แต่งรถผิดกฎหมาย ยุคนี้ รอดยาก อาจถูกถ่ายภาพแจ้งขนส่งแน่ เดี๋ยวนี้อะไรได้เงินเอาหมด ไม่เลือกงานไม่ยากจน ใครชอบทำผิดกฎหมาย ไม่แคร์กฎหมาย ระวังจะต้องเสียค่าปรับโดยไม่รู้ตัว
กรมการขนส่งทางบกเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำกับดูแล ร่วมกันสร้างวินัยและความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน โดยให้ประชาชนสามารถส่งพฤติการณ์การกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งครอบคลุมการกระทำผิดของรถโดยสารสาธารณะประเภทต่างๆ ทุกประเภท โดยจะได้รับส่วนแบ่งค่าปรับ 50% หลังหักเงินนำส่งรายได้แผ่นดินแล้ว
อัตราค่าปรับ แต่งรถผิดกฎหมาย
กฎหมายท่อไอเสียรถยนต์ ต้องบอกก่อนว่าการเปลี่ยนท่อไอเสียรถยนต์นั้นไม่ถือว่าเป็นการผิดกฎหมายแต่อย่างใด เพราะไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงรถให้เปลี่ยนไปจากเดิม แต่ถ้าหากไปทำท่อไอเสียรถยนต์ให้มีเสียงดังถือว่าผิดกฎหมาย และต้องโทษปรับสูงสุด 1,000 บาท ซึ่งท่อไอเสียรถไม่ควรมีเสียงดังเกิน 95 เดซิเบล
กฎหมายถอดเบาะหลังติดโรลบาร์ หากจำนวนเบาะในรถยนต์มีจำนวนเท่าเดิมการติดโรลบาร์ถือว่าไม่มีความผิด แต่ถ้าในกรณีที่ถอดเบาะรถยนต์ออก ไม่ได้มีจำนวนเท่าเดิมจะถือว่ามีความผิดฐานมีอุปกรณ์ภายในรถไม่ครบถ้วน มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
กฎหมายรถยกสูง หรือโหลดเตี้ย เจ้าของรถคนไหนที่กำลังมีความคิดที่ว่าจะนำรถไปยกสูงนั้นซึ่งถือว่าทำได้แน่นอน แต่การยกสูงต้องไม่เกิน 135 เซนติเมตร และในส่วนของการโหลดรถให้เตี้ยลงนั้นก็ทำได้เช่นกัน แต่จะต้องไม่ต่ำกว่า 40 เซนติเมตรเมื่อวัดระยะกึ่งกลางไฟหน้ากับระดับพื้นถนน
และถ้าหากมีการดัดแปลงสภาพช่วงล่างของตัวรถ ก็จำเป็นต้องขอหนังสือรับรองจากวิศวกร และต้องแจ้งขนส่งด้วยเหมือนกัน ในกรณีที่ใส่สปอยเลอร์จนตัวรถเตี้ยลจนงแทบจะติดกับพื้นถนน ในส่วนนี้จะผิดกฎหมายหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของเจ้าหน้าที่และช่างตรวจสภาพรถที่ขนส่งนั่นเอง
ใส่ไฟไอติม หากใครที่ติดไฟไอติมบอกเลยว่าผิดกฎหมายแน่นอน หากไปดัดแปลงไฟหน้าให้มีความสว่างมากกว่าไฟปกติหรือสว่างกว่าเดิมที่ออกมาจากโรงงาน เพราะถือว่าอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุผลท้องถนนได้ ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก ในมาตรา 38 ได้ระบุไว้ว่า ไฟเลี้ยวรถยนต์ จะต้องเป็นแสงสัญญาณกะพริบสีอำพัน, ไฟหยุด (ไฟเบรก) เป็นแสงแดงเท่านั้น หากมีการแต่งไฟสี หรือทำให้ไฟสว่างกว่าเดิมจะมีการระวางโทษปรับสูงสุด 2,000 บาท
กฎหมายรถเสริมแหนบ หรือเบิลโช้ค หากเสริมแหนบหรือเบิลโช้คมาแล้วไม่แจ้งทางขนส่ง จะมีความผิดตามพ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 ที่บัญญัติไว้ว่า รถใดที่จดทะเบียนแล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดเปลี่ยนแปลงตัวรถหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของรถให้ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้และใช้รถนั้น เว้นแต่เจ้าของรถนำรถไปให้นายทะเบียนตรวจสภาพก่อน ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาทเช่นกัน
อัตราค่าปรับทำทำผิดกฎหมายจราจร
1. เด็กแว้น (รับเงินส่วนแบ่ง 3,000 บาท)
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ตั้งรางวัลนำจับให้แก่ประชาชนที่ให้ข้อมูลแจ้งเบาะแสเด็กแว้น เพื่อการป้องกันและปราบปราบการใช้รถจักรยานยนต์ที่สร้างความเดือดร้อน โดยสามารถแจ้งเบาะแสได้ผ่านสายด่วนหมายเลข 191 หรือ หมายเลข 1599 หากสามารถนำไปสู่การจับกุมดำเนินคดีได้ มีเงินรางวัลตอบแทนให้ 3,000 บาท
2. การจอดทิ้งซากรถ (รับส่วนแบ่งค่าปรับ 50%)
ในส่วนของการดำเนินคดีตามกฎหมายนั้น จะมีการสืบหาเจ้าของซากรถยนต์ก่อน โดยจะติดประกาศ 15 วัน หากไม่พบเจ้าของรถ จะเคลื่อนย้ายไปเก็บรักษาไว้ในพื้นที่ของสำนักงานเขตนั้น ๆ และหากมีเจ้าของมาติดต่อในอนาคตจะดำเนินการเปรียบเทียบปรับ แต่ถ้าไม่มีเจ้าของมาติดต่อ จะจัดเก็บซากรถยนต์ไว้ประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการเขต ในการขายทอดตลาดซากรถยนต์ต่อไป
เงื่อนไขการรับเงินรางวัลนำจับ ต้องมีการเปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดให้เสร็จสิ้นเสียก่อน ผู้แจ้งเบาะแสจึงจะได้รับเงินรางวัลนำจับจำนวนครึ่งหนึ่ง หรือ 50% ของเงินค่าปรับนั้นๆ
3. ขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า (รับส่วนแบ่งค่าปรับ 50%)
การขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า นอกจากจะเป็นความผิดในคดีจราจรทางบกแล้ว ยังเป็นความผิดในคดีอาญาด้วย มีโทษปรับถึง 5,000 บาท ตาม พ.ร.บ. รักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยหากดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับกับผู้กระทำความผิดแล้วเรียบร้อยแล้ว ผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับเงินส่วนแบ่งค่าปรับ 50% ของค่าปรับ
4. การปล่อยของเสีย, ขีดเขียน, กั๊กที่จอดรถ (รับส่วนแบ่งค่าปรับ 50%)
นอกจากนี้ หากพบเห็นการกระทำความผิดที่ดูเหมือนจะเล็กน้อย แต่ก็ถือว่าผิด! และสามารถแจ้งเบาะแสได้เช่นกัน ได้แก่ การปล่อยสัตว์อุจจาระในสถานที่สาธารณะแล้วไม่เก็บ , การพ่นสี หรือขีดเขียนกำแพงในที่สาธารณะ, การกั๊กที่จอดรถ ฯลฯ
สำหรับใครกำลังอยากจะทำอาชีพเสริมดังกล่าว ก็มีวิธีง่าย ๆ ดังนี้
1. ผู้แจ้งเบาะแสสามารถแจ้งพฤติการณ์การกระทำความผิดชัดเจน วัน เวลา สถานที่เกิดเหตุ รายละเอียด ทะเบียนรถ และอื่น ๆ พร้อมพยานหลักฐาน รูปภาพ, VDO Clip ร้องเรียนได้ที่ ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสาร และรับเรื่องร้อนเรียนผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่
- โทรศัพท์ 1584 และจดหมายหรือหนังสือร้องเรียน
- ทาง Sicial Network : Line @1584DLT และเฟซบุ๊กเพจ
- 1584 ร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะทาง
- ทาง Internet : อีเมล์ [email protected] และ www.dlt.go.th
- เดินทางมาติดต่อด้วยตนเองที่กรมการขนส่งทางบก, ศูนย์บริการข้อมูลภาพรัฐ “GECC111 ทำเนียบรัฐบาล” “GECC กรมการขนส่งทางบก”
2. ยืนยันการรับแจ้งเรื่องร้องเรียนของผู้แจ้งความนำจับผ่านทาง SMS
3. กรมการขนส่งทางบก ดำเนินการเรียกผู้กระทำความผิดมารายงานตัว และสอบสวน
4. SMS แจ้งผู้แจ้งความนำจับว่าดำเนินคดีสิ้นสุดแล้ว และพร้อมโอนเงินส่วนแบ่งค่าปรับตามที่ผู้แจ้งยื่นคำร้อง ภายใน 15 วันทำการ
หากทราบแบบนี้แล้ว หวังว่าข้อกำหนดนี้อาจจะช่วยลดจำนวนรถที่กระทำผิดกฎมายสร้างความก่อกวน น่ารำคาญ ในบ้านเราไปได้บ้าง และยิ่งยุคโควิด 19 ที่หากินกันยาก เงินหายากเช่นนี้ นี่อาจจะเป็นอีกช่องทางนึงที่จะช่วยให้หลาย ๆ คนมีรายได้จุนเจือปากท้องได้บ้างนะคะ 5555
บทความอื่น ๆ