หลังจากที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ของ Nissan ทั้งแผนลดต้นทุนและปิดโรงงาน 3 แห่งรวมถึงที่บางนา-ตราด กม.21-22
ล่าสุดออกมาแถลงว่าการปิดโรงงานในไทยไม่เป็นความจริงโดยทาง Nissan ส่งคำชี้แจงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวดังนี้
ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการฟื้นฟูกิจการทั่วโลกของนิสสันและการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่กำลังดำเนินการในภูมิภาคอาเซียน และประเทศไทย นิสสันจะทำการรวมกระบวนการผลิตรถยนต์บางส่วนจากโรงงานที่ 1 ไปยังโรงงานที่ 2 ในประเทศไทย และดำเนินการปรับปรุงสายการผลิตซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปีงบประมาณ 2025 ภายใต้แผนงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านต้นทุนคงที่และเตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ในประเทศไทย
โรงงานที่1 จะยุติการประกอบรถยนต์ โดยจะถูกปรับให้เป็น โรงงานประกอบตัวถัง ประกอบชิ้นส่วนพลาสติก และปั๊มขึ้นรูปชิ้นส่วน รวมถึงงานโลจิสติกส์ภายในโรงงานทั้งนี้ประเทศไทยจะยังคงเป็นตลาดสำคัญของนิสสันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะเติบโต และพัฒนาแบรนด์ และธุรกิจ ในตลาดอาเซียน และประเทศไทยต่อไป
เท่ากับว่าโรงที่ 1 ซึ่งเป็นรถเก๋งอย่าง Nissan ALMERA กับ Nissan KICKS ซึ่งเป็นโรงงานดั้งเดิมที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1975 ไปอยู่รวมกับโรงที่ 2 ซึ่งประกอบ Nissan Navara และ Nissan TERRA ที่อยู่ในพื้นที่ติดกันซึ่งก่อตั้งในปี 2014
ล่าสุดนายโทชิฮิโระ ฟูจิกิ ประธานบริษัทนิสสัน ภูมิภาคอาเซียน และนิสสัน ประเทศไทย หารือกับทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า
การดำเนินการดังกล่าวเป็นการรวมสายการผลิต (Line Integration) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนและเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูกิจการและปรับโครงสร้างธุรกิจทั่วโลกของนิสสัน โดยความพยายามดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายในการปรับลดต้นทุนคงที่ในการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสมและเตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ในประเทศไทย
สำหรับเมืองไทยจะยังคงเป็นตลาดสำคัญของนิสสันโดยฐานการผลิตในไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในอาเซียนที่นิสสันเป็นผู้ลงทุนเอง อีกทั้งยังใช้ประเทศไทยเป็นฐานของสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarters) เพื่อกำกับดูแลกิจการในประเทศต่างๆในอาเซียนด้วย
และยังคงมุ่งมั่นที่จะเติบโตพัฒนาแบรนด์และธุรกิจในตลาดอาเซียนและประเทศไทยต่อไป โดยมีแผนจะลงทุนเพิ่มเติมเพื่อผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ในประเทศไทย ซึ่งมีแผนจะเปิดตัวในช่วงปี 2026-2027
และจะขอรับการส่งเสริมตาม “มาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” ซึ่งจะมีการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับการผลิตรถยนต์ไฮบริด (HEV) เหลือร้อยละ 6 – 9 มีผลตั้งแต่เริ่มใช้โครงสร้างภาษีใหม่เป็นเวลา 7 ปี (2026 – 2032)
ที่มา BOI