ทุกวันนี้จะได้ยินข่าวอุบัติเหตุเกิดขึ้นมากมายบนท้องถนน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการที่ผู้ขับขี่รถยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์ ใช้ความเร็วเกินกำหนด ขับขี่ด้วยความประมาท และไม่เคารพกฎจราจร โดยเฉพาะที่เรามักพบเห็นได้บ่อยนั่นคือ การขับย้อนศร หรือการขับสวนเลน
ส่วนใหญ่ที่ย้อนศรกันเป็นประจำแก้ไม่หายเลยก็คือ รถมอเตอร์ไซค์ เพราะมีขนาดเล็ก ลัดเลาะได้ง่าย ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่มักง่ายและสร้างความเดือดร้อนบ่อยที่สุด ส่งผลต่อการจราจรที่อาจติดขัดบ้าง หากโชคร้ายอาจถึงขั้นเกิดอุบัติเหตุได้อีก
วันนี้เราจะมาเปิดข้อกฏหมายจราจรทางบกเกี่ยวกับการขับรถย้อนศรหรือสวนทางกันดูว่า จะมีโทษอย่างไรบ้าง เสียค่าปรับเท่าไร และหากเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงผู้ย้อนศรบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ใครจะต้องเป็นคนผิดและรับผิดชอบบ้าง มาดูคำตอบกันครับ
ขับรถย้อนศร มีโทษตามกฏหมายและค่าปรับ ดังนี้
- ผู้ขับขี่รถย้อนศรมีความผิดตามกฎหมาย โทษปรับ 200-500 บาท (พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 33 มาตรา 34 บทลงโทษตามมาตรา 151)
- ขับรถย้อนศร แล้วเกิดอุบัติเหตุ มีโทษทางอาญา ฐานขับรถไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่นมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ( 8 ) มาตรา 160 (3)
หากขับรถย้อนศรแล้วเกิดอุบัติเหตุ ใครจะต้องรับผิดชอบ?
- หากเราขับรถอยู่ในช่องทางปกติแล้วมีรถขับย้อนศรมาชน หรือเราเป็นฝ่ายขับขี่รถย้อนศรไปชนกับรถที่ขับอยู่ในช่องทางปกติ ในส่วนของความผิดนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ
-
- กรณีแรก ความผิดตามกฎหมาย ผู้ที่ขับรถย้อนศรจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522
- กรณีที่สอง ความผิดของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นใครเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะใช้เวลาสืบสวนสอบสวนสักระยะ เพื่อประเมินลักษณะของการขับขี่ว่าใครเป็นฝ่ายถูกหรือผิด หากมีกล้องหน้ารถ หรือกล้องวงจรปิดบริเวณที่เกิดเหตุ อาจช่วยลดระยะเวลาในขั้นตอนนี้ได้มาก
-
แต่ถึงจะมีการสืบสวนสอบสวนก็ตามแต่ อย่างไรแล้วผู้ที่ขับรถย้อนศรก็ยังคงมีความผิดในฐานละเมิดกฏหมายจราจรซึ่งก็อาจจะต้องเสียค่าปรับในส่วนนั้น และในส่วนของอุบัติเหตุก็ต้องว่ากันไปตามความผิดถูกมากน้อย
แต่ทางที่ดี ควรขับรถในกฏระเบียบ ไม่ควรละเมิดกฏจราจร เพราะจะทำให้คุณเสียทั้งเวลาทำงาน เสียทั้งเงิน อย่างร้ายแรงที่สุดก็อาจจะเสียชีวิตได้ ดังนั้นไม่ควรประมาทและควรเห็นแก่ส่วนรวมไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นกันนะครับ
บทความอื่น ๆ