More

    ทำไมนักบิด MotoGP ยุคปัจจุบัน ถึงไม่มีความสม่ำเสมอ?

    ทุกวันนี้ เราจะเห็นได้ว่า นักบิด MotoGP ไม่ได้มีการผูกขาดชัยชนะเหมือนอย่างในอดีต มันเป็นแบบนั้นได้อย่างไร? หรือเป็นเพราะว่านักบิดในยุคปัจจุบันไม่มีความสม่ำเสมอในระดับเดียวกับนักบิดในสมัยก่อน?

    เชื่อว่าแฟน ๆ MotoGP หลายคนที่ติดตามการแข่งขันมานานเกินกว่า 5 ปี อาจจะสับสนกับสถานการณ์ของนักบิดในปัจจุบัน เหตุไฉนนักบิดคนหนึ่งถึงมีสุดสัปดาห์การแข่งขันที่ดีในระดับลุ้นแชมป์สนามได้ แต่ในสุดสัปดาห์การแข่งขันถัดมา นักบิดคนเดิมกลับร่วงลงไปวิ่งอยู่ในอันดับแค่ 10 กว่า ๆ หรือว่าพวกเขาขี้เกียจ ไม่ทุ่มเทเหมือนกับนักบิดในอดีต? หรือมันมีเหตุผลอะไรที่แอบซ่อนอยู่มากกว่านั้น?

    ในปี 2020 Joan Mir คว้าแชมป์โลกด้วยการเก็บคะแนนเพียง 49 เปอร์เซ็นต์ จากคะแนนที่มีให้ทั้งหมดในหนึ่งฤดูกาล Fabio Quartararo คว้าแชมป์โลกในปีถัดมาด้วยการเก็บคะแนน 62 เปอร์เซ็นต์ จากคะแนนที่มีให้ทั้งหมด และ Francesco Bagnaia แชมป์โลกคนล่าสุดเก็บคะแนนไปได้ 53 เปอร์เซ็นต์ จากคะแนนที่มีให้ทั้งหมด ทำให้คะแนนเฉลี่ยใน 3 ปีล่าสุด ตกไปอยู่ในระดับเดียวกับยุคแรกเริ่มที่พึ่งมีการก่อตั้งวงการ

    Wayne Rainey

    หากเปรียบเทียบตัวเลขเหล่านี้กับยอดนักบิดแต่ละคนที่ถล่มคู่แข่งในช่วงเวลาของตัวเอง Wayne Rainey แชมป์โลก 3 สมัย เก็บคะแนนไปได้ 85 เปอร์เซ็นต์ ในปี 1990 Mick Doohan แชมป์โลก 5 สมัย กดคะแนนไปได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ในปี 1997 Valentino Rossi ในยุคต้น 2000 กับปี 2003 เก็บคะแนนไป 89 เปอร์เซ็นต์ Casey Stoner ในยุค 2010 (ปี 2011) คว้าแชมป์โลกไปด้วยคะแนน 82 เปอร์เซ็นต์ Jorge Lorenzo ที่แย่งแชมป์โลกกับ Rossi อย่างดุเดือดในปี 2015 ก็ยังเก็บคะแนนไปได้ถึง 73 เปอร์เซ็นต์ และคนสุดท้ายที่ทำแบบนั้นได้คือ Marc Márquez กับตัวเลข 88 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2019

    เมื่อมีการถล่มคู่แข่งยับจนทำให้ฤดูกาลแข่งขันรู้ตัวแชมป์โลกเร็วเกินไป นั่นไม่ส่งผลดีต่อ Dorna เนื่องจากความตื่นเต้นที่หายไปทำให้ความสนใจจากผู้ชมลดลง เป็นผลให้กำไรของพวกเขาหายไปด้วยเช่นกัน Dorna จึงได้พยายามหาวิธีที่จะทำให้รถแข่งแต่ละคันมีศักยภาพที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น ตั้งแต่การจำกัดความกว้างกระบอกสูบ 81 มิลลิเมตร ยางยี่ห้อเดียวที่เป็นสเปกเดียวกัน ไปจนถึงระบบอิเล็กทรอนิกส์กลาง

    และเมื่อตัวรถมีความใกล้เคียงกันมากขึ้น จึงทำให้นักบิดแต่ละคนที่มีฝีมือและความเป็นมืออาชีพที่ใกล้เคียงกัน ได้แสดงศักยภาพของตัวเองออกมาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การทำเวลาต่อรอบ หรือการต่อสู้เพื่อแย่งชิงตำแหน่งในการแข่งขัน

    นักบิด MotoGP

    ในปีนี้ เราได้ผลการแข่งขัน 15 อันดับแรกที่ผ่านเส้นชัยใกล้เคียงกันมากที่สุดถึง 2 สนาม นั่นคือ กาตาร์ และ ออสเตรเลีย โดยที่ออสเตรเลีย 10 อันดับแรกนั้นผ่านเส้นชัยต่างกันเพียงแกป 5 วินาที เท่านั้น

    เมื่อเทียบกับ 20 กว่าปีก่อน Australian GP 1997 ผู้ชนะนั้นทิ้งห่างอันดับ 10 ไปถึง 36.8 วินาที หรือคิดเป็นความแตกต่างต่อรอบ 1.36 วินาที ระหว่างผู้ชนะกับอันดับ 10 ในขณะที่ในปีนี้ ความแตกต่างของเวลาต่อรอบระหว่าง Alex Rins ผู้ชนะ กับ Brad Binder อันดับ 10 อยู่ที่ 0.22 วินาที เท่านั้น

    ด้วยความที่การแข่งขันมีความดุเดือดสูสีมากขึ้น นั่นทำให้เกิดสถานการณ์ที่ยากลำบากกับนักบิดและวิศวกร เพราะถ้าหากพวกเขาไม่สามารถที่จะดึงศักยภาพของตัวรถออกมาได้ทุกส่วน หรือสร้างความผิดพลาดในการทำงานแม้แต่จุดเดียว พวกเขาอาจจบการแข่งขันแบบหลุดออกจากท็อป 10 ไปเลยก็เป็นได้

    นี่คือสิ่งที่ผิดกับการแข่งขันในสมัยก่อนที่ไม่มีความสูสีในระดับที่กะพริบตาครั้งเดียวก็เห็นความแตกต่าง อย่างเช่น Alex Crivillé ซึ่งชนะการแข่งขัน Australian GP 1997 หากนักบิดสแปนิชขี่ช้าลง 0.22 วินาที/รอบ เขาก็ยังคงสามารถจบการแข่งขันในอันดับ 3 ได้อยู่ดี และทิ้งห่างนักบิดที่ตามมาได้ถึง 22 วินาที

    แต่ถ้าหากสถานการณ์ข้างต้นเกิดขึ้นกับการแข่งขัน Australian GP ในปีนี้ เขาจะหลุดจากอันดับที่มีคะแนนไปจบการแข่งขันในอันดับ 19 เลยทีเดียว

    การแข่งขันที่ขับเคี่ยวสูสียังได้สร้างสถานการณ์ที่ยากลำบากกับนักบิดอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือพวกเขาต้องเค้นศักยภาพทุกอย่างของตัวเองออกมาหากพวกเขาต้องการไล่ล่าชัยชนะ และนั่นหมายถึงความเสี่ยงที่จะเกิดการล้มมากยิ่งขึ้น

    นักบิด MotoGP

    “มันเป็นเรื่องของระดับการแข่งขัน ทุกคนขี่อยู่ในระดับที่สูงเกินไป” Jack Miller นักบิดสังกัด Ducati กล่าว “การทำความเร็วในแต่ละสุดสัปดาห์การแข่งขันเพื่อให้คุณอยู่ในระดับที่แข่งขันได้นั้นมันยากกว่าในอดีต”

    “ในอดีตถ้าคุณมีสุดสัปดาห์ที่ย่ำแย่ คุณก็แค่อาจจะจบการแข่งขันอันดับ 4 หรือ 5 และเมื่อผ่านไปยังสุดสัปดาห์ถัดไป รถของคุณก็อาจจะกลับมา ดังนั้นคุณจึงไม่ต้องขี่เกินขีดจำกัดของตัวเอง แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่ คุณต้องขี่ให้ทะลุขีดจำกัดของตัวเอง และนั่นนำมาซึ่งความไม่สม่ำเสมอ”

    ทางด้าน Paul Trevathan หัวหน้าช่างของ Miguel Oliveira นักบิดสังกัด KTM ก็ได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับรายละเอียดทางเทคนิค

    “เราเริ่มมีความเข้าใจมากขึ้นกับยางและ ECU กลาง ในกรณีของยาง ผมคิดว่ามันเริ่มจะเป็นอย่างนี้เมื่อ Michelin นำยางหลังใหม่มา (ในปี 2020) ในตอนนี้มันมีการยึดเกาะที่มากขึ้นและตัวเนื้อยางที่อ่อนลง ซึ่งนักบิดบางคนสามารถปรับตัวได้ แต่บางคนก็ไม่ เช่น Valentino (Rossi) นักบิดอย่างเขาชอบยางที่แข็งแรง ยางที่แข็งพอที่จะให้ความรู้สึกส่วนท้ายของรถ ไม่ใช่นุ่มนิ่มและมีผิวสัมผัสเต็มหน้าแทร็คแบบนี้ ดังนั้นสำหรับเขาแล้ว มันก็เลยจบลง” Paul Trevathan กล่าว

    “ยางนั้นได้เปลี่ยนแปลงหลายสิ่ง เราจึงต้องเปลี่ยนแปลงตัวรถเพื่อดึงศักยภาพของยางออกมา และเพราะเราเก็บสั่งสมประสบการณ์มากขึ้น ในตอนนี้ผมเลยคิดว่าทุก ๆ คนก็น่าจะดึงศักยภาพทุก ๆ อย่างออกมาจากตัวรถกันหมดแล้ว ดังนั้นมันเลยทำให้การแข่งขันอยู่ในระดับเดียวกัน”

    “ผมคิดว่าวงการของเราไม่เคยขาดซึ่งนักบิดที่มีความสามารถ ความกระหายที่จะชนะจากทั้งค่ายผู้ผลิตและนักบิดต่างยังคงมีอยู่ในยุคนี้ เพียงแต่มันเป็นผลที่ตามมาของสิ่งต่าง ๆ ข้างต้น”

    “โดยสรุปแล้ว ถ้าแฟน ๆ คนใดบ่นว่า นักบิด MotoGP ไร้ประโยชน์ เพราะพวกเขาไม่สามารถนำแต้มกลับบ้านได้ ผมก็ไม่รู้ว่าพวกเขากำลังพูดถึงอะไรอยู่”

    นักบิด MotoGP

    อ้างอิง : motorsportmagazine.com

    ABOUT THE AUTHOR

    Latest Posts