ถูกวิจารณ์ในแง่ลบอย่างหนักสำหรับ FIA ที่ตัดสินใจปล่อยให้การแข่งขัน Italian Grand Prix สนามที่ผ่านมา ต้องจบการแข่งขันภายใต้เซฟตี้คาร์ อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นผลมาจากการที่กฎข้อบังคับการแข่งขันถูกนำมาใช้ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้ทำหลังเกิดเหตุการณ์อื้อฉาวที่อาบูดาบี ปีที่แล้ว
ในปี 2021 การแข่งขันสนามสุดท้ายของฤดูกาลที่อาบูดาบี ในช่วงก่อนจบการแข่งขันนั้นมีอุบัติเหตุจากรถของ Nicholas Latifi จึงทำให้นายสนามนั้นเรียกเซฟตี้คาร์ออกมาเพื่อเคลียร์พื้นที่แทร็ค อย่างไรก็ตาม การเคลียร์สนามนั้นใช้เวลามากกว่าที่คิด นั่นจึงทำให้นายสนามตัดสินใจ ‘บิด’ กฎข้อบังคับการแข่งขันเล็กน้อย เพื่อให้การแข่งขันสามารถกลับมาดำเนินต่อได้ตามปกติในรอบสุดท้าย และเป็นสิ่งที่ทำให้ตัดสินผลแชมป์โลกในปี 2021
ผลของการบิดกฎในครั้งนั้นทำให้หลายฝ่ายเกิดการถกเถียงกันยกใหญ่ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็เป็นเหล่าบรรดาทีมแข่งเองที่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกัน ในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่รถแข่งจบการแข่งขันภายใต้เซฟตี้คาร์ จากการเปิดเผยของ Andreas Seidl ทีมบอส McLaren
“หลังจากสิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่แล้วที่อาบูดาบี ได้มีการพูดคุยถกเถียงกันอย่างมากมายระหว่าง FIA, Formula 1, และ ทีมแข่ง” Seidl กล่าว “ทุกฝ่ายเข้ามาพูดคุยกันเพื่อหาทางออกในการปรับแต่งกฎ เพื่อให้แน่ใจว่าการแข่งขันจะไม่จบภายใต้สถานการณ์เซฟตี้คาร์”
“FIA และ Formula 1 ได้เสนอแนวทางต่าง ๆ มากมาย แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับทีมแข่ง และทุกทีมแข่งก็ไม่อาจบรรลุข้อตกลงที่จะเปลี่ยนแปลงกฎ เพราะเราไม่สามารถตกลงกันได้ว่ามีทางออกที่ดีกว่า ซึ่งมันก็ยังคงเป็นทางออกที่ยุติธรรมในแง่ของผลการแข่งขัน”
“นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราจำเป็นต้องยอมรับว่า สถานการณ์อย่างในวันนี้ (Italian GP) สามารถเกิดขึ้นได้”
สำหรับ Italian GP 2022 นั้นก็เป็นอีกครั้งที่มีเซฟตี้คาร์ออกมาในช่วงท้ายของการแข่งขัน และจบการแข่งขันภายใต้เซฟตี้คาร์ โดย FIA กล่าวว่าไม่มีความล่าช้าใด ๆ ในกระบวนการควบคุมการแข่งขัน บางสิ่งซึ่ง Christian Horner ทีมบอส Red Bull ไม่เห็นด้วย
“มันเหมือนกับว่าเซฟตี้คาร์นั้นดักรถผิดคัน” Horner กล่าว “และนั่นทำให้มันเกิดความล่าช้าขึ้นไปอีก สำหรับสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นเหตุการณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น”
เซฟตี้คาร์นั้นไม่ได้ดักรถของ Max Verstappen ซึ่งเป็นผู้นำ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่านายสนามนั้นทำผิดพลาด เพราะมันมีกฎข้อบังคับด้านการกีฬาเขียนไว้อย่างชัดเจนในประเด็นนี้
“เซฟตี้คาร์จะเข้ามาในแทร็คด้วยไฟสีส้มสว่าง โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงว่าผู้นำนั้นจะอยู่ ณ จุดใดในแทร็ค”
เหตุการณ์ในวันนั้นคือ ในตอนที่เซฟตี้คาร์เข้ามาในแทร็ค Verstappen ผู้นำนั้นอยู่ในช่วงครึ่งหนึ่งของแทร็ค Charles Leclerc ในอันดับ 2 กำลังจะเข้าโค้ง Lesmo 1 และอันดับ 3 George Russell พึ่งออกจากพิทเลนมา
สถานการณ์นั้นมีความยุ่งยากขึ้นไปอีกเมื่อ Verstappen ตัดสินใจเข้าพิท ทำให้เขาหลุดลึกลงไปในแถวของรถแข่ง ซึ่งนั่นหมายความว่า มี 3 สิ่งที่จะต้องทำก่อนการรีสตาร์ท
อย่างแรกคือ รถแข่งที่อยู่ระหว่างเซฟตี้คาร์และผู้นำจะต้องถูกปล่อยผ่านเซฟตี้คาร์ขึ้นไป อย่างที่สอง รถที่ถูกน็อครอบจะได้รับอนุญาตให้แซงผู้นำและเซฟตี้คาร์ขึ้นไป เพื่อมาต่อท้ายแถวใหม่ และสุดท้าย เซฟตี้คาร์จะเข้าพิทในรอบถัดไป หลังจากที่รถทั้งหมดกลับมาเรียงแถวเรียบร้อย
ความเร็วในการดำเนินการข้างต้นนั้นได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเฉพาะเจาะจง โดยมาจากทั้ง Horner และ Mattia Binotto ทีมบอส Ferrari ซึ่งทั้งคู่กล่าวว่า มันใช้เวลาถึง 3 รอบ กว่าที่เซฟตี้คาร์จะให้สัญญาณกับรถแข่งที่อยู่ระหว่างพวกเขาและผู้นำให้แซงผ่านขึ้นไป
“นั่นเป็นสิ่งหนึ่งที่น่าจะจัดการได้ทันท่วงที มันเป็นกรณีของการดักรถผิดคัน” Horner ยืนยัน “เซฟตี้คาร์ไม่ได้ดักรถผู้นำ และนั่นทำให้เกิดความล่าช้าเป็นอย่างมากกว่าที่รถทั้งหมดจะต้องไล่กลับมาให้ทัน คุณอาจจะเหลือรอบหรือ 2 รอบการแข่งขัน (หากไม่เกิดความล่าช้า)”
รถที่อยู่ระหว่างเซฟตี้คาร์และ Verstappen นั้น ได้ถูกปล่อยหลังจากที่รถทุกคันเรียงแถวอยู่หลังเซฟตี้คาร์แล้วเรียบร้อย ซึ่งอันที่จริง ตามกฎเองก็ไม่ได้ระบุว่าจำเป็นที่จะต้องรอรถทั้งหมดให้เรียงแถวเสร็จก่อน กฎนั้นบอกแต่เพียงว่า “เมื่อได้รับคำสั่งจากนายสนาม เซฟตี้คาร์จะส่งสัญญาณไฟเขียว เพื่อบ่งบอกว่ารถที่อยู่ระหว่างมันกับผู้นำสามารถที่จะแซงผ่านขึ้นไปได้”
แล้วเหตุใดพวกเขาจึงไม่ทำแบบนั้น? ปัญหานั้นอยู่ที่รถของ Daniel Ricciardo
รถ McLaren ของนักแข่งออสซีไม่สามารถที่จะปลดเกียร์ว่างได้ ดังนั้นมันจึงไม่สามารถถูกเข็นไปเก็บ และจำเป็นที่จะต้องใช้รถเก็บกู้มายกไปแทน ซึ่งนั่นหมายความว่าจะต้องมีทีมงานเก็บกู้และสิ่งกีดขวางเพิ่มขึ้นบนแทร็ค
ตามความเข้าใจของสื่อ The Race ลำดับความสำคัญของสถานการณ์ดังกล่าวคือ การเพิ่มช่วงระยะห่างระหว่างรถเพื่อการเก็บกู้ และช่วงระยะห่างนี้จะต้องถูกสร้างโดยเร็วที่สุด แทนที่จะให้รถแข่งวิ่งไปรอบ ๆ แทร็คและสุ่มระยะห่างขึ้นมา
ดังนั้น วิธีที่เร็วที่สุดในการสร้างระยะห่างคือ การให้รถแข่งเรียงแถวกัน โดยไม่สนใจว่าผู้นำจะอยู่หน้าสุดหรือไม่ และไม่อนุญาตให้มีการแซงเกิดขึ้น เนื่องจากมีทีมงานเก็บกู้และรถเครนกำลังทำงานอยู่บนแทร็ค
เมื่อเป็นเช่นนั้น นายสนามก็ไม่อาจมีตัวเลือกอื่นใดให้ทำได้อีก รถแข่งได้รับการปล่อยให้แซงขึ้นไปหลังจากที่ทีมงานเก็บกู้เสร็จสิ้น และพวกเขาก็ไล่กลับมาต่อท้าย แต่ก็เป็นในตอนที่ Verstappen นั้นกำลังขับผ่านรอบสุดท้ายพอดี นั่นหมายความว่า มันไม่เหลือเวลามากพอที่จะให้รถที่ถูกน็อครอบแซงผ่านขึ้นไปได้ และยิ่งไม่ต้องพูดถึงการรีสตาร์ทการแข่งขันเลย
นอกจากนั้น ยังไม่มีกลไกใด ๆ ในกฎข้อบังคับที่จะสามารถตีธงแดง และระงับการแข่งขันโดยไม่มีเหตุอันควร ดังนั้นนายสนามจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการจบการแข่งขันภายใต้เซฟตี้คาร์
“ไม่ว่าผมจะเป็นผู้เสียหายจากอาบูดาบีหรือไม่ กฎเหล่านี้ก็ถูกปฏิบัติตามมาจนถึงทุกวันนี้” Toto Wolff ทีมบอส Mercedes กล่าวสนับสนุนการทำตามกฎของ FIA
“ถ้ามีใครที่ไม่แฮปปี้กับกฎ และคุณต้องการโชว์ระดับอลังการใน 2 รอบการแข่งขัน ผมเอาด้วย แต่ก็นั่นแหละ เราก็ต้องแก้กฎเสียก่อน ดังนั้นผมไม่คิดว่าเราควรจะบ่นอะไรทั้งนั้น เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันก็เป็นไปตามกฎ”
อ้างอิง : the-race.com