อาการเมารถ (Motion sickness) เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อสมองรับรู้ถึงความขัดแย้งระหว่างสิ่งที่ตาเห็นกับสิ่งที่หูชั้นในรับรู้ เช่น ขณะนั่งรถโดยสาร ตาเห็นวัตถุอยู่นิ่ง แต่หูชั้นในรับรู้ว่าร่างกายกำลังเคลื่อนที่ ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว และหน้าซีด
สาเหตุของ “อาการเมารถ”
นอกจากความขัดแย้งของประสาทสัมผัส จะเป็นสาเหตุหลักของอาการแล้ว ยังมีอีกหลายสาเหตุที่เป็นส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการเมารถได้อีก เช่น
- การเคลื่อนไหวที่ไม่สม่ำเสมอ เช่น การนั่งเรือที่แกว่งไปมา หรือการนั่งรถบนถนนที่ขรุขระ
- กลิ่นบางอย่าง เช่น กลิ่นน้ำมัน กลิ่นอาหาร อาจกระตุ้นให้อาการเมารถรุนแรงขึ้น
- บางคนมีแนวโน้มที่จะเมารถมากกว่าคนอื่นเนื่องจากพันธุกรรม
- เด็กเล็กและผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะเมารถมากกว่าผู้ใหญ่
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหูชั้นใน หรือผู้ที่ป่วยเป็นไมเกรน อาจมีอาการเมารถได้ง่ายขึ้น
วิธีแก้อาการเมารถ
- พยายามเลือกที่นั่งบริเวณตอนหน้าของรถ หรือที่นั่งตรงกลางของเรือ เพราะเป็นที่นั่งที่มีการเคลื่อนไหวหรือโยกเยกน้อยที่สุด
- ระหว่างโดยสาร ควรมองออกไปนอกหน้าต่าง เพราะการมองไปยังจุดที่อยู่ไกลและนิ่ง จะช่วยให้สมองปรับตัวกับการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
- หลีกเลี่ยงการอ่านหนังสือหรือใช้โทรศัพท์ เพราะการจ้องมองสิ่งของที่อยู่ใกล้ตัวจะยิ่งทำให้เกิดอาการเมารถมากขึ้น
- อย่ากินอาหารจนอิ่มเกินไป เพราะถ้ามีของเต็มกระเพาะ ก็มีแนวโน้มจะอาเจียนออกมาง่าย เน้นกินอาหารเบา ๆ รองท้องก่อนเดินทาง
- หากมีอาการวิงเวียน ให้จิบน้ำเปล่า น้ำอัดลม หรือทานผลไม้รสเปรี้ยว จะช่วยลดอาการเวียนหัว ช่วยให้สดชื่นขึ้นได้
- พกยาดม ยาหม่อง ยาหอม เพื่อบรรเทาอาการเมารถ
- ทานยาแก้เมารถ ก่อนออกเดินทางอย่างน้อย 30 นาที
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาอาการเมารถ และขอให้ทุกท่านเดินทางกันด้วยความปลอดภัยนะคะ
บทความที่น่าสนใจ
รถอายุเกิน 7 ปี ต่อภาษีออนไลน์ได้ไหม? บทความนี้มีคำตอบ
เบอร์โทรฉุกเฉิน อัปเดต 2567 แจ้งอุบัติเหตุ เหตุด่วน เหตุร้าย เซฟติดมือถือไว้เลย