กรมการขนส่งทางบกได้รับแจ้งจากประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนเกี่ยวกับกรณีที่ได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากรถยนต์ที่ติดตั้งโคมไฟจำนวนหลายดวงบริเวณโดยรอบด้านหน้าและด้านท้ายของตัวรถ รวมถึงมีการปรับแต่งทิศทางการส่องสว่างของโคมไฟหน้ารถให้สูงขึ้นจากเดิม หรือดัดแปลงอุปกรณ์ส่วนควบหรือเพิ่มเติมส่วนหนึ่งส่วนใดเข้าไป จนทำให้แสงมีความสว่างจ้ามากจนเกินไป อาจโดนปรับสูงสุดถึง 5 หมื่นบาท
การดัดแปลงไฟท้ายรถเป็นแสงกะพริบหรือใช้แสงสีต่างๆ ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด กรมการขนส่งทางบกขอความร่วมมือเจ้าของรถตระหนักถึงความสำคัญความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน และควรใช้งานรถตามมาตรฐานของผู้ผลิต ไม่ควรแก้ไขดัดแปลงไฟหน้า-ไฟท้ายรถ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย หากแสงไฟส่องเข้าตาผู้ใช้รถใช้ถนนรายอื่น ทำให้สายตาพร่ามัว อาจเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุได้
สำหรับโทษของรถตกแต่งไฟหน้า-ไฟท้ายที่สีผิดปกติ ฝ่าฝืนดัดแปลงอุปกรณ์ส่องสว่างในลักษณะสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ร่วมใช้ทางคนอื่น ๆ เสี่ยงต่ออันตรายบนท้องถนน หากตรวจพบโดนปรับหนัก 2,000-50,000 บาท และอาจถูกสั่งระงับการใช้รถจนกว่าจะถูกให้แก้ไขจนแล้วเสร็จ
การดัดแปลงไฟหน้า-ไฟท้ายให้มีลักษณะผิดแปลกไปจากที่ติดตั้งมาจากโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความสว่างจ้ารบกวนสายตาผู้ร่วมทาง, ใช้หลอดไฟที่มีลักษณะกระพริบ, หลอดไฟสีต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นความผิดตามตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่ได้มีการกำหนดลักษณะไฟที่เหมาะสมไว้ดังนี้
1. โคมไฟแสงพุ่งไกล ให้ติดหน้ารถข้างละหนึ่งดวง สูงจากพื้นรายถึงจุดศูนย์กลางดวงโคมไฟไม่น้อยกว่า 0.60 เมตร แต่ไม่เกิน 1.35 เมตร โคมไฟทั้งสองข้างอยู่ระดับเดียวกัน ใช้ไฟแสงสีขาวมีกำลังไม่เกินดวงละ 50 วัตต์ มีแสงสว่างให้เห็นพื้นทางได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 100 เมตร ศูนย์รวมแสงต้องไม่สูงกว่าแนวขนานพื้นทางราบ และไม่เฉไปทางขวา
2.โคมไฟแสงพุ่งต่ำ ให้ติดหน้ารถข้างละหนึ่งดวง สูงจากพื้นราบถึงจุดศูนย์กลางดวงโคมไฟไม่น้อยกว่า 0.60 เมตร แต่ไม่เกิน 1.35 เมตร โคมไฟทั้งสองข้างต้องอยู่ในระดับเดียวกัน ใช้ไฟแสงสีขาวมีกำลังไฟเท่ากันไม่เกินดวงละ 50 วัตต์ มีแสงสว่างให้เห็นพื้นทางชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 30 เมตร ศูนย์รวมแสงต้องอยู่ต่ำกว่าแนวขนานกับพื้นทางราบไม่น้อยกว่า 2 องศา หรือ 0.20 เมตร ในระยะ 7.50 เมตร และไม่เฉไปทางขวา
3.โคมไฟเล็ก ให้ติดหน้ารถอย่างน้อยข้างละหนึ่งดวง โดยให้อยู่ทางริมสุด แต่ละล้ำเข้ามาได้ไม่เกิน 0.40 เมตร โคมไฟทั้งสองข้างต้องอยู่ในระดับเดียวกัน ใช้ไฟแสงขาวหรือแสงเหลือมีกำลังไฟเท่ากันไม่เกินดวงละ 10 วัตต์ และต้องมีแสงสว่างสามารถมองเห็นได้จากระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร
ทั้งนี้ หากเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล จะมีความผิดตาม พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 ฐานใช้รถที่มีอุปกรณ์ส่วนควบไม่ถูกต้องตามที่กำหนด มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท ส่วนรถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะจะมีความผิดตาม พ.ร.บ. ขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ฐานเพิ่มเติมสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าไปซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของผู้อื่น มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 20,000 บาท
บทความอื่น ๆ