ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันไม่จบไม่สิ้น ว่าเวลาเกิดอุบัติเหตุรถชนกันขณะเปลี่ยนเลน ใครจะเป็นฝ่ายผิดฝ่ายถูกกันแน่ ซึ่งเป็นเรื่องน่าปวดหัวระดับนึงของผู้ใช้รถที่เกิดอุบัติเหตุเช่นนี้ วันนี้เราจะมายกตัวอย่างเคสที่พบเจอได้บ่อย บนท้องถนนว่ากรณีแบบไหน ฝ่ายไหนชนหรือฝ่ายถูกชนในลักษณะไหนเป็นฝ่ายผิดกันแน่
1. เปลี่ยนเลนกะทันหัน ทำให้รถในเลนตรงมาชนท้าย ใครผิด?
กรณีที่รถเปลี่ยนเลนกะทันหัน แล้วรถเลนที่เราจะเข้านั้นมาชนด้านข้าง ส่วนใหญ่จะถือว่ารถที่กำลังเปลี่ยนเลนเป็นฝ่ายผิด เพราะถือว่าปาดแซงหน้ากะทันหัน ทำให้รถที่วิ่งทางตรงไม่สามารถหยุดรถได้ทัน วิธีการเปลี่ยนเลนที่ถูกต้องและปลอดภัยเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ควรเปิดสัญญาณไฟเลี้ยวในระยะไม่น้อยกว่า 80 เมตร เพื่อคันหลังจะได้ชะลอความเร็ว หรือให้ทางแก่เราได้
2. เปลี่ยนเลนและตั้งลำรถเข้าเลนเรียบร้อยแล้ว แต่รถในเลนวิ่งมาชนท้าย ใครผิด?
หากเราเปิดสัญญาณไฟเลี้ยวเพื่อขอเข้าเลนแล้วในระยะนึง ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนเลนกะทันหัน และตั้งลำรถเข้าในเลนเรียบร้อยแล้ว แต่มีรถในเลนวิ่งมาชนท้ายด้วยความเร็วที่เกินกำหนด โดยส่วนใหญ่จะถือว่ารถที่อยู่ทางตรงเป็นฝ่ายผิด
3. ขับรถออกจากทางรอง เพื่อตัดเข้าทางหลักแล้ววิ่งเข้าเลนนอกที่มีมากกว่า 2 เลนทันที ทำให้รถในเลนตรงวิ่งมาชน ใครผิด?
กรณีนี้ส่วนใหญ่รถในทางรองที่ออกมาจากซอยแล้วตัดเข้าเลนหลักที่มีมากกว่า 2 เลน จะถือว่าเป็นฝ่ายผิด เพราะถือว่าพยายามเปลี่ยนเข้าเลนนอกสุดแบบกระทันหันทันที โดยไม่ชะลอในระยะที่ปลอดภัยจากรถคันอื่น ซึ่งกรณีนี้รถทางรองควรให้ทางกับรถทางหลักก่อนเสมอ หากทางรองเห็นว่าปลอดภัยดีแล้ว จึงจะค่อยเปลี่ยนเลนได้
ทั้งนี้ในกรณีที่เกิดการชนขณะเปลี่ยนเลนยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่จะเอามาอ้างอิงว่าฝ่ายไหนผิดหรือถูก คือระยะความเร็วในการขับว่าเกินกำหนดหรือไม่ สัญลักษณ์จราจร กฎหมายจราจร เส้นแบ่งถนนในเลนห้ามแซง ห้ามเลี้ยว ห้ามเปลี่ยนเลนต่างๆ เราจะต้องคอยสังเกตให้ดีอีกด้วย ซึ่งสามารถเอามาโต้แย้งได้ทุกกรณีข้างต้น หากเป็นการเปลี่ยนเลนที่ผิดกฎจราจรแล้วเราเป็นฝ่ายชนนั้น ก็จะทำให้คุณกลับมาเป็นฝ่ายถูกได้