More

    อันตรายอย่าฝืน!! วิธีรับมือเมื่อรถความร้อนขึ้น!!! (Overheat)

    อากาศที่ร้อนจัดในประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลกระทบไปถึงความร้อนของรถยนต์ ยิ่งรถรุ่นเก่าที่ระบบการจัดการระบายความร้อนที่ไม่ค่อยได้รับการดูแลที่ดีนัก บวกกับเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ล้าสมัย อาจจะส่งผลให้เครื่องยนต์ของคุณหยุดทำงานได้ ซึ่งนี่คือปัจจัยแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น มาดูกันว่า ยังมีสาเหตุไหนอีกบ้าง และมีวิธีรับมืออย่างไร

    ความร้อนขึ้น หรือโอเวอร์ฮีท (OVERHEAT) คือน้ำหล่อเย็นของเครื่องยนต์เกิดความร้อนเกินระดับการใช้งานปกติ มีสาเหตุหลายประการ เช่น  คลัทช์ความหนืดของพัดลมเสื่อมสภาพ สายพานขาด ท่อน้ำรั่ว หรือแตก พัดลมไฟฟ้าไม่ทำงาน ฯลฯ ไม่ว่าจะกรณีไหนก็ตาม นั่นหมายถึง เครื่องยนต์ถูกใช้งานโดยขาดของเหลว (น้ำ) ที่จะช่วยระบายความร้อน ถ้าหากน้ำในหม้อน้ำขาดและแห้งมากเกินไป จะทำให้เครื่องยนต์ชำรุดและไม่สามารถใช้งานรถยนต์ต่อได้ นั่นแหละคือปัญหาใหญ่

    จะรู้ได้อย่างไรว่ารถความร้อนขึ้น?

    ในรถยนต์บางรุ่นจะมีสัญลักษณ์แจ้งเตือนบนหน้าปัด หรือสัญญาณไฟเตือนที่เป็นสีแดง และอีกจุดสังเกตุที่สามารถเห็นได้ชัดเลย คือมาตรวัดระดับความร้อนของเครื่องยนต์ หากขึ้นเกินครึ่งเกือบถึง Max แสดงว่ารถยนต์ของคุณอยู่ขั้นวิกฤต อาจเกิดอันตรายได้หากปล่อยให้ความร้อนขึ้นสูงจนเกินไป

    หากต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์นี้ มาดูกันว่าจะมีวิธีรับมืออย่างไรได้บ้าง 

    • ให้มองหาที่จอดรถข้างทาง ปลอดภัยต่อตัวคุณและรถที่สัญจรไปมา และให้ดับเครื่องยนต์ทันที เพื่อให้ระบบเครื่องยนต์ได้หยุดพักการทำงานก่อน
    • เปิดฝากระโปรงรถเพื่อระบายความร้อน ห้ามนำน้ำไปราดบนเครื่องยนต์โดยเด็ดขาด เพราะเหล็กที่ร้อนจัดๆ เมื่อมาเจอกับน้ำเย็นแบบฉับพลันจะทำให้เหล็กหดตัวและแตกตัวได้
    • จอดพักจนกว่าความร้อนของเครื่องยนต์จะลดลง
    • ห้ามเปิดฝาหม้อน้ำทันที เพราะแรงดันน้ำที่เกิดจากความร้อนสูงอาจทำให้น้ำในหม้อน้ำที่ร้อนมากๆ พุ่งออกด้วยความแรงจนจะลวกมือหรือร่างกายได้ ให้รอประมาณ 20-30 นาที หรือจนกว่าหม้อน้ำจะเริ่มเย็น
    • พอเครื่องยนต์เริ่มคลายความร้อน อุณหภูมิห้องเครื่องเริ่มลดลง ให้เปิดฝาหม้อน้ำออกทีละนิด โดยใช้ผ้าหนาๆ จับระหว่างเปิดฝา
    • หลังจากนั้นลองเติมน้ำกลับเข้าไปให้อยู่ในระดับที่มีขีดสัญลักษณ์กำหนด หากไม่มีความผิดปกติใดๆ และอุณหภูมิคงที่ ก็ยังพอสามารถขับต่อได้ แต่ต้องคอยสังเกตมาตรวัดหรือสัญลักษณ์แจ้งเตือนที่หน้าปัดตลอดเวลา
    • หากมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางหลังจากนี้ เช่น ขับกลับไปจอดที่บ้าน หรือขับไปอู่ ก็ควรจอดพักรถเป็นระยะตามความเหมาะสมระหว่างขับขี่ ใช้ระดับความเร็วที่เหมาะสม
    • ห้ามฝืนเด็ดขาด!! หากเห็นว่าความร้อนอยู่ในขั้นวิกฤตแล้ว

    หากใครต้องประสบปัญหานี้เพียงลำพัง ก็ไม่ต้องตระหนกตกใจอีกต่อไป เพียงแก้ไขเบื้องต้นตามที่เราได้แนะนำ เท่านี้ก็สามารถช่วยแก้สถานการณ์ฉุกเฉินได้ด้วยตัวคุณเองแล้ว  หลังจากนั้นให้รีบติดต่อช่างหรือส่งตรวจเช็คที่ศูนย์บริการโดยเร็วที่สุด เพื่อความปลอดภัยในระยะยาวนะคะ 


    บทความอื่น ๆ 

    ABOUT THE AUTHOR

    Latest Posts