ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ปี 2567 สายดื่ม สายเมา ต้องเช็กกฎหมายกันสักหน่อย วันนี้ลองมาเปิดบทลงโทษ ค่าปรับ – จำคุก คดี ” เมาแล้วขับ ” ในปี 2567 นี้กันครับ
คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ได้ออก 5 มาตรการหลักในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ การขับเคลื่อนแบบบูรณาการ การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ การป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงระดับชุมชน การบังคับใช้กฎหมาย และการคัดกรอง บำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพผู้มีปัญหาการดื่มสุรา
การดำเนินงานแบ่งเป็น 3 ช่วง
- ช่วงเตรียมความพร้อมก่อนเทศกาลปีใหม่: รณรงค์จัดกิจกรรมปีใหม่ปลอดเหล้า ประชาสัมพันธ์ให้ร้านค้าและประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี
- ช่วงเทศกาลปีใหม่: ใช้มาตรการชุมชน เพิ่มความมีส่วนร่วมของประชาชนในรูปแบบ “ด่านครอบครัว” เพื่อเน้นย้ำให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานและคนในครอบครัวไม่ให้ดื่มแล้วขับขี่ยานพาหนะ เพิ่มศักยภาพด่านชุมชนคัดกรองผู้ขับขี่ที่มีอาการมึนเมา
- ช่วงหลังปีใหม่: เน้นคัดกรองส่งต่อผู้กระทำผิดฐานเมาแล้วขับที่ถูกศาลสั่งคุมประพฤติ ให้เข้ารับการบำบัดรักษา
ส่วนพื้นที่เป้าหมายที่มีมาตรการรองรับการขยายเวลาเปิดสถานบริการ (ถึงตี 4) ได้แก่ สถานบริการที่ตั้งอยู่ในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม (ทั่วประเทศ) และสถานบริการที่ตั้งอยู่ในท้องที่กรุงเทพฯ จ.ภูเก็ต จ.ชลบุรี จ.เชียงใหม่ และ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ. 2546 และ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551
“กฎหมาย เมาแล้วขับ ” มีอะไรบ้าง?
- ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
สำหรับผู้ขับขี่มีอายุน้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หรือมีใบขับขี่ชั่วคราว (ใบอนุญาตแบบ 2 ปี) ถือเป็น “ผู้เมาสุรา”
- ปริมาณเแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกพักใช้ใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือยกเลิกใบขับขี่
กรณี “ เมาแล้วขับ ” หรือปฏิเสธการเป่า
มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 10,000-20,000 บาท และถูกสั่งพักใช้ใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน และศาลสามารถสั่งพักใบขับขี่ หรือยกเลิกใบขับขี่ และสามารถยึดรถไว้ไม่เกิน 7 วัน
กรณี “ เมาแล้วขับ ” จนทำให้ผู้อื่น “บาดเจ็บ”
มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี ปรับ 20,000-100,000 บาท และถูกสั่งพักใช้ใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือยกเลิกใบขับขี่
กรณี “ เมาแล้วขับ ” จนทำให้ผู้อื่น “บาดเจ็บสาหัส”
มีโทษจำคุก 2-6 ปี ปรับ 40,000-120,000 บาท และถูกสั่งพักใช้ใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือยกเลิกใบขับขี่
กรณี “เมาแล้วขับ” จนทำให้ผู้อื่น “ถึงแก่ความตาย”
มีโทษจำคุก 3-10 ปี ปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งยกเลิกใบขับขี่ทันที
ถ้าเกิด “ เมาแล้วขับ ” ประกันรถยนต์คุ้มครองไหม?
- กรณีที่ 1 พ.ร.บ.รถยนต์
จะคุ้มครองผู้เอาประกันรถยนต์และคู่กรณี โดยไม่พิสูจน์ความถูกหรือผิด ซึ่งจ่ายเป็นค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่ารักษาพยาบาล แต่ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ของผู้เอาประกัน พ.ร.บ.รถยนต์ จะไม่คุ้มครอง
- กรณีที่ 2 ประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ
- ถ้าแอลกอฮอล์ในเลือดไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ประกันรถยนต์จะคุ้มครองทั้งผู้เอาประกันและฝ่ายเสียหาย
- ถ้าแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ประกันรถยนต์จะไม่คุ้มครองผู้เอาประกัน แม้จะซื้อประกันรถยนต์ชั้น 1 ที่มีเบี้ยสูงสุดก็ตาม
เห็นบทลงโทษและค่าปรับแต่ละเคสแล้วถึงกับสร่างเมากันเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามช่วงเทศกาลหรือช่วงวันที่อยากสังสรร ขอแนะนำให้ใช้รถสาธารณะเพื่อความปลอดภัยทั้งตัวคุณและผู้อื่น และเพื่อหลีกเลี่ยงบทลงโทษทางกฎหมายกันจะดีกว่านะครับ