More

    ทำความรู้จัก แร่ลิเธียม-โซเดียม แร่หลักผลิตแบตฯ EV ที่ไทยเพิ่งค้นพบ ดันไทยเดินหน้าเป็นฐานผลิตสำคัญของโลก

    แร่ลิเธียม และโซเดียม แร่หลักผลิตแบตฯ EV ที่ไทยเพิ่งค้นพบมากกว่า 14 ล้านตัน ดันไทยเดินหน้าเป็นฐานผลิตแบตเตอรี่ EV ในภูมิภาค

    นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งสำรวจจนพบแหล่งแร่ลิเธียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติและแหล่งบางอีตุ้ม ล่าสุดไทยยังค้นพบแหล่งแร่โซเดียมในพื้นที่ภาคอีสานปริมาณสำรองอีกจำนวนมาก ซึ่งแร่ทั้งสองชนิดนี้ถือเป็น แร่หลักหรือวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) 100% เสริมศักยภาพความพร้อมของไทยในการเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางและฐานการผลิตแบตเตอรี่ EV ในภูมิภาค

    โดยประเทศไทยได้สำรวจพบ แร่ลิเธียมกว่า 14,800,000 ล้านตัน (Million Tonne: Mt) ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่ค้นพบแร่ดังกล่าวมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากโบลิเวีย และอาร์เจนตินา

    การค้นพบแร่ศักยภาพลิเธียม-โซเดียม นี้ถือเป็นทั้งข่าวดี และเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ครอบครองแร่ลิเธียมมากที่สุดของโลกแห่งหนึ่ง ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ดึงดูดนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติที่มีศักยภาพเข้ามาตั้งโรงงาน ท่ามกลางการแข่งขันของนานาประเทศ เพื่อให้ไทยมุ่งสู่การเป็นฐานผลิตหลักของภูมิภาค ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่า ความต้องการลิเธียมทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าภายในปี 2025 และจะต้องการมากกว่า 2 ล้านตันภายในปี 2030 ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งข่าวดี และโอกาสสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต

    “จากการเติบโตของตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การค้นพบแร่ 2 ชนิดที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ EV จะทำให้ไทยลดการนำเข้าและพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น ซึ่งด้วยนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และการค้นพบนี้จะทำให้ไทยกลายเป็นหมุดหมายที่สำคัญยิ่งในแผนที่โลกในการก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางและฐานการผลิตแบตเตอรี่ EV” นางรัดเกล้าฯ กล่าว

    ทางด้าน BOI ได้รายงานว่า ภายใต้มาตรการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทย นอกจากมีนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเป็นค่ายรถ EV ใหญ่ระดับโลก เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทยแล้ว ยังมีการขอลงทุนตั้งโรงงานประกอบและผลิตแบตเตอรี่ 20 โครงการ จาก 13 บริษัท เงินลงทุนกว่า 9,400 ล้านบาท (นักลงทุนไทย/ต่างชาติ)

    แบ่งเป็น การผลิตแบตเตอรี่ความจุสูง สำหรับ EV และ Energy Storage 8 โครงการ จาก 8 บริษัท เงินลงทุน 9,300 ล้านบาท และการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถไฟฟ้า เช่น Traction Motor ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) ระบบควบคุมการขับเคลื่อน (DCU) ระบบและอุปกรณ์อัดประจุไฟฟ้า 16 โครงการ จาก 14 บริษัท เงินลงทุนรวม 5,120 ล้านบาท

    โดยทางด้านการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า หลังจากปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งจัดว่าเป็นปีแห่งการเติบโต รุดหน้าของตลาดรถยนต์ BEV หรือ รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ ในไทยแล้ว เชื่อว่า ปี 2567 การทยอยเข้ามาเพิ่มเติมของรถ EV ค่ายใหม่ๆ ในตลาด จะส่งผลให้ตลาดยิ่งจะมีความคึกคักขึ้น โดยรถยนต์ BEV น่าจะมีโอกาสทำยอดขายในกรณีฐานได้เพิ่มขึ้นไปถึง 85,000 คัน ยิ่งเชื้อเชิญให้ต่างชาติ ในกลุ่มห่วงโซ่การผลิตทั้งหมด เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

    ที่มา: Thaigov, Thairath, kasikornresearch

    ABOUT THE AUTHOR

    Latest Posts