ในช่วงพายุเข้าหรือฤดูฝนเวลาที่ตกหนัก ๆ ในประเทศไทย จะเห็นได้ว่ามีข่าวอุบัติเหตุมากมายเกิดขึ้นแทบจะทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะข่าว คานปูนหล่นทับรถยนต์บ้าง เสาเหล็กจากการก่อสร้างถนนหล่นทับรถยนต์ และที่พบเจอได้บ่อยที่สุดคือ ต้นไม้โค่นหล่นทับรถยนต์ ซึ่งสร้างความสูญเสียและเสียหายมากมายนับครั้งไม่ถ้วน ลองมาดูตัวบทกฎหมายที่จะช่วยให้คุณคลี่คลายสถานการณ์นี้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกค่าสินไหม หรือการเรียกร้องความรับผิดชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันดูค่ะ
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่น โดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย สิทธิเสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดนึง กล่าวไว้ว่า ผู้นั้นทำละเมิด จำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
- ในกรณีที่เป็นความบกพร่องจากการดูแลต้นไม้ หรือปลูกต้นไม้ของบุคคลหรือหน่วยงานนั้น ๆ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 434 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นก่อสร้างไว้ชำรุดบกพร่องก็ดี หรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอก็ดี ท่านว่าผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อปัดป้องมิให้เกิดเสียหายฉะนั้นแล้ว ท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงความบกพร่องในการปลูกหรือค้ำจุนต้นไม้หรือกอไผ่ด้วยในกรณีที่กล่าวมาในสองวรรคข้างต้นนั้น ถ้ายังมีผู้อื่นอีกที่ต้องรับผิดชอบในการก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วยไซร้ ท่านว่าผู้ครองหรือเจ้าของจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้นั้นก็ได้
- หลักในการพิจารณา ความบกพร่องในการปลูกต้นไม้?
บกพร่องในการปลูก หมายถึง ปลูกเองโดยบกพร่อง บกพร่องในการค้ำจุนต้นไม้ หมายถึง ปลูกเองหรือให้คนอื่นมาปลูก หรือคนอื่นปลูกมาก่อน หรือต้นไม้ที่ขึ้นเอง แต่ไม่ค้ำจุนให้ดี รวมทั้งแผ่กิ่งก้านสาขาไปทำความเสียหายแก่ผู้อื่นด้วย
-
- หากเกิดเหตุต้นไม้ริมทางหลวงล้มทับผู้ตายขณะขับรถจักรยานยนต์ใครรับผิดชอบ ?
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5205/2550 วันเกิดเหตุฝนตกไม่มากและลมพัดไม่แรง การที่ต้นจามจุรีริมทางหลวงล้มทับผู้ตายขณะขับรถจักรยานยนต์ไปตามทางหลวงจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายมิใช่เกิดจากเหตุสุดวิสัย แต่เป็นเพราะความบกพร่องของกรมทางหลวงจำเลยที่ไม่โค่นหรือปล่อยปละละเลยไม่สั่งเจ้าหน้าที่ของจำเลยไปโค่นต้นจามจุรีที่มีสภาพผุกลวงเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น อันเป็นการกระทำละเมิดของจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
-
- หากเกิดเหตุต้นไม้ข้างบ้านล้มเอนทำให้ได้รับความเสียหายใครรับผิดชอบ?
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3593/2528 ต้นไม้ของจำเลยล้มเอนเข้าไปในที่ดินของโจทก์บอกกล่าวให้ จำเลยตัด จำเลยก็ไม่ยอมตัดและไม่ยอมให้โจทก์ ตัดแสดงว่าจำเลย ยังครอบครองและแสดงความหวงแหนเป็นเจ้าของต้นไม้นั้นอยู่ดังนั้น ตราบใดที่จำเลยยังคงปล่อยให้ต้นไม้ของจำเลยล้มเอนเข้าไปในที่ดิน ของโจทก์โดยไม่ยอมค้ำจุนหรือตัดออกเพื่อระงับความเสียหาย อันจะเกิดแก่โจทก์ต่อไป ย่อมถือได้ว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ ติดต่อกันมาอยู่ตราบนั้นโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนที่ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปีย้อนหลังไปนับแต่วันฟ้อง
-
- หากต้นไม้ที่อยู่ในความดูแลของเทศบาลล้มทับรถยนต์ได้รับความเสียหายใครรับผิดชอบ?
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 75/2538 ต้นสนที่อยู่ข้างถนนซึ่งเทศบาลจำเลยที่1มีหน้าที่ดูแลมีสภาพผุกลวงแม้จะมีฝนตกและฟ้าคะนองในวันเกิดเหตุแต่ก็เป็นฝนตกเล็กน้อยและปานกลางในช่วงสั้น ๆ และความเร็วของลมก็เป็นความเร็วลมปกติการที่ต้นสนล้มลงทับรถยนต์โจทก์จึงมิใช่เกิดจากเหตุสุดวิสัยเนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนแต่เป็นความบกพร่องของจำเลยที่ 1 ที่ไม่ยอมโค่นหรือค้ำจุนต้นสนเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิด ค่าเสียหายเพราะเหตุที่โจทก์ต้องทุพพลภาพตลอดชีวิตโดยระบบประสาทไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้เสียสมรรถภาพทางเพศและไม่สามารถเดินได้กับค่าเสียหายที่โจทก์ต้องทนทุกข์ทรมานจากการทุพพลภาพตลอดชีวิตเป็นค่าเสียหายอันมิใช่ตัวเงินทั้งสองกรณีอันเนื่องมาจากเหตุที่ต่างกันจึงแยกจำนวนให้ชดใช้ตามเหตุที่แยกออกจากกันเป็นแต่ละเหตุได้
ทั้งนี้ตามบทบัญญัติดังกล่าว ได้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่ดีสำหรับหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนว่าจะต้องระแวดระวัง เอาใจใส่และป้องกัน มิให้เกิดปัญหาขึ้นตลอดเวลา หากกรมทางหลวงได้มีความระแวดระวังอุบัติภัยอันอาจจะเกิดขึ้นจากต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ริมทางหลวง ซึ่งมีลักษณะเอนเข้าหาถนนก็ควรที่จะจัดการตัดโค่น เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้สัญจรไปมาเพราะไม่ว่าอุบัติภัยที่เกิดขึ้นจะเป็นเหตุ “สุดวิสัย” หรือ “ป้องกันได้” ที่สุดก็คือความสูญเสีย
กรณีต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ หากเราจอดรถในลักษณะที่ไม่ผิดกฎหมาย หรือไม่จอดรถในที่ห้ามจอดแล้วรถของคุณได้รับความเสียหาย ในทุกภาคส่วนที่รับผิดชอบตรงพื้นที่นั้น ๆ จะต้องเป็นคนจ่ายค่าสินไหมและรับผิดชอบ หรือถ้าหากคุณมีประกันภัยให้เรียกประกันมาช่วยเจรจาหรือคุยจะดีที่สุด จะได้เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามหากในช่วงฤดูฝนควรหลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยงกรณีการจอดใกล้ต้นไม้ หรือเสาไฟฟ้า หรือสิ่งซากปรักหักพัง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นนี้จะดีที่สุดนะคะ
บทความอื่น ๆ