ถึงแม้กระแสของรถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ก็มองข้ามไม่ได้ว่ารถยนต์ส่วนใหญ่ที่ยังวิ่งอยู่บนท้องถนน ยังคงใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อน ซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีจำหน่ายอยู่นั้นก็มีให้เลือกหลากหลายชนิด โดยมีคุณสมบัติต่างกันออกไป ทำให้หลายคนอาจสงสัยว่าหากเราเติมน้ำมันแต่ละชนิด สลับกัน ผสมกัน จะทำได้ไหม เกิดปัญหาอะไรหรือเปล่า เครื่องยนต์พังไหม มาดูคำตอบกัน
น้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- 1.น้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องยนต์เบนซิน แบ่งเป็นอีกหลายชนิดย่อย คือ
-
- เบนซิน 95 น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด ไม่มีส่วนผสมของเอทิลแอลกอฮอล์และมีค่าออกเทนสูง ให้อัตราเร่งและการเผาไหม้ที่ดี ราคาค่อนข้างสูง ในปัจจุบันมีจำหน่ายเพียงบางสถานีบริการน้ำมันเท่านั้น รถเครื่องยนต์เบนซินสามารถเติมน้ำมันชนิดนี้ได้
- เบนซิน 91 น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับน้ำมันเบนซิน 95 ไม่มีส่วนผสมของเอทิลแอลกอฮอล์ ให้อัตราเร่งและตอบสนองได้ดี สามารถใช้ได้กับรถเครื่องยนต์เบนซินทุกชนิด ยกเว้นรถที่มีการระบุว่าต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีค่าออกเทน 95 ขึ้นไปเท่านั้น จะไม่สามารถเติมได้
- แก๊สโซฮอล์ 95 (E10) คือน้ำมันเชื้อเพลิงที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ทดแทนน้ำมันเบนซิน 95 มีส่วนผสมของเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ 99.5% ผสมกับน้ำมันเบนซิน 95 ในอัตราส่วน น้ำมัน 9 ส่วน เอทานอล 1 ส่วน ซึ่งจะมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับน้ำมันเบนซิน 95
- แก๊สโซฮอล์ 91 (E10) เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าและสามารถใช้แทนน้ำมันเชื้อเพลิงเบนซิน 91 ได้ มีส่วนผสมของเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ 99.5% ผสมกับน้ำมันเบนซิน 91 ในอัตราส่วนน้ำมัน 9 ส่วน เอทานอล 1 ส่วน มีราคาถูกกว่าแก๊สโซฮอล์ 95
- แก๊สโซฮอล์ E20 น้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้จากการนำน้ำมันเบนซินมาผสมกับเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ 99.5% ในอัตราส่วน น้ำมัน 80% เอทานอล 20% รถเครื่องยนต์เบนซินสามารถเติมได้ แต่ต้องเป็นรุ่นที่มีการรองรับแล้วเท่านั้น
- แก๊สโซฮอล์ E85 น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถเครื่องยนต์เบนซินที่มีราคาถูกที่สุดในท้องตลาด เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของน้ำมันและเอทานอลในอัตราส่วน น้ำมัน 15% เอทานอล 85% รถเครื่องยนต์เบนซินที่สามารถใช้น้ำมันชนิดนี้ได้ ต้องเป็นรถที่ถูกออกแบบมาให้รองรับโดยเฉพาะเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ
-
- 2.น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งยังแบ่งได้อีกหลายชนิด คือ
-
- น้ำมันดีเซล คือน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้จากการกลั่น และไม่มีส่วนผสมอื่น ๆ จัดเป็นน้ำมันดีเซลที่มีคุณภาพสูง ให้การเผาไหม้ที่ดี ช่วยให้เครื่องยนต์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- น้ำมันดีเซล B7 น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซลอยู่ในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วประมาณ 7% และสารเติมแต่งต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับผู้ผลิต ให้คุณภาพดี และลดมลพิษ
- น้ำมันดีเซล B10 เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นมาเป็น 10% ปัจจุบันถูกเปลี่ยนชื่อเรียกเป็นน้ำมันดีเซล
- น้ำมันดีเซล B20 คือน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมน้ำมันดีเซล 80% และไบโอดีเซล หรือเชื้อเพลิงที่ได้จากพืชผลทางการเกษตรอีก 20% ซึ่งกำลังจะถูกยกเลิกการจำหน่ายในอนาคต
-
คำถาม : สำหรับปัญหาที่ผู้ใช้รถหลายคนสงสัย ว่ารถของคุณสามารถเติมน้ำมันผสมกันได้หรือไม่ เพราะบางทีสถานีบริการน้ำมันที่เข้าไปใช้บริการไม่มีน้ำมันเชื้อเพลิงที่เราต้องการและน้ำมันก็จะหมดแล้วด้วย ไม่สามารถไปต่อได้ อย่างเช่น ปกติเติมแต่แก๊สโซฮอล์ E20 แต่ปั๊มนี้มีแต่แก๊สโซฮอล์ 95 และแก๊สโซฮอล์ 91 จะเติมผสมกันได้ไหม?
คำตอบ คือ สามารถผสมกันได้ เพราะเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีค่าออกเทนที่เครื่องยนต์รองรับ ซึ่งการเติมผสมกันระหว่าง แก๊สโซฮอล์ 95 กับ แก๊สโซฮอล์ 91 หรือ แก๊สโซฮอล์ 95 กับ แก๊สโซฮอล์ E20 ก็สามารถทำได้ ขอแค่ให้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีค่าออกเทนตามที่เครื่องยนต์รองรับเท่านั้น ซึ่งไม่ส่งผลทำให้เครื่องยนต์พังหรือเสียหายอย่างแน่นอน
แต่บางกรณีที่สามารถพบได้ในรถบางรุ่นที่มีการระบุไว้อย่างชัดเจน ว่ารองรับน้ำมันที่มีค่าออกเทนตั้งแต่ 95 ขึ้นไปเท่านั้น รถคันนี้จะเติมได้แค่ แก๊สโซฮอล์ 95 แก๊สโซฮอล์ E20 และเบนซิน 95 จะไม่สามารถเติมแก๊สโซฮอล์ 91 ที่มีค่าออกเทนเพียง 91 ได้ รวมถึงแก๊สโซฮอล์ E85 แม้จะเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถเครื่องยนต์เบนซิน แต่ไม่สามารถเติมได้ ซึ่งตรงนี้ก็อาจจะต้องศึกษาจากคู่มือของรถหรือสอบถามผู้เชี่ยวชาญโดยตรงจะดีที่สุด
ในส่วนของน้ำมันดีเซลก็เช่นเดียวกัน สามารถเติมผสมกันได้หากรถของคุณรองรับน้ำมันดีเซลทุกชนิด โดยศึกษาได้จากคู่มือรถหรือที่ฝาถังน้ำมันจะมีระบุไว้ เช่น 0-B20 คือ สามารถเติมได้ตั้งแต่น้ำมันดีเซลแบบธรรมดา น้ำมันดีเซล B7, B10 และ B20
แต่ทางที่ดี เพื่อความมั่นใจและสบายใจของรถคุณ ควรศึกษาคู่มือหรือรายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์ว่ารองรับน้ำมันเชื้อเพลิงแบบใด และชนิดไหนได้บ้าง จะได้ไม่เกิดการเติมน้ำมันผิดจนสร้างความเสียหายให้กับเครื่องยนต์
บทความอื่น ๆ