More

    5 วิธี แก้ปัญหา รถควันดำ ก่อนถูกจับปรับและห้ามใช้รถ

    รถควันดำ นอกจากจะส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมแล้วยังมีความผิดตามกฎหมายควบคุมมลพิษอีกด้วย  ใครปล่อยให้รถของตัวเองเกิดควันดำก็อาจถูกจับและปรับตามระเบียบของกรมการขนส่งทางบกได้ หากค่าควันดำเกินกฎหมายกำหนดจะถูกปรับสูงถึง 5,000 บาทและถูกพ่น “ห้ามใช้รถ”  วันนี้เรามาแนะนำเกล็ดความรู้วิธีแก้รถควันดำมาฝากครับ

    สาเหตุที่ทำให้ ” รถควันดำ ” 

    สาเหตุของรถควันดำที่กล่าวมานี้ อาจจะเป็นสาเหตุของปัญหาที่รถยนต์ของคุณกำลังเผชิญหน้าอยู่ คงไม่เป็นการดีหากต้องขับขี่รถยนต์ที่เต็มไปด้วยควันดำออกไปท้องถนน เพราะเป็นการสร้างมลพิษให้กับผู้คนและผู้ใช้รถใช้ถนนรอบข้าง ที่จะต้องทนสูดดมควันพิษเหล่านี้เข้าร่างกาย ส่งผลต่อสุขภาพตามมา ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องใหญ่มากทีเดียว เพราะฉะนั้นหากใครประสบปัญหาเกี่ยวกับรถมีควันดำ รายละเอียดสาเหตุมีดังนี้

    1.เครื่องยนต์สึกหรอ

    สาเหตุหลักของรถควันดำที่พบได้บ่อยนั่นก็คือ ปัญหาของตัวเครื่องยนต์ที่เกิดการชำรุด สึกหรอ และไม่ได้รับการแก้ไข จึงส่งผลให้ลูกสูบ กระบอกลูกสูบและแหวนลูกสูบหลวมหรือ เสื่อมสภาพ หรือเกิดความชำรุดเสียหาย จนทำให้ควันที่ออกมาจากท่อรถเป็นสีดำนั่นเอง

    2.ไส้กรองอากาศอุดตันจากสิ่งสกปรก

    ไส้กรองอากาศของรถยนต์ที่คอยทำหน้าที่ดักฝุ่นละอองต่างๆ อาจจะเกิดความเสื่อมสภาพจากการใช้งานในระยะเวลานาน ทำให้เกิดการอุดตันจากสิ่งสกปรกที่สะสมมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ระบบการควบคุมการฉีดน้ำมันและอากาศแปรปรวน มีการสั่งจ่ายน้ำมันเกินมาตรฐาน จนการเผาไหม้ที่ห้องเครื่องเป็นไปด้วยความยากลำบากและไม่สมบูรณ์

    3.น้ำมันเครื่องเก่า

    น้ำมันเครื่องที่ใช้ก็เป็นสาเหตุสำคัญของการทำให้รถควันดำ เนื่องด้วยผู้ใช้อาจจะชะล่าใจไม่เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามระยะเวลาที่กำหนด ทำให้น้ำมันเครื่องหมดอายุการใช้งาน นอกจากนี้การเลือกใช้น้ำมันเชื้อเพลิงคุณภาพต่ำก็เป็นอีกสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันโดยตรงเช่นกัน

    4.มีเขม่าตกค้างอยู่ในท่อไอเสีย

    ในช่วงที่สตาร์ทรถใหม่ๆ ผู้ใช้รถอาจจะเห็นควันดำเป็นกลุ่มก้อนที่ออกมาจากท่อไอเสีย นั่นคือควันที่เกิดขึ้นจากการมีเขม่าตกค้างอยู่ในท่อไอเสียนั่นเอง

    5.การปรับแต่งเครื่องยนต์

    นอกจากสาเหตุข้างต้นแล้ว การปรับแต่งเครื่องยนต์ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รถมีควันดำเช่นกัน โดยการปรับแต่งสมรรถนะของรถยนต์ให้เพิ่มขึ้นนั้น ต้องอาศัยหลักในการจ่ายน้ำมันและอากาศเพิ่ม เพื่อการเผาไหม้ในปริมาณที่เยอะที่สุด ส่งผลให้การเผาไหม้ไม่ทั่วถึง น้ำมันที่เหลือจึงถูกเผาไหม้ออกมาเป็นควันสีดำนั่นเอง

    วิธีแก้ปัญหา ” รถควันดำ “

    กรมการขนส่งทางบกได้บังคับใช้เกณฑ์การตรวจวัดควันดำจากท่อไอเสียใหม่โดยใช้ระบบความทึบแสงไม่เกิน 30% และระบบกระดาษกรองไม่เกิน 40% ปรับลดเกณฑ์ผิดกฎหมายลงหากปล่อยให้รถควันดำอาจถูกลงโทษโดยไม่รู้ตัว ซึ่งรถควันดำเกิดจากหลายปัจจัย แต่หากสังเกตแล้วว่ารถของตัวเองควันดำก็มีวิธีแก้ไขไม่ยากตามแนวทางดังต่อไปนี้

    1. ทำความสะอาดไส้กรอง

    หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้รถควันดำก็คือไส้กรองอุดตัน สกปรก ดังนั้นควรหมั่นทำความสะอาดไส้กรองอากาศและเปลี่ยนไส้กรองตามกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมอยู่เสมอ

    2. ตรวจเช็กหัวฉีดและปรับตั้งหัวฉีด

    หมั่นตรวจเช็กหัวฉีดจ่ายน้ำมันและปรับตั้งหัวฉีดให้เหมาะสม เพื่อการจ่ายเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพ หากพบจุดไหนชำรุดหรือสึกหรอก็ต้องซ่อมแซม ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เพราะอาจเป็นสาเหตุให้เกิดควันดำได้

    3. ซ่อมแซมเครื่องยนต์ที่ชำรุดหรือสึกหรอ

    หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้รถควันดำก็คือเครื่องยนต์ชำรุดหรือสึกหรอ ดังนั้นหากพบว่ามีเครื่องยนต์ส่วนไหนชำรุดสึกหรอต้องรีบซ่อมแซมโดยด่วน ที่สำคัญต้องป้องกันไว้ดีกว่าแก้โดยการตรวจเช็กสภาพเครื่องยนต์เป็นระยะจะดีที่สุด

    4. ล้างท่อไอเสียให้สะอาด

    การล้างท่อไอเสียสามารถทำได้โดยฉีดน้ำเข้าไปในท่อไอเสียเพื่อทำความสะอาด เป็นการชำระล้างคราบเขม่าควันและสิ่งสกปรกที่ตกค้างอยู่ ช่วยลดการเกิดควันดำได้อีกวิธีหนึ่ง

    5. เปลี่ยนน้ำมันเครื่องตามระยะเวลาที่กำหนด

    น้ำมันเครื่องเกิดตะกอน เกิดสิ่งสกปรกตกค้าง ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้รถควันดำ ดังนั้นต้องตรวจเช็กสภาพของน้ำมันเครื่องอยู่เสมอ รวมถึงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามระยะทางหรือระยะเวลาที่กำหนดเอาไว้ด้วย วิธีนี้นอกจากจะช่วยลดปัญหาควันดำแล้วยังดีต่อเครื่องยนต์และช่วยให้รถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น

    วิธีตรวจสอบเบื้องต้น

    1. ให้จอดรถยนต์อยู่กับที่และเดินเครื่องยนต์ไว้ไม่น้อยกว่า 5 นาที

    2. เร่งเครื่องยนต์โดยเร็วจนสุดคันเร่ง ประมาณ 2-3 วินาที

    3. สังเกตปริมาณควันดำที่ปล่อยออกจากท่อไอเสีย หากพบว่ามีปริมาณควันดำมาก (ควันสีดำเข้มมาก) ควรตรวจสอบสภาพและบำรุงรักษาเครื่องยนต์ ตามวิธีที่กล่าวมาแล้ว

    4. ควรทำการตรวจสอบอย่างน้อยประมาณ 2 ครั้ง (ทำซ้ำตั้งแต่ข้อที่ 2-3)


    Cr : toyota , Autonation

    ABOUT THE AUTHOR

    Latest Posts