More

    ขึ้นทางด่วน แต่ไม่มีเงินสดจ่าย ทำยังไงดี? บทความนี้มีคำตอบ

    งานงอกแล้ว! ไม่มีเงินสดจ่ายค่าทางด่วน ทำยังไงดี?: ปัจจุบันนี้เวลาจับจ่ายใช้สอยอะไร หลายคนก็มักจะจ่ายเป็นการโอนเงินแทนการใช้เงินสด ทำให้คนทั่วไปพกเงินสดน้อยลง หรือบางคนถึงขั้นไม่พกเงินสดเลยก็มี แต่การขับรถขึ้นทางด่วนนั้นยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินสดในการจ่ายค่าผ่านทาง แล้วถ้าเกิดเหตุการณ์ที่เราขึ้นทางด่วนไปแล้วแต่ “ไม่มีเงินสดจ่ายค่าทางด่วน” ขึ้นมาล่ะ จะทำอย่างไร ไม่ต้องตกใจไป วันนี้ Car2day จะมาแนะนำวิธีแก้ปัญหานี้กันค่ะ

    ขึ้นทางด่วนแล้วไม่มีเงินสดจ่าย

    ไม่มีเงินสดจ่ายค่าทางด่วน

    อันดับแรกทำใจให้สบาย ไม่ต้องตื่นเต้นตกใจ ไม่ต้องถอยรถกลับเพราะอาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ ขับรถเข้าช่องตามปกติแล้วแจ้งเจ้าหน้าที่เก็บเงินได้เลย เจ้าหน้าที่จะทำการบันทึกรายละเอียดต่าง ๆ เช่น ทะเบียนรถ ยี่ห้อรถ รวมถึงวันและเวลาที่เข้าใช้บริการเอาไว้ จากนั้น “ภายใน 7 วัน” ให้นำเงินมาชำระที่ด่านทางด่วนเดิม โดยจะไม่มีการเก็บค่าปรับใด ๆ เพิ่มเติม

    หากเกิน 7 วันแล้วยังไม่มาจ่าย ค่าทางด่วน จะมีจดหมายแจ้งเตือนส่งไปยังที่อยู่ของคุณ เพื่อให้คุณดำเนินการชำระค่าผ่านทางที่ด่านใดก็ได้ ภายในระยะเวลา 30 วัน หรือตามที่จดหมายระบุ ไม่อย่างนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

    โทษปรับตามกฎหมายหากไม่จ่ายค่าทางด่วน

    หากไม่จ่ายค่าทางด่วนภายในระยะเวลา 30 วัน หรือเกินจากที่จดหมายระบุ จะต้องโดนโทษปรับตามกฎหมาย แบ่งออกเป็น 3 กรณีดังนี้

    1. ค้างชำระทางด่วนในความดูแลของทางการพิเศษแห่งประเทศไทย (EXAT) มีโทษปรับตาม พรบ.การทางพิเศษแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 63 จำนวน 2,000 บาท ฐานหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าผ่านทาง
    2. ค้างชำระทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ภายใต้การดูแลของกรมทางหลวง จะมีโทษปรับตาม พรบ.กำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงและสะพาน 2497 มาตรา 7 สูงสุดไม่เกิน 10 เท่าของค่าผ่านทาง
    3. ค้างชำระ ค่าทางด่วน สัมปทาน ดอนเมืองโทลล์เวย์ จะมีโทษปรับตาม พรบ.ทางหลวงสัมปทาน 2542 มาตรา 33 สูงสุดไม่เกิน 10 เท่าของค่าผ่านทาง

    เส้นทางที่สามารถจ่ายค่าทางด่วนด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตได้

    บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตที่ใช้จะต้องเป็นบัตรเครดิต VISA Paywave และ Mastercard Paypass เท่านั้น นอกจากนี้ยังต้องมีสัญลักษณ์ Contactless หรือสัญลักษณ์คลื่น WIFI บริเวณด้านขวาของบัตร โดยสามารถใช้จ่ายได้เฉพาะ 5 เส้นทาง ดังนี้

    • ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1)
    • ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2)
    • ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอก
    • ทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด)
    • ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (วงแหวนใต้)

    บทความที่เกี่ยวข้อง
    อัปเดตราคา “ค่าทางด่วน” ทุกเส้นทาง ปี 2567
    ทิ้งขยะบนทางด่วน ฝ่าฝืนโดนปรับสูงสุด 10,000 บาท

    ABOUT THE AUTHOR

    Latest Posts