More

    ไขข้อข้องใจ? แรงม้า กับ แรงบิด แตกต่างกันอย่างไร?

    สำหรับใครหลายคน คงจะเคยได้ผ่านตากับคำว่า ตัวเลขแรงม้ารถยนต์และแรงบิด แต่ไม่ได้เข้าใจว่าข้อแตกต่างของทั้งสองอย่างนี้ คืออะไร ซึ่งนับเป็นค่าที่มีความสำคัญและมีอิทธิพลในการตัดสินใจหรือเปรียบเทียบรถยนต์ หากคันใดรุ่นใดมีตัวเลขยิ่งมากมักถูกตีความกันว่าเหนือกว่า แรงกว่า เร็วกว่า ซึ่งจริง ๆ แล้วยังมีผู้คนจำนวนมากยังไม่เข้าใจว่าสองค่านี้ต่างกันอย่างไร แต่ถ้าเกิดคันใดคันหนึ่ง มีค่าใดค่าหนึ่งมากกว่า แต่อีกค่าหนึ่งน้อยกว่าอีกคันหมายความว่ายังไง วันนี้มาไขข้อข้องใจตรงนี้กันครับ

    แรงม้ารถยนต์คืออะไร

    “แรงม้า”  คือ ตัวเลขของหน่วยของกำลังที่ได้จากเครื่องยนต์สำหรับการลากวัตถุให้เคลื่อนที่ โดยในประเทศไทยมักนิยมใช้หน่วยเป็น HP (Horse Power) หรือถ้าว่ากันแบบเข้าใจง่ายคือ ยิ่ง “แรงม้า” มากก็จะมีผลต่อ “ความเร็วสูงสุด” ของรถยนต์ แต่อย่างไรก็ตามในการใช้งานเครื่องยนต์ในรถยนต์นั้น ไม่ได้หมุนด้วยความเร็วแบบ Static หรือความเร็วรอบคงที่ เพราะฉะนั้นผู้ผลิตรถยนต์จะแสดงค่าแรงม้าสูงสุดพร้อมกำกับด้วยรอบของเครื่องยนต์ เช่น 125 แรงม้า ที่ 5,000 รอบ/นาที นั่นหมายความว่า รถยนต์คันนั้นจะใช้กำลังสูงสุด 125 แรงม้า ได้นั้น เครื่องยนต์ก็ต้องหมุนที่ 5,000 รอบ/นาที

     

    “แรงบิด” คือ (Torque) นั้นหมายถึงแรงที่เกิดจากแรงหมุน (บิด) เพลาข้อเหวี่ยงภายในเครื่องยนต์ ซึ่งจะส่งกำลังผ่านเกียร์ไปสู่ล้อเพื่อฉุดให้รถยนต์เคลื่อนที่และแรงบิดนั้นจะมีผลต่อ “ความเร็ว” หรืออัตราเร่ง รวมถึงกำลังฉุดลากของรถยนต์ โดยผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไทยจะนิยมใช้เป็นหน่วย นิวตันเมตร ในการบอกแรงบิดสูงสุดของรถรุ่นนั้น ๆ ที่รอบเครื่องยนต์เท่าไร เช่น 180 นิวตันเมตร ที่ 2,200-4,500 รอบ/นาที หมายความว่า รถคันนี้จะมีแรงบิดสูงสุดให้ใช้ตลอดช่วง 2,200-4,500 รอบ/นาที (เรียก Flat Torque คือมีแรงบิดสูงสุดให้ใช้บนรอบเครื่องที่กว้าง เดาได้ว่าใช้ระบบอัดอากาศช่วย) ขณะที่รถหายใจธรรมดาจะได้แรงบิดสูงสุดที่รอบเครื่องใดรอบเครื่องหนึ่ง ถ้ายังไม่ถึงหรือเกินจากรอบเครื่องนั้นแรงบิดจะลดลง

     

    “แรงม้า” กับ “แรงบิด” อันไหนสำคัญกว่ากัน

    มีความสำคัญทั้งสองค่า สำหรับรถยนต์ แต่สำหรับผู้ขับขี่นั้นขึ้นอยู่กับรสนิยมการใช้งาน ถ้าเน้นอัตราเร่ง กำลังฉุดลาก ยิ่งแรงบิดสูงยิ่งได้เปรียบ แต่หากความสุขเป็นเรื่องของความเร็วปลายหรือความเร็วสูงสุดยิ่งแรงม้ามากยิ่งได้เปรียบ ซึ่งในรถยนต์หนึ่งรุ่นอาจให้ทั้งสองอย่างหรือไม่ก็ได้

    แต่ในความเป็นจริงแล้วตัวเลขทั้งสองค่า แรงม้ารถยนต์ หรือ แรงบิดรถยนต์ บนแพล็ตฟอร์มบอกสมรรถนะหรือความได้เปรียบของรถได้เพียงเบื้องต้นเท่านั้น เพราะการที่รถจะวิ่งได้เร็วที่สุดหรือเร่งได้ไวที่สุด ไม่ได้อยู่แค่เพียงตัวเลขแรงม้ากับแรงบิด ซึ่งก็จะมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างเช่น  อาจทำความเร็วปลายได้สูงกว่ารถที่มีแรงม้าสูงกว่าก็ได้ ถ้าต้องลากน้ำหนักตัวน้อยกว่า แหวกลมได้ดีกว่า หรือไม่สามารถเอาแรงม้าที่มีลงพื้นได้ไม่หมด แม้แต่แรงบิดก็เช่นกัน รถแรงบิดสูงอาจมีกำลังฉุดลากมากแต่การออกตัวไม่พุ่งก็ได้ ถ้าผู้ผลิตเซตอัตราทดเกียร์ให้ค่อยเป็นค่อยไปอย่างดุดันแต่นิ่มนวล ไม่กระชากเกินไป เน้นแรงบิดสูงในรอบต่ำสำหรับวิ่งไกลยาว ๆ และสามารถเรียกอัตราเร่งได้ทันทีทันได้แบบไม่ต้องเค้น เป็นความทรงพลังที่ไหลมาเรื่อย ๆ แต่ไม่จัดจ้านก็ได้ หรือรถแรงบิดน้อยอาศัยการทดเกียร์ช่วยเพื่อให้กระโดดออกตัวได้ไวแล้วค่อยไปแผ่วที่เกียร์สูงเนื่องจากเน้นการใช้งานในเมือง จราจรหนาแน่น ต้องการความคล่องตัว

    สรุปก็คือ “แรงม้ารถยนต์” กับ “แรงบิดรถยนต์” นั้นให้ “ผล” ที่ต่างกัน และตัวเลขแรงม้ากับแรงบิดเป็นเหมือน Figure ที่บอก “ประสิทธิภาพ” แต่ไม่ได้การันตี “ประสิทธิผล” เสมอไป เหมือนคนสูงขายาวอาจวิ่งได้ช้ากว่าคนที่เตี้ยและขาสั้นกว่าก็ได้ เพราะรถยนต์ไม่ได้มีแค่เครื่องยนต์ ยังมีส่วนประกอบอื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นตัวแปรและมีผลต่ออัตราเร่งรวมถึงความเร็วสูงสุด และต่อให้เร็วก็ไม่ได้แปลว่าขับดี เกาะถนน ขับสบายหรือไม่ ซึ่งจะต้องอิงจากการใช้งานเป็นหลักมากกว่า


     

    ABOUT THE AUTHOR

    Latest Posts