More

    แนะวิธีรีไฟแนนซ์รถ ให้มีเงินเหลือใช้!!!

    วันนี้เราจะมาแนะนำการประหยัดเงินหลักแสนจากรถของคุณ ให้คุ้มค่าที่สุด ลดภาระหนี้ ภาระการผ่อนชำระ ด้วยการ “รีไฟแนนซ์” จากรถของคุณเอง 

    การรีไฟแนนซ์คืออะไร

    รีไฟแนนซ์ คือ การกู้ยืมสินเชื่อก้อนใหม่เพื่อนำมาชำระหนี้ของสินเชื่อก้อนเดิม เพื่อจะย้ายไปผ่อนสินเชื่อใหม่ที่คุ้มค่ากว่า โดยจะกู้จากเจ้าหนี้รายเดิมหรือรายใหม่ก็ได้ เปรียบเทียบง่ายๆ ก็คล้ายกับการเปลี่ยนโปรโมชั่นหรือย้ายค่ายมือถือ เพื่อที่จะได้โปรโมชั่นที่คุ้มค่าและเหมาะสมกับเรามากกว่าเดิม

    อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่า ถ้าอย่างนั้น หากเราพิจารณาเลือกสินเชื่ออย่างถี่ถ้วนแล้วตั้งแต่ในการขอกู้ครั้งแรก จนมั่นใจว่าเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่าที่สุดแล้ว ก็จะไม่มีความจำเป็นจะต้องรีไฟแนนซ์ใช่หรือไม่?

    คำตอบของคำถามข้อนี้คือ ทั้งใช่และไม่ใช่

    • ใช่ เพราะว่าการเปรียบเทียบรายละเอียดของสินเชื่ออย่างละเอียดตั้งแต่แรก ย่อมช่วยให้เราเข้าใจเงื่อนไขของสินเชื่อแต่ละตัว และตัดสินใจเลือกได้อย่างเหมาะสม ณ เวลานั้น
    • ไม่ใช่ เพราะถึงแม้ว่าจะพิจารณาเลือกอย่างดีที่สุดแล้ว แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า สินเชื่อที่คุณเลือกในครั้งแรก อาจจะไม่ใช่สินเชื่อที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคุณไปตลอดระยะเวลากู้

    สำหรับบางคน ตอนเริ่มกู้เงินอาจจะยังไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อเวลาผ่านไป อาจจะมีภาระหนี้มากขึ้น ดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น หรือเกิดเหตุไม่คาดฝันที่ทำให้ต้องเก็บออมเงินมากขึ้น ก็อาจจะเริ่มรู้สึกว่าการบริหารจัดการเงินในกระเป๋าได้ยากขึ้นเพราะรายได้กับรายจ่ายตึงเกินไป การนำรถมารีไฟแนนซ์จึงเป็นวิธีที่จะช่วยลดภาระการผ่อนจ่ายให้เบาลง สามารถเก็บเงินไว้ใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ ที่จำเป็นและเร่งด่วนมากกว่าได้มากขึ้น

    การรีไฟแนนซ์รถ จะช่วยประหยัดเงินเป็นแสนอย่างไร

    การรีไฟแนนซ์รถจะช่วยให้ผู้ขอกู้ประหยัดเงิน ด้วยข้อดีทั้งหมด 3 ข้อ ดังนี้

    1. ได้อัตราดอกเบี้ยต่ำลง และยอดชำระรายเดือนถูกลง
    2. ได้ยืดเวลาผ่อนจ่ายให้นานขึ้น
    3. ได้เงินก้อนจากส่วนต่าง สามารถนำไปหมุนเวียนเพื่อทำธุรกิจหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้

    ขั้นตอนการรีไฟแนนซ์รถ

    1.ตรวจดูให้แน่ ว่าจะได้คุ้มเสียหรือไม่ อย่ารีบร้อนตัดสินใจทำรีไฟแนนซ์ ควรจะตรวจสอบเงื่อนไขของผู้ให้สินเชื่อเจ้าใหม่ที่เล็งไว้ให้ดี แล้วคำนวณดูว่า ถ้านำดอกเบี้ยคงเหลือจากสินเชื่อเดิม มาหักค่าส่วนต่างกับดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นจากการกู้ใหม่แล้ว จะคุ้มค่าหรือเปล่า

    นอกจากนี้ อย่าลืมสอบถามสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้เดิมให้แน่ใจว่า ตามข้อกำหนดของสถาบันการเงิน ถ้าต้องการปิดสินเชื่อเก่าเพื่อขอสินเชื่อใหม่ คุณจะต้องเสียเบี้ยปรับเพิ่มเติมด้วยหรือไม่ ถ้าเสีย ต้องเสียเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ เพื่อที่จะได้นำตัวเลขทั้งหมดมาคำนวณความคุ้มค่าได้ถูกต้อง

    • ตรวจสอบกับสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อว่า คุณสมบัติรถของเรา เข้าเกณฑ์ที่จะรีไฟแนนซ์หรือเปล่า ซึ่งผู้ให้สินเชื่อส่วนใหญ่ก็จะดูเรื่องของอายุการใช้งานและรุ่นของรถเป็นหลัก
    • เช็คราคากลางของรถว่าอยู่ที่ราคาเท่าไหร่ ก่อนจะขออนุมัติสินเชื่อ

    2.ถามตัวเองว่าผ่อนไหวไหม แน่นอนว่านอกจากเรื่องความคุ้มค่าแล้ว สิ่งสำคัญยิ่งกว่าก็คือคุณต้องประเมินตัวเองให้ดีว่าสามารถผ่อนจ่ายค่างวดได้ตามเงื่อนไขของผู้ให้สินเชื่อใหม่ไหวหรือเปล่า โดยคำนวณจากรายรับ-รายจ่ายของคุณ ถ้าคำนวณแล้วคิดว่าพร้อมสำหรับการรีไฟแนนซ์ครั้งนี้ ก็เดินหน้าต่อได้เลย

    3.เตรียมเอกสาร สำหรับธุรกรรมรีไฟแนนซ์  เมื่อตัดสินใจได้แล้ว ก็เตรียมเอกสารต่างๆ ที่จะต้องใช้ในการขอรีไฟแนนซ์ทั้งหมดให้ครบถ้วน โดยเอกสารหลักๆ ที่ใช้ ก็จะเป็นเอกสารที่ช่วยให้ผู้ปล่อยสินเชื่อแน่ใจว่า คุณจะมีความสามารถในการชำระหนี้ โดยจะเป็นเอกสารที่ค่อนข้างเหมือนกับตอนที่ขอสินเชื่อครั้งแรกเกือบทั้งหมด ได้แก่

    • บัตรประชาชน
    • ทะเบียนบ้าน
    • หนังสือรับรองเงินเดือน
    • สลิปเงินเดือน
    • สมุดเงินฝากธนาคาร

    4.ปิดบัญชีที่เก่า ส่งเล่มให้ที่ใหม่ เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว ผู้ให้สินเชื่อเดิมจะทำการปิดบัญชี และคุณจะได้รับเงินส่วนที่เหลือจากผู้ให้สินเชื่อรายใหม่ หลังจากนั้นสถาบันการเงินเดิมจะส่งเล่มคืนให้ โดยคุณจะต้องนำเล่มไปส่งให้สถาบันการเงินใหม่ทันที

    5.เริ่มต้นผ่อนชำระสินเชื่อใหม่ ด้วยเงื่อนไขที่ช่วยคุณได้มากขึ้น หลังจากที่สถาบันการเงินได้รับเล่มแล้ว ก็จะดำเนินการต่อให้เสร็จตามขั้นตอน และคุณก็จะมีภาระหนี้ต่อเดือนที่เบาสบายขึ้นนั่นเอง

    อย่าลืมว่าการรีไฟแนนซ์ก็คล้ายกับการเริ่มขอสินเชื่อครั้งใหม่ ซึ่งเป็นวิธีการประหยัดเงินที่เหมาะสำหรับคนที่กำลังต้องการเงินก้อนเพื่อที่จะนำไปใช้ในการหมุนเวียน หรือต้องการลดยอดชำระต่อเดือนให้ต่ำลง แต่นั่นก็หมายความว่า คุณอาจจะต้องใช้เวลานานขึ้นกว่าจะชำระหนี้ครบทั้งหมด ซึ่งบางคนอาจจะไม่ได้ต้องการแบบนั้น ดังนั้นก่อนตัดสินใจรีไฟแนนซ์ จึงควรศึกษารายละเอียดและคำนวณความคุ้มค่าให้ดีเสียก่อน

    ข้อมูลจาก : เงินติดล้อ


    บทความอื่น ๆ 

    ABOUT THE AUTHOR

    Latest Posts