร.บ. จักรยานยนต์ ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง หรือหลักฐานอื่นใดที่ทางราชการออกให้ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ที่มีชื่อในหลักฐานนั้นเป็นผู้ประสบภัย
2. ใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาล
เอกสารการเบิกค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยใน
1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง หรือหลักฐานอื่นใดที่ทางราชการออกให้ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ที่มีชื่อในหลักฐานนั้นเป็นผู้ประสบภัย
2. ใบแจ้งหนี้ค่ารักษาพยาบาล หรือใบสรุปหน้างบ หรือหนังสือรับรองการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในจากโรงพยาบาล
กรณีทุพพลภาพถาวร หรือสูญเสียอวัยวะ
1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง หรือหลักฐานอื่นใดที่ทางราชการออกให้ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ที่มีชื่อในหลักฐานนั้นเป็นผู้ประสบภัย
2. ใบรับรองแพทย์หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้นั้นได้รับความเสียหายเพราะประสบภัยจากรถ และหลักฐานรับรองแสดงถึงการสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร เช่น หนังสือรับรองความพิการ
3. สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน
กรณีเสียชีวิต
1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง หรือหลักฐานอื่นใดที่ทางราชการออกให้ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ที่มีชื่อในหลักฐานนั้นเป็นผู้ประสบภัย
2. ใบมรณบัตร
3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของทายาทและบัตรประจำตัวประชาชนของทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย
4. สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน และ/หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้นั้นถึงแก่ความตายเพราะประสบภัยจากรถ
การจ่ายค่าเสียหายของบริษัทประกันภัยจะจ่ายให้กับตัวผู้เสียหายที่แท้จริงเท่านั้น หากผู้เสียหายนั้นไม่สามารถมาดำเนินการด้วยตนเองได้ สามารถมอบอำนาจให้กับบุคคลใดที่ไว้วางใจให้มากระทำการแทนได้ โดยต้องมีหนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ การจ่ายค่าเสียหายนั้นทางบริษัทประกันภัยจะจ่ายเป็นเช็คชื่อผู้ประสบภัยที่แท้จริง เว้นแต่กรณีที่ผู้ประสบภัยเสียชีวิต บริษัทประกันภัยจะจ่ายเช็คให้กับทายาทโดยธรรมตามกฎหมายเท่านั้น
ทั้งนี้ พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ถือว่ามีความสำคัญมากหากเกิดอุบัติเหตุไม่ว่าคุณจะเป็นฝ่ายถูกหรือผิด เพราะจะให้ความคุ้มครองรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทุกกรณี รวมถึงเงินชดเชยกรณีทุพพลภาพถาวร สูญเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิต หากพิสูจน์แล้วว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เป็นฝ่ายถูกยังได้รับเงินสินไหมทดแทนเพิ่มเติมอีกด้วย อย่างไรก็ดี แม้จะมี พ.ร.บ. ที่ให้ความคุ้มครองแต่ก็เป็นสิทธิ์ที่ไม่ควรใช้ เราควรขับขี่มอเตอร์ไซค์หรือยานพาหนะต่าง ๆ ด้วยความระมัดระวัง สวมหมวกกันน็อก คาดเข็มขัดนิรภัย ใช้ความเร็วตามกฎหมายกำหนด เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุนะคะ