ทุกวันนี้เทคโนโลยีในรถยนต์ได้ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว พวกมันถูกคิดค้นขึ้นเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ไม่เพียงเท่านั้น แม้กระทั่งระบบการทำงานในโรงงานและการผลิต หลายๆ สิ่งนั้นเกิดขึ้นจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะมีสิ่งไหนบ้างเราลองมาดูกันเลย
ระบบไลน์ผลิตแบบ Toyota
เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีพื้นที่จำกัด ดังนั้นในปี 1948 Toyota จึงได้ริเริ่ม “Toyota Production System” โดยมีเป้าหมายที่จะลดทอนความสิ้นเปลืองเสียเปล่า ในขณะที่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตขึ้น
ระบบนั้นก็ไม่มีอะไรยุ่งยากซับซ้อนตามสไตล์ญี่ปุ่น พวกเขาแค่ต้องสต็อกชิ้นส่วนเท่าที่จำเป็นโดยการจัดทำรายการและช่วงเวลาที่มักจะใช้ในแต่ละชิ้นส่วน นั่นทำให้พวกเขาไม่เปลืองพื้นที่ในการจัดเก็บสต็อกสินค้า อีกทั้งยังลดจำนวนคนที่จะต้องดูแลและจัดการกับชิ้นส่วนเหล่านั้น ทำให้สามารถโยกย้ายแรงงานไปทำอย่างอื่นที่จำเป็นได้ซึ่งเป็นการเพิ่มผลผลิตในอีกทาง แนวคิดนี้ทางญี่ปุ่นได้รับแรงบันดาลใจมาจากซุปเปอร์มาร์เก็ตในอเมริกาที่ผู้จับจ่ายใช้สอยนั้นสามารถเลือกซื้อสินค้าต่างๆ ที่พวกเขาต้องการ โดยที่สินค้าเหล่านั้นจะถูกเติมสต็อกให้เต็มอยู่เสมอ
ในปี 1990 ฝั่งอเมริกาได้เริ่มนำกระบวนการนี้มาใช้บ้าง โดย Ford ได้เป็นผู้นำในการนำกระบวนการผลิตแบบ Toyota มาใช้กับไลน์ผลิต Taurus
กรองน้ำมัน
จริงๆ แล้วตัวกรองน้ำมันนั้นไม่ได้ถูกคิดค้นขึ้นในญี่ปุ่น แต่ก็ไม่มีใครนำมันมาต่อยอดจนกระทั่ง Toyota ได้ทำให้ระบบเกิดประสิทธิภาพเต็มพิกัด
เครื่องยนต์ในรถอเมริกันสมัยก่อนนั้นจะถูกกรองน้ำมันเพียง 10% ทำให้มันมีอายุการใช้งานเพียง 80,000 km เท่านั้น แต่ Toyota ได้พัฒนาระบบใหม่จนสามารถที่จะกรองน้ำมันในเครื่องยนต์ได้ 100% ส่งผลให้เครื่องยนต์มีอายุการใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า อีกทั้งเครื่องยนต์ที่สะอาดนั้นทำให้พวกเขาสามารถออกแบบเครื่องยนต์ให้มีพิกัดความเผื่อที่ฟิตขึ้น ซึ่งมันช่วยปรับปรุงสมรรถนะและประสิทธิภาพไปในตัว
ระบบนำทาง
ญี่ปุ่นนั้นไม่เพียงแต่ปฏิวัติวิธีการผลิตรถยนต์เท่านั้น แต่ยังปรับเปลี่ยนวิธีที่เราใช้รถในชีวิตประจำวันอีกด้วย สิ่งที่เราจะพูดถึงในหัวข้อนี้คือ ระบบนำทางบนรถ
แนวคิดระบบนำทางบนรถนั้นถูกเผยแพร่ครั้งแรกในหนังจารชนสายลับ 007 กับรถ Aston Martin DB5 แต่กลับเป็น Honda ที่นำแนวคิดนี้มาต่อยอดและใส่เข้ามาในรถ Honda Accord ปี 1981ถึงแม้ว่ามันจะเป็นออพชั่นที่ต้องเพิ่มเงินถึง $2,746 ในตอนนั้น
ในปี 1982 Honda พบว่าไจโรสโคปที่ใช้ฮีเลียมบนแดชบอร์ดนั้นไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับแผนที่แบบพกพา แต่ก็เรียกได้ว่าพวกเขาได้นำร่องบุกเบิกในการใช้งานระบบนำทาง จนมาถึงระบบนำทางด้วย GPS ซึ่งถูกเปิดตัวเป็นครั้งแรกใน 1991 Toyota Soarer (Lexus SC400 ในสหรัฐฯ) และฝั่งอเมริกาก็เดินรอยตามโดยการนำเสนอระบบนำทาง “Guide Star” ใน 1995 Oldsmobile 88
กล้องมองจุดอับสายตา
ความปลอดภัยจากการชนนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกๆ ค่ายรถยนต์ให้ความใส่ใจเป็นอันดับหนึ่ง รถทุกคันนั้นถูกออกแบบให้มีความแข็งแรงปลอดภัยเพิ่มขึ้น ยังผลให้มันมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นในทุกมิติ อีกทั้งเสาหลังคาก็มีความหนาขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้หลังคายุบลงมาในขณะที่รถกลิ้ง แน่นอนว่านั่นทำให้เพิ่มจุดอับสายตาขึ้นมา แต่ญี่ปุ่นมีทางออกสำหรับปัญหานั้น
ญี่ปุ่นนั้นขึ้นชื่อในการเป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยีการบันทึกภาพอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่วิศวกรชาวญี่ปุ่นจะติดตั้งกล้องขนาดเล็กด้านหลังของรถ หรือก็คือกล้องมองหลังที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนั่นเอง พวกเขาใส่มันเข้าไปใน 1991 Toyota Soarer ที่มีหน้าจอระบบนำทางอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากที่พวกเขาจะทำการเชื่อมต่อระบบเพิ่มเติม
นอกจากนั้นด้วยหน้าจอที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานหลายอย่าง พวกเขาจึงพัฒนาให้มันเป็นระบบหน้าจอสัมผัส ซึ่งหน้าจอสัมผัสนี้เองเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่ารถทุกคันต้องมีในปัจจุบัน
ไมโครชิป
ในเคสนี้ Ford เป็นค่ายแรกที่นำไมโครชิปมาใช้ในรถ แต่คุณรู้หรือไม่ว่าไมโครชิปที่ Ford ใช้ถูกผลิตโดย Toshiba ในญี่ปุ่น
ไมโครชิปนั้นควบคุมระบบปฏิบัติการบนรถแทบจะทั้งหมด ทั้งระบบการจ่ายเชื้อเพลิง, การเปลี่ยนเกียร์, Traction Control, ช่วงกำลังของเครื่องยนต์, กลอนประตู, และแม้กระทั่งแป้นคันเร่ง พูดได้เลยว่าถ้าไม่มีไมโครชิปก็จะไม่มีเทคโนโลยียานยนต์ในปัจจุบัน
อ้างอิง : carscoops.com