More

    แนะวิธีเลือกถังดับเพลิงพกพาในรถ ใช้อย่างไรให้เหมาะสมปลอดภัย!!

    ไฟไหม้รถอาจเป็นอุบัติเหตุที่หลาย ๆ คนอาจมองว่าไกลตัว ในช่วงที่ผ่านมาก็มีเหตุไฟไหม้รถให้เห็นหลายเหตุการณ์ทีเดียว เพื่อความปลอดภัย จึงควรเตรียมความพร้อมด้วยการมี “ถังดับเพลิง” หรือ “กระป๋องดับเพลิงพกพา” ติดรถเอาไว้

    ถังดับเพลิงก็จะมีให้เลือกติดตั้งหลายประเภท แล้วแบบไหนถึงจะเหมาะสำหรับเอาไว้ใช้ในรถ วันนี้เราจะมาช่วยแนะนำวิธีในการเลือกถังดับเพลิงให้เหมาะสมกับรถยนต์ของคุณกันครับ

    เพลิงไหม้ภายในรถมีลักษณะไหนบ้าง ก่อนที่คุณจะเลือกซื้อถังดับเพลิง จะต้องมาคำนึงดูก่อนว่าไฟประเภทไหนบ้างที่อาจจะเกิดขึ้นกับรถยนต์ของคุณได้ ซึ่งแต่ละประเภทนั้นจะมีสารเคมีที่ใช้ในการดับไฟแตกต่างกันออกไป จึงต้องศึกษาเพื่อที่จะเลือกซื้อให้เหมาะสมก่อน

    • เพลิงไหม้ประเภท 1: เพลิงที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่เป็นของแข็ง ซึ่งอาจติดไฟได้จากส่วนที่เป็นวัสดุของรถ เช่น เบาะรถยนต์
    • เพลิงไหม้ประเภท 2: เพลิงที่เกิดจากน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น น้ำมันเครื่อง แก๊สรถยนต์
    • เพลิงไหม้ประเภท 3: เพลิงที่เกิดจากการขัดข้องของระบบไฟฟ้า ซึ่งสามารถเกิดภายในรถได้จากการทำงานผิดพลาดจากแบตเตอรี่ในส่วนของเครื่องยนต์

    เพราะฉะนั้นการเลือกซื้อถังดับเพลิงจึงจะต้องเลือกถังประเภทที่คลอบคลุมไฟทั้ง 3 ประเภทนี้

    วิธีการเลือกถังดับเพลิง ถังดับเพลิงนั้นมีหลายประเภทซึ่งแต่ละประเภทจะแตกต่างกันตรงสารเคมีที่บรรจุอยู่ภายในตัวถัง โดยแต่ละประเภทมีความสามารถในการดับไฟและข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป คือ

    1. สเปรย์โฟม: รองรับการดับเพลิงประเภท 1, 2
      • ข้อดี: น้ำหนักเบา พกพาสะดวก 500 ml
      • ข้อเสีย: ดับไฟได้ไม่ทุกชนิด
    2. ผงเคมีแห้ง: รองรับการดับเพลิงประเภท 1, 2, 3
      • ข้อดี: ราคาไม่สูงมาก สามารถดับไฟได้เร็วกว่าแบบสเปรย์โฟม
      • ข้อเสีย: เมื่อฉีดออกมาจะฟุ้งกระจาย และเมื่อเราทำการฉีดแล้ว แม้จะฉีดเคมีไม่หมดแต่แรงดันจะตก ไม่สามารถใช้งานได้อีก ต้องส่งบรรจุใหม่
    3. สารเหลวระเหย: รองรับการดับเพลิงประเภท 1, 2, 3
      • ข้อดี: สามารถดับไฟได้ทุกประเภท ไม่ทิ้งคราบสกปรกหลังใช้ ใช้ไม่หมดนำมาใช้ซ้ำได้
      • ข้อเสีย: มีราคาค่อนข้างสูง
    4. เคมีสูตรน้ำ: รองรับการดับเพลิงประเภท 1, 2, 3
      • ข้อดี: สามารถดับไฟได้ทุกประเภท ดับไฟได้เร็ว พร้อมป้องกันไฟลุกขึ้นมาติดอีก ใช้ไม่หมดนำมาใช้ซ้ำได้
      • ข้อเสีย: มีราคาสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเภทอื่นๆ

    วิธีการติดตั้ง การติดตั้งดับเพลิงถังใหญ่ไว้ที่กระโปรงหลัง ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะชอบทำแบบนี้ ซึ่งสำหรับคนที่ติดแก๊สรถยนต์ อันนี้ไม่แนะนำ เพราะหากเกิดเพลิงไหม้จากระบบแก๊สจะไม่สามารถใช้ถังดับเพลิงได้ การติดตั้งถังดับเพลิงที่เหมาะสม เราจะขอแนะนำ 2 จุดนี้ครับ

    จุดแรกคือ ภายในห้องโดยสาร แนะนำให้ติดตั้ง ถังดับเพลิงขนาด 2 ปอนด์ ที่มีขนาดไม่ใหญ่มากไว้อย่างน้อย 2 ตำแหน่ง คือบริเวณเบาะหน้าใกล้คนขับ และบริเวณเบาะหลัง

    จุดที่สองคือ ภายในฝากระโปรงหลัง: แนะนำให้ติดตั้ง ถังดับเพลิงขนาด 15 ปอนด์ (สามารถเล็กกว่านี้ได้หากกระโปรงหลังมีพื้นที่น้อย) ซึ่งจะช่วยรองรับการติดไฟขนาดใหญ่ได้

    อุปกรณ์ช่วยยามฉุกเฉิน

    ค้อนนิรภัย ในกรณีที่เหตุไฟไหม้ที่เกิดจากแบตเตอรี่ อาจทำให้ระบบไฟฟ้าภายในรถไม่ทำงาน มีโอกาสที่จะทำให้ เปิดประตูรถไม่สามารถเปิดออกได้ และ ไม่สามารถปลดเข็มขัดนิรภัยได้ หรือ กระจกรถไม่ทำงาน ซึ่งจะทำให้เราหนีออกจากตัวรถไม่ได้ และเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ อุปกรณ์ที่ควรมีติดรถไว้เลยนั่นก็คือ “ค้อนนิรภัย” ซึ่งจะสามารถช่วยคุณทุบกระจกรถเพื่อเอาตัวรอดออกจากรถโดยเร็วที่สุดได้ และตัดเข็มขัดนิรภัยในยามฉุกเฉิน จึงเป็นตัวช่วยที่ดีมากๆ สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินแบนี้

    หน้ากากกรองอากาศ  หากเกิดเพลิงไหม้กับรถแล้ว ก็จะมีควันที่เป็นสารพิษซึ่งอันตรายมากหากสูดดมเข้าไปจำนวนมาก เพื่ออำนวยความสะดวกในการดับไฟฉุกเฉิน ควรพกหน้ากากกรองอากาศเอาไว้เพื่อที่จะสามารถเข้าไปดับไฟได้โดยไม่ต้องเสี่ยงอันตรายจากควันไฟ เพราะควันพิษนี้อาจจะทำให้คุณสำลักและหมดสติได้

    หมายเลขโทรศัพท์หน่วยงานเหตุฉุกเฉิน

      • 191 – แจ้งเหตุด่วน / เหตุร้ายทุกชนิด
      • 199 – แจ้งเหตุไฟไหม้ / ดับเพลิง
      • 1669 – หน่วยฉุกเฉิน (ทั่วประเทศ)
      • 1646 – หน่วยฉุกเฉิน (กทม.)
    Man using car to extinguish a car fire. Close up shot

    สิ่งสำคัญที่สุดที่จะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ไม่คาดคิดนี้ คือการตรวจสอบสภาพรถตามอายุการใช้งาน ตรวจเช็คสภาพให้ละเอียดอย่างน้อย ปีละ 2-3 ครั้ง หรือหากรถของคุณผิดปกติแม้แต่น้อย ก็ควรเช็คทันที ไม่ควรละเลย แม้จะมีอุปกรณ์ฉุกเฉินครบถ้วนแล้ว หากคุณประมาทเลินเล่อ ละเลยไม่ตรวจเช็คให้ดี ก็อาจจะต้องสูญเสียทรัพย์สินที่สำคัญนี้ หรืออาจจะถึงขั้นคร่าชีวิตคนที่คุณรักก็เป็นได้


    บทความอื่น ๆ

    ABOUT THE AUTHOR

    Latest Posts