นับตั้งแต่เปิดตัวและขาย ISUZU D-MAX MAXFORCE เมื่อ 20 พฤศจิกายน 2024 ที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่นจากสาวกน้องออลนิว
สาวกออลนิวที่อยากได้ขุมพลังที่มาคั่นกลางระหว่าง 1.9 และ 3.0 หรืออีกนัยหนึ่งคือเป็นการมาแทนรุ่น 1.9 นั่นเอง
และหลังจากที่ Car2Day ได้ไปร่วมทดสอบสมรรถนะสุดพลิกโลกทั้งในและต่างประเทศกันมาแล้วครั้งนี้เลยจับหนึ่งในตระกูล MAXFORCE อย่าง ISUZU D-MAX Hi-Lander 2.2 M 4 ประตู มากันทดสอบกันและครั้งนี้พา ISUZU X-Series Hi-Lander 1.9 Z 4 ประตู เกียร์อัตโนมัติทั้ง 2 รุ่น มาประชันกันว่า 2.2 กับ 1.9 รุ่นไหนน่าคบ
Engine & Transmission
มากันที่เครื่องยนต์ใหม่ใน ISUZU D-MAX Hi-Lander 2.2 M 4 ประตู กับดีเซลเทอร์โบแปรผันไฟฟ้า E-VGS ขนาดใหม่ 2.2 ลิตร แบบ 4 สูบ 16 วาล์ว ดับเบิ้ลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ (DOHC) รุ่น RZ4F-TC ให้พลังแรงเพิ่มขึ้นสุดถึง 163 แรงม้า ที่ 3,600 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตรที่ 1,600-2,400 รอบต่อนาที
ความจุกระบอกสูบ 2,164 (CC) ด้านความกว้างกระบอกสูบxช่วงชัก เพิ่มในส่วนความกว้างจากเดิม 3 มิลลิเมตรและช่วงชักเพิ่มจากเดิม 5.6 มิลลิเมตร เป็น 83×100 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด (ต่อ 1) เท่าเดิมคือ 15.9 พัฒนาให้แรงบิดช่วงออกตัวสูงขึ้น 56% ประหยัดน้ำมันยิ่งกว่าเดิมสูงสุด 10.7% CO2 ต่ำเพียง 170 กรัมต่อกิโลเมตร
หัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงแรงดันสูง 250 MPa.ใหม่! ECM แบบ MULTI-CORE ประสิทธิภาพสูงใหม่! E-VGS TURBO เทอร์โบแปรผันควบคุมการทำงานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์จากค่าย IHI กับรหัส V33Z ใหม่! ห้องเผาไหม้แบบ HIGH SWIRL เพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้สมบูรณ์แบบ ระบบหล่อลื่นเครื่องยนต์ใหม่! HI-FLOW และชุดขับเคลื่อนเพลาลูกเบี้ยวด้วยเฟืองและโซ่เหล็กกล้า TIMING GEAR & CHAIN เอกลักษณ์อีกอันที่อยู่คู่กับ ISUZU มานาน สำหรับสเปกเครื่องมีการปรับใหม่ทั้งหมดตามหลัก 5C หรือชิ้นส่วนใหม่ 5 จุดไม่ว่าจะเป็น
- Cylinder Head ฝาสูบ
- Cylinder Block เสื้อสูบแบบ EXTREME STRENGTH ให้ความแกร่งเป็นพิเศษ
- Connecting Rod ก้านสูบ
- Crank Shaft เพลาข้อเหวี่ยง
- Cylinder Piston ลูกสูบมาแบบใหม่ ULTRA-LOW FRICTION ที่ให้แรงเสียดทานต่ำพิเศษ
ทางด้าน ISUZU X-Series Hi-Lander 1.9 Z 4 ประตู เป็นดีเซลเทอร์โบแปรผัน VGS รหัส RZ4E-TC 150 แรงม้าที่ 3,600 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตรที่ 1,600-2,600 รอบต่อนาที ความจุกระบอกสูบ 1,898 (CC) ความกว้างกระบอกสูบ x ช่วงชัก 80×94.4 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด (ต่อ 1) 15.9 CO2 ต่ำเพียง 168 กรัมต่อกิโลเมตร
ทั้ง 2 รุ่นผ่านมาตรฐานไอเสีย EURO 5 มาพร้อมเทคโนโลยีตัวกรองเขม่าไอเสียในเครื่องยนต์ดีเซล DPD (Diesel Particulate Diffuser) ลดเขม่าและฝุ่นขนาดเล็กจากการเผาไหม้จากเดิมจะมี แคทาลิติก คอนเวอร์เตอร์ สามารถรักษาสมรรถนะรถ ประสิทธิภาพการใช้งานอันยอดเยี่ยม และยังสามารถลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น โดยไม่เติมน้ำยาบำบัดไอเสียในเครื่องยนต์ดีเซล เช่น AdBlue
Handling & Ride
ดีแมคซ์ 2 รุ่น 2 พลังที่ความจุกระบอกสูบห่างกันเพียง 300 ซีซี. น้ำหนักรถต่างกันถึง 35 กิโลกรัม ขุมพลัง 2.2 ให้การตอบสนอง กระฉับกระเฉงทั้งในทางตรง สองเลน สี่เลนใหญ่ ทางโค้งทุกจุด กำลังมาต่อเนื่องสามารถเร่งเร็วจาก 80-140 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในเวลาอันสั้น ทางด้านความเร็ว 80-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงทำความเร็วได้พอควรและดีกว่า 1.9
ช่วงความเร็ว 90-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงทำงานไม่ถึง 2,000 รอบต่อนาทีแต่ละช่วงความเร็วมาเร็วติดปีกตั้งแต่ 1,450, 1,500, 1,700 และ 1,950 รอบต่อนาที
ด้านเครื่องยนต์ 1.9 ที่มาก่อนกาลตั้งแต่ปี 2015 ปรับกันหลายครั้งเพื่อผ่านมาตรฐานไอเสียของไทย อาจเสียเปรียบด้านแรงม้าแรงบิดเพราะเน้นใช้งานเรียบง่ายไม่หวือหวา คลิกดาวน์อาจมีหน่วงเล็กน้อยแต่ไม่ถึงกับอืดอาด เสียงเครื่องยนต์เงียบสมูทดีในช่วงรอบต่ำจนถึงขับปกติ 60-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่วงความเร็ว 90-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงทำงานไม่ถึง 2,000 รอบต่อนาทีแต่ละช่วงความเร็วมีดังนี้ 1,450, 1,550, 1,750 และ 1,950 รอบต่อนาทีระบบส่งกำลังอย่างเกียร์อัตโนมัติ 8 สปีด รุ่น L-B500 จาก AISIN ในเครื่อง 2.2 ด้วยอัตราทดเกียร์ เกียร์ 1= 4.903, เกียร์ 2 = 3.120, เกียร์ 3 = 2.166, เกียร์ 4 = 1.597, เกียร์ 5 = 1.312, เกียร์ 6 = 1.000, เกียร์ 7 = 0.776 และเกียร์ 8 =0.651 เกียร์ถอยหลัง = 4.050 อัตราทดเฟืองท้าย=3.583
เกียร์ลูกนี้ให้โอเวอร์ไดรฟ์ถึง 2 เกียร์นั่นคือ เกียร์ 7 กับ 8 โดยรวมให้ความสมูทลื่นไหลการเปลี่ยนเกียร์ไม่กระตุกในช่วงความเร็วกลางๆปลายๆ ตอบสนองดีรักษารอบกำลังไม่ให้ลากมากเกินไปเพราะอัตราทดที่เยอะนั่นเอง
ส่วนเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ในรุ่นเครื่องยนต์ 1.9 ด้วยอัตราทดเกียร์ เกียร์ 1= 3.600, เกียร์ 2 = 2.090, เกียร์ 3 = 1.488, เกียร์ 4 = 1.000, เกียร์ 5 = 0.687, เกียร์ 6 = 0.580 เกียร์ถอยหลัง = 3.732 อัตราทดเฟืองท้าย=4.100 รุ่น AWR6B45 จาก AISIN ปรับเซตการทำงานของเกียร์ลูกนี้สัมพันธ์กับความเร็วได้น่าอย่างราบรื่น ไม่กระตุก แถมมี Rev-Tronic บวก/ลบสร้างความสนุกในการขับขี่ และโอเวอร์ไดรฟ์ 2 เกียร์เช่นกันกับ 2.2
ทั้ง 2 รุ่นมีจุดเด่นที่น่ายกย่องนั่นคือ Engine Brake คอยดึงกำลังของเครื่องยนต์ช่วงความเร็วลดลงมาถึง 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ยังอยู่ และทำหน้าที่ของมันได้อย่างดีรวมถึงการออกแบบฉนวนกันเสียงรบกวนที่หนาขึ้น ส่วนการทำงานของรอบเครื่องยนต์ในรอบเดินเบาเสียงเครื่องยนต์เงียบในช่วงรอบเดินเบา 675-725 รอบต่อนาที ยังเงียบสนิท
มีระบบตัดการทำงานเครื่องยนต์ชั่วคราวและกลับมาทำงานโดยอัตโนมัติเมื่อแตะคันเร่ง ISS (Idling Stop/Start System) แต่ยังคงเหยียบเบรกและตำแหน่งเกียร์ต้องอยู่ในเกียร์ D แต่การทำงานเร็วขึ้นแค่นาทีเดียวและให้ระบบแอร์เปิดทำงานได้ แต่ถ้าไม่ชอบสามารถปิดการทำงานโดยไม่ต้องติดดับๆอีกต่อไป
อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มที่เครื่องยนต์ 2.2 ลิตรทำได้ 14.18 กิโลเมตรต่อลิตร ส่วน 1.9 ทำได้ 13.5 กิโลเมตรต่อลิตร เรียกว่าใกล้เคียงกันไม่ว่าจะขับ 2.2 1.9 และ 3.0 ด้านอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 2.2 ทำได้ 12.06 วินาที และ 1.9 ทำได้ 12.89 วินาที
ช่วงล่างหน้าเป็นแบบอิสระปีกนก 2 ชั้นคอยล์สปริงและเหล็กกันโคลงและแหนบแผ่นรูปครึ่งวงรี 3 แผ่น สำหรับด้านหลังใช้โช้คอัพแก็สทั้งหน้าและหลังเข้าโคงออกไปทางนุ่มนวลหนึบนิดเด้งหน่อย รวมถึงระบบควบคุมการทรงตัว ESC และกันลื่นไถล TCS ไม่จับบ่อยสร้างความสนุกสนานตลอดการขับ
พวงมาลัยพาวเวอร์เป็นแบบน้ำมันรัศมีวงเลี้ยวแคบสุด 6.1 เมตร ยังให้น้ำหนักกลางๆเหมาะมือสำหรับเดินทางไกลๆ แป้นเบรกเหยียบ 20% รถเริ่มหยุดจนไม่เหยียบเพิ่มอีกด้วยการทำงานของหม้อลมเบรกขนาดใหญ่รวมถึงดิสก์เบรกขนาดใหญ่ 320 มิลลิเมตร และด้านหลังดรัมเบรกส่งผลให้เบรกมั่นใจฉับไวไม่ไถลไปชนท้ายรถคันหน้า
ทัศนวิสัยการมองในตำแหน่งคนขับกลางๆตำแหน่งเบาะปรับสูงต่ำได้ได้ตามใจชอบด้วยไฟฟ้า ออกแบบฝากระโปรงหน้ามีเล่นระดับเล็กน้อยจนมาถึงขอบและฐานกลางของฝากระโปรงดีไซน์โหนกนูนเรียบเนียนไม่เกะกะสายตาในการมอง
Exterior & Interior
รุ่น Hi-Lander 4 ประตูยกสูงรุ่น 2.2 M หล่อเดิมๆเพิ่มเติมคือตรารุ่นเครื่อง 2.2 ลิตรติดใต้ชื่อรุ่น M บริเวณฝากระบะท้าย ฝากระโปรงจดกันชนหน้ากระจังหน้าแนวนอนแบบเขี้ยวซ่อนรูป 2 ชั้น ดีไซน์เอกลักษณ์พร้อมตรา ISUZU ขนาดใหญ่แบบ 3-Dimension สี Silky Silver และ Dark Grey สอดรับกับไฟหน้า ISUZU Vision Bi-LED พร้อม Multifunctional Daylight ทำหน้าที่ทั้ง Daylight ไฟหรี่ และไฟเลี้ยวที่ย้ายมาอยู่ในโคมเดียวกัน
กันชนหน้าดีไซน์ใหม่เป็นหนึ่งเดียวกับกระจังหน้ามีช่องระบายอากาศทรงหกเหลี่ยมลายรังผึ้งพร้อม Air Curtain นวัตกรรม Aerodynamic ลดแรงต้านอากาศ แบบฉบับ รถสปอร์ตหรู ไฟตัดหมอกหน้า LED
ฝาท้ายใหม่ดีไซน์รูปตัว H พร้อมสปอยเลอร์ในตัวกระบะท้าย ไฟท้ายแบบ Triple-Armour LED กระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยว LED และล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว 6 ก้านคู่ปัดเงาและสีเงินดีไซน์แบบ Turbine Spiral พร้อมยาง Bridgestone รุ่น Dueler HT 684 II ขนาด 265/60 R18
ภายในเดิมๆทั้งชุดมาตรวัดเรืองแสงใหม่พร้อมจอขนาดใหญ่ 7 นิ้ว Multitasking System เชื่อมต่อข้อมูลกับหน้าจอ Integrated MID แสดงผลได้หลายฟังก์ชัน พวงมาลัยมัลติฟังก์ชันปรับระดับได้ 4 ทิศทางพร้อม Paddle Shift หน้าจอระบบสัมผัส Infotainment Display ขนาด 9 นิ้ว รองรับการใช้งานทั้งระบบ Wireless Android Auto และ Wireless Apple CarPlay Charging Socket แบบ USB-C ชาร์จได้รวดเร็วทั้งที่นั่งด้านหน้าและด้านหลัง
เบาะนั่งคนขับปรับไฟฟ้า 8 ทิศทาง เทคโนโลยี COOLMAX ลดการสะสมความร้อน โทนสีดำเข้ม ระบบเสียงรอบทิศทาง 8 ลำโพง Dynamic Surround Sound แผงควบคุมระบบปรับอากาศแบบ Dual Zone ควบคุมอุณหภูมิอิสระซ้าย-ขวา สามารถกรองฝุ่นขนาดเล็กได้ถึงระดับ PM 2.5 ปุ่ม Push Start พร้อมกุญแจแบบ Keyless Entry พร้อมฟังก์ชัน Remote Engine Start สตาร์ทเครื่องยนต์ด้วยกุญแจรีโมทในระยะ 20 เมตร และระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่อัจฉริยะ ADAS 13 รายการ
ทางด้าน X-Series Hi-Lander 4ประตูเป็นการนำพื้นฐานรุ่นยกสูง 4 ประตู Z จับตกแต่งเป็นสปอร์ตปิกอัพ เพิ่มอารมณ์สปอร์ตและความสนุกเร้าใจด้วยชุดแต่ง The X Package อาทิ กระจังหน้าโทนเข้มเขี้ยวเข้ารูปสองชั้นตัดแดง Garnet Red สติกเกอร์คาดหน้า-หลัง Dual Stripes สปอร์ตบาร์ขนาดใหญ่ครอบทับกระบะท้ายพร้อมไลเนอร์ และล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว 6 ก้านคู่สีดำเงาดีไซน์แบบ Turbine Spiral
ภายในเพิ่มออปชันมาจากรุ่น Z ปกตินั่นคือ ปุ่ม Push Start พร้อมกุญแจแบบ Keyless Entry ล็อกประตูอัตโนมัติ เมื่อเดินออกห่างจากตัวรถเกินระยะ 3 เมตร Walk Away Auto Lock และ Paddle Shift ตกแต่งสไตล์ X เริ่มที่ คอนโซลหน้าดีไซน์เร้าใจแบบสีดำ-แดง
หน้าจอ Infotainment 8 นิ้ว ระบบสัมผัส ดีไซน์สปอร์ตโทนแดง รองรับระบบ Wireless Android Auto และ Wireless Apple Car Play (เฉพาะสมาร์ทโฟนรุ่นที่รองรับการใช้งาน) พร้อมระบบแสดงองศามุมปีนไต่ ลาดเอียง และทิศทางการเลี้ยวของล้อ ที่หน้าจอ พวงมาลัยมัลติฟังก์ชันปรับระดับได้ 4 ทิศทางแบบ Tilt & Telescopic และล็อกความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control
ระบบเสียงรอบทิศทาง 8 จุด Dynamic Surround Sound แผงควบคุมระบบปรับอากาศแบบ Semi Mode Control สามารถกรองฝุ่นขนาดเล็กได้ถึงระดับ PM 2.5 และไฟส่องแผนที่พร้อมกล่องเก็บแว่นตาบนแผงหลังคาขึ้นรูป ช่องเสียบชาร์จ Charging Socket แบบ USB-C ชาร์จได้รวดเร็ว
หน้าจอแสดงข้อมูล Integrated MID 7 นิ้ว โทนแดงให้อารมณ์สปอร์ตพรีเมียม พร้อมโลโก้ X และระบบแสดงองศามุมปีนไต่ ลาดเอียง และทิศทางการเลี้ยวของล้อ ที่มาตรวัด ในชุดคอนโซลดีไซน์แบบ Iron Structure เพิ่มความเท่อย่างมีสไตล์
เบาะนั่งกึ่งหนังแท้สีดำ-แดง พร้อมโลโก้ X และ COOLMAX ปรับสูงต่ำด้านคนขับ 8 ทิศทางแบบก้านธรรมดา ช่วนสะสมลดความร้อนพร้อมช่องแอร์ด้านหลัง พร้อมความสะดวกสบายกับไฟส่องสว่างในห้องโดยสารเปิดอัตโนมัติ เมื่อเข้าใกล้รถในระยะ 2 เมตร Welcome Light และเปิดไฟส่องสว่างได้นาน 30 วินาที หลังดับเครื่องยนต์ Follow Me Home
มิติตัวรถทั้ง 2 รุ่นเท่ากันตั้งแต่ความยาว 5,280 มิลลิเมตร ความกว้าง 1,870 มิลลิเมตร ความสูง 1,790 มิลลิเมตร ฐานล้อ 3,125 มิลลิเมตร ความกว้างฐานล้อหน้าและล้อหลังเท่ากัน 1,570 มิลลิเมตร ความสูงใต้ท้องรถ 240 มิลลิเมตร ความจุถังน้ำมัน 76 ลิตร มิติกระบะท้ายนั้นมีขนาดพอดีตั้งแต่ ความยาว 1,495 มิลลิเมตร กว้าง 1,530 มิลลิเมตร ความสูงในกระบะท้าย 490 มิลลิเมตร
มีเพียงน้ำหนักที่ต่างกันโดย Hi-Lander 2.2 M น้ำหนักรถอยู่ที่ 1,895 กิโลกรัม ส่วน X-Series 1.9 Z 1,860 กิโลกรัม ห่างกันเพียง 35 กิโลกรัม
Verdict
ด้วยส่วนต่าง 105,000 บาท กับปิกอัพกยกสูงรุ่นท็อป 2 รุ่นค่ายอีซูซุ เห็นได้ว่าขุมพลัง 2.2 ได้เปรียบในด้านความใหม่สดของขุมพลังแรงกว่า ตอบสนองดีกว่า มาไวกว่า 1.9 ด้วยแรงม้าเครื่องที่มากขึ้น 9% แรงบิดเพิ่มขึ้นจากเดิม 14% รวมถึงการบาลานซ์สร้างสมดุลทุกส่วนของตัวรถให้เป็นหนึ่งเดียว ตอบสนองของเครื่องมาอย่างไวทั้งในช่วงต้นจนถึงปลาย เข้าโค้งสนุกมันส์กำลังเครื่องมาต่อเนื่องไม่ขาดตอน
เกียร์ทำงานฉลาดรองรับทุกย่านความเร็วสนุกสนานเร้าใจกว่าแต่ว่าช่วงความเร็ว 20-30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและช่วงชะลอความเร็วใกล้เข้าสี่แยกไฟแดง รอยต่อเกียร์ 1-2 หรือ เกียร์ 2-3 หรือ 3-2 กลับพบอาการกระตุกแรงอาจเป็นไปได้ว่ากล่อง ECM การเซ็ตเกียร์ที่ไม่สัมพันธ์กับรอบเครื่องรอบความเร็ว งานนี้อยากฝากไปถึง ISUZU พัฒนาให้เกียร์ลูกนี้ตอบสนองดีกว่าเดิมในล็อตต่อไป
รวมถึงความปลอดภัย ADAS โดยเฉพาะ ระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติขณะถอย RCTB (Rear Cross Traffic Brake) เตือนการชนด้านหน้าอัตโนมัติ FCW Front Forward Collision Warning, หยุดรถอัตโนมัติ AEB (Autonomous Emergency Brake) ทำงานฉับไวมากเกินไปและสยองเกินเหตุหวิดจะไปขนรถคันหน้าหรือคันหลังเบรกไม่ทันมาชนท้ายซึ่งตรงนี้อยากให้ปรับปรุงการตอบสนองให้สมเหตุสมผลและไม่เป็นอันตรายต่อคนขับและเพื่อนร่วมใช้รถ แถมจ่ายภาษีประจำปีป้ายดำเพียง 3,556 บาท สำหรับรุ่น 2.2
ความประหยัดน้ำมันที่ไล่เลี่ยกัน ความหล่อและทนทานสไตล์ ISUZU ทำให้เหล่าประชาคมอีซูซุทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่พึ่งมาจับแบรนด์นี้ใช้งานครั้งแรกไม่ลังเลที่จะเลือกเพราะของใหม่ย่อมดีเสมอทั้งงานบรรทุกและงานส่วนตัว สำหรับราคา ISUZU D-MAX Hi-Lander 2.2 M อยู่ที่ 1,137,000 บาท และ ISUZU X-Series Hi-Lander 1.9 Z อยู่ที่ 1,032,000 บาท