More

    อธิบายมาตรฐานการทดสอบรถยนต์ไฟฟ้า WLTP, NEDC, CLTC, EPA

    ระยะทางนั้นน่าจะเป็นหนึ่งในความกังวลมากที่สุดสำหรับผู้ที่สนใจจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้งาน เราจะรู้ได้อย่างไรว่ารถคันนี้สามารถวิ่งได้ระยะทางเท่าไหร่ถ้ามันมีไฟในแบตเตอรี่เต็มเปี่ยม? และนั่นจึงเป็นที่มาของการทดสอบระยะทางวิ่งที่แต่ละองค์กรพยายามคัดสรรมาดำเนินการ

    หลักๆ แล้ว ณ ปัจจุบันมีการทดสอบทั้งหมดจาก 4 องค์กร คือ EPA (Environmental Protection Agency) Ratings, WLTP (Worldwide Harmonised Light Vehicle Test Procedure), NEDC (New European Driving Cycle), และ CLTC (China Light Duty Vehicle Test Cycle) ซึ่งแต่ละองค์กรนั้นก็มีความเหมาะสมต่อการอ้างอิงแตกต่างกันออกไป

     

    EPA

    EPA นั้นมักจะถูกเรียกว่า “ขั้นตอนการทดสอบในเมือง/ทางหลวง แบบเป็นวัฏจักร” โดยทางหน่วยงานจะจับรถที่จะทดสอบขึ้นไดโนและใช้วัฏจักรการทดสอบที่แตกต่างกันไป การทดสอบนั้นจะเริ่มต้นจากการชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็ม จากนั้นจะทิ้งรถไว้ 1 คืน และเช้าวันต่อมาถึงจะจับมันขึ้นไดโนทดสอบ

    ตัวรถนั้นจะถูกวิ่งบนไดโนแบบในเมืองและทางหลวงวนซ้ำไปซ้ำมา จนกว่าแบตเตอรี่นั้นจะไม่เหลือไฟให้รถวิ่งได้อีก หลังจบการทดสอบ EPA จะนำค่าที่ได้มาคูณกับ 0.7 ซึ่งเราก็จะได้อัตราการสิ้นเปลืองออกมาเป็น MPGe

     

    NEDC

    NEDC เป็นมาตรฐานการทดสอบแบบเก่าของยุโรป มันเป็นกระบวนการทดสอบที่ถูกพัฒนาขึ้นในยุค 70 แน่นอนว่ามันเป็นมาตรฐานที่เรียกได้ว่าตกยุคไปแล้วในปัจจุบันและให้ค่าการทดสอบที่ไม่แม่นตรงกับการใช้งานในชีวิตจริงเลย

    WLTP

    จุดเปลี่ยนที่ NEDC ถูกยุโรปโละออกไปนั้นมาจากกรณี Diesel Gate ที่ VW ทำเรื่องอื้อฉาวกับการโกงค่าการทดสอบรถยนต์ดีเซล และนั่นจึงเป็นที่มาของการทดสอบที่ทันสมัยมากขึ้นอย่าง WLTP ซึ่งมันมีการตอบสนองต่ออัตราสิ้นเปลืองไฟในสภาวะการจราจรได้ดีกว่า NEDC อันเป็นผลมาจากสภาวะการทดสอบที่สมจริงกว่า WLTP ใช้วัฏจักรการขับที่ยาวนานกว่า มีการใช้งานรถในสภาวะเหมือนจริงเข้ามาเป็นปัจจัยการคำนวณ เช่น การเปิดใช้งานเครื่องปรับอากาศ และมีการวัดค่าอัตราสิ้นเปลืองพลังงานจากการใช้รถที่ความเร็วระหว่าง 47 – 132 km/h

    อย่างไรก็ตามใช่ว่า WLTP จะไม่มีปัญหาในการทดสอบเลย เช่น มันถูกทดสอบภายใต้สภาวะอุณหภูมิที่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวด ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้านั้นมักจะสูญเสียระยะทางวิ่งจากสภาวะอากาศเย็นจัด ทำให้ค่าที่ได้จาก WLTP นั้นต่ำกว่าค่าอัตราสิ้นเปลืองจริง

    CLTC

    จีนนั้นเป็นอีกประเทศหนึ่งที่อ้างอิงการทดสอบจาก NEDC แน่นอนว่าพวกเขาเองก็มองหาวิธีการทดสอบที่จะได้ค่าการทดสอบที่แม่นตรงกว่าเดิม ดังนั้นพวกเขาจึงได้ริเริ่ม CLTC ขึ้นมาซึ่งเป็นรูปแบบการทดสอบที่พวกเขาใช้กับตลาดรถภายในประเทศเท่านั้น

    CLTC นั้นจะมีเฟสการทดสอบอยู่ 3 เฟส คือ ช้า, กลาง, และ เร็ว กระบวนการทดสอบนั้นจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที ซึ่งรถที่ถูกทดสอบจะวิ่งไปได้ระยะทางประมาณ 14.5 km เรียกได้ว่า CLTC นั้นมีความคล้ายคลึงกับ WLTP อยู่พอสมควร อย่างไรก็ตามมีสิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน 2 ข้อ คือ CLTC นั้นมีการหยุดรถมากกว่า WLTP และ CLTC ทดสอบที่ความเร็วจำกัดที่ 114 km/h

    การทดสอบแบบไหนเหมาะกับบ้านเรามากที่สุด?

    จากข้อมูลการเก็บสถิติการทดสอบ EPA นั้นดูเหมือนว่าจะมีการทดสอบที่ให้ค่าใกล้เคียงกับการใช้งานในชีวิตจริงมากที่สุด โดยตามสถิติที่เก็บมานั้น EPA จะมีค่าอัตราสิ้นเปลืองต่ำกว่าค่าการใช้งานจริงประมาณ 11% ในขณะที่ WLTP นั้นมีค่าการทดสอบที่ใกล้เคียงกับการใช้งานจริงรองลงมา

    อย่างไรก็ตามค่าการทดสอบทั้งหลายนั้นอาจจะไม่มีความใกล้เคียงกับการใช้งานในบ้านเราเลยก็เป็นได้ ทั้งนี้เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่มีผลต่ออัตราสิ้นเปลืองพลังงาน ทั้ง ลักษณะนิสัยการขับของผู้คนในแต่ละซีกโลก สภาพการจราจรในแต่ละเมือง และสิ่งที่น่าจะแตกต่างที่สุดก็คือ สภาพอากาศ ซึ่งบ้านเรานั้นมีอุณหภูมิเฉลี่ยที่ร้อนกว่าทางฝั่งยุโรปหรืออเมริกา

    ดังนั้นวิธีที่จะรู้ถึงอัตราสิ้นเปลืองพลังงานที่แน่นอนที่สุดนั้นก็คือ การใช้งานของเราเองในแต่ละสถานการณ์ประจำวัน แต่ถ้าหากคุณต้องการที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าสักคันมาใช้ คุณอาจจะอ้างอิงตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองที่แต่ละค่ายนั้นให้มา และบวกเผื่อไปสัก 20% ก็น่าจะช่วยให้คุณสามารถที่จะกะประมาณอัตราสิ้นเปลืองพลังงานประกอบการตัดสินใจในการซื้อของคุณได้แล้ว

    อ้างอิง : licarco.com

    ABOUT THE AUTHOR

    Latest Posts