More

    รู้จักยานยนต์อัตโนมัติ กับความสามารถทั้ง 5 ระดับ

    นอกจากเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นทุกวันแล้ว ยานยนต์ไร้คนขับ หรือ ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ก็เริ่มที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเช่นกัน ทุกวันนี้ได้มีการวิจัยและพัฒนายานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและความปลอดภัยในการเดินทางมากขึ้น โดยคาดว่าภายในปี 2025 บนท้องถนนจะเต็มไปด้วยยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติประมาณ 8 ล้านคัน

    แต่ก่อนที่ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติจะได้ลงมาโลดแล่นบนท้องถนน พวกมันจะถูกแบ่งระดับตามเทคโนโลยีที่ทำได้ ซึ่งสมาคมวิศวกรยานยนต์ (Society of Automotive Engineers – SAE) ได้แบ่งระดับการขับขี่ออกเป็น 6 ระดับ เริ่มตั้งแต่ระดับ 0 ซึ่งไม่มีการขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ไปจนถึงระดับ 5 ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองอย่างสมบูรณ์

    ยานยนต์อัตโนมัติ 5 ระดับ

    ระดับ 0

    ยานยนต์บนท้องถนนทุกวันนี้ส่วนใหญ่อยู่ในระดับ 0 ผู้ขับขี่จะเป็นผู้ควบคุมรถทั้งหมด ถึงแม้ว่าอาจจะมีระบบที่ช่วยเหลือผู้ขับขี่ ยกตัวอย่างเช่น ระบบเบรกฉุกเฉิน แต่ด้วยความที่มันไม่ใช่เทคโนโลยีที่ “ขับเคลื่อน” รถ ดังนั้นมันจึงไม่ถูกนับว่าเป็นเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติ

    ระดับ 1

    เป็นระดับต่ำสุดของเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติ ตัวรถนั้นจะมีการติดตั้งระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ อย่างเช่น การบังคับเลี้ยวเข้าที่จอดรถ หรือ การควบคุมความเร็ว ที่ทำงานได้อย่างใดอย่างหนึ่งในหนึ่งสถานการณ์ เช่น ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผันได้ (Adaptive Cruise Control) ซึ่งเป็นระบบที่ควบคุมความเร็วรถที่สามารถรักษาระยะห่างจากรถคันหน้าได้ อย่างไรก็ตามผู้ขับขี่ยังคงที่จะต้องเป็นผู้ควบคุมยานพาหนะหลัก โดยการเลี้ยวหรือเบรกในสถานการณ์ฉุกเฉิน

    ระดับ 2

    ในระดับนี้ตัวรถนั้นจะสามารถควบคุมการเร่งหรือลดความเร็วเองได้ แต่ยังคงต้องมีผู้ขับขี่นั่งอยู่หลังพวงมาลัย เพื่อที่ผู้ขับขี่จะได้เข้าควบคุมรถหากเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้ทันท่วงที Autopilot ของ Tesla และ Super Cruise Systems ของ Cadillac ถูกจัดอยู่ในระดับนี้

    level 3
    ที่มาภาพ : blickfeld.com

    ระดับ 3

    จากระดับ 2 มาระดับ 3 เรียกได้ว่ามีการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีเลยทีเดียว ในระดับ 3 นี้ตัวรถจะสามารถตรวจจับสภาพแวดล้อมได้และสามารถที่จะตัดสินใจเองได้ เช่น การเร่งผ่านรถที่ขับช้ากว่า อย่างไรก็ตามมันยังคงต้องการการควบคุมจากผู้ขับขี่ในกรณีที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน รถที่ถูกจัดอยู่ในระดับนี้ เช่น 2019 Audi A8L ซึ่งมีเทคโนโลยี Traffic Jam Pilot

    ระดับ 4

    ความแตกต่างที่สำคัญเลยระหว่างระดับ 3 กับระดับ 4 คือ ในระดับ 4 ยานพาหนะสามารถที่จะเข้าไปแทรกแซงได้หากมีสิ่งผิดปกติหรือระบบขัดข้อง รถยนต์เหล่านี้ไม่ต้องการการปฏิสัมพันธ์ของผู้ขับขี่ในสถานการณ์ส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามผู้ขับขี่ยังคงมีทางเลือกในการที่จะเข้าควบคุมการขับขี่ด้วยตนเองได้อยู่

    ถึงแม้ว่ายานพาหนะในระดับ 4 จะสามารถทำงานในโหมดขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้ แต่จนกว่ากฎหมายและโครงสร้างพื้นฐานจะพัฒนาขึ้นมามากกว่านี้ พวกมันจะถูกใช้งานได้ภายในพื้นที่จำกัดเท่านั้น อย่างเช่น ภายในเมืองที่ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 48 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยเฉลี่ย) โดยยานยนต์ระดับ 4 ส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้ถูกเน้นไปที่การใช้งานร่วมกัน เช่น

    • NAVYA บริษัทจากฝรั่งเศสได้ขายรถรับส่งและแท็กซี่ระดับ 4 ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมันขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วน และทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 88.5 กิโลเมตร/ชั่วโมง
    • Waymo พึ่งเปิดให้บริการแท็กซี่ระดับ 4 ในแอริโซน่า ที่ซึ่งพวกมันถูกทดสอบการขับขี่ด้วยตัวเองแบบไร้ผู้ขับขี่คอยควบคุมมาเป็นเวลากว่า 1 ปี และระยะทางถึง 16 ล้านกิโลเมตร
    • Magna ซัพพลายเออร์สายยานยนต์จากแคนาดาได้พัฒนาเทคโนโลยี (MAX4) ระดับ 4 เพื่อการใช้งานทั้งในเขตเมืองและบนทางหลวง พวกเขากำลังพัฒนาชุดคิทสุดล้ำร่วมกับ Lyft ในการเปลี่ยนยานยนต์ทั่วไปให้กลายเป็นยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ
    • ไม่กี่เดือนก่อน Volvo และ Baidu ได้ประกาศความร่วมมือในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าระดับ 4 ที่จะกลายมาเป็น Robotaxi ในจีน
    level 4
    ที่มาภาพ : asia.nikkei.com

    ระดับ 5

    เมื่อถึงระดับนี้ตัวรถนั้นไม่ต้องการการใส่ใจจากผู้ขับขี่อีกต่อไป ตัวรถนั้นจะไม่มีพวงมาลัย หรือแป้นเหยียบเบรกและคันเร่ง ผู้ขับขี่จะกลายเป็นผู้โดยสารโดยสมบูรณ์ ยานยนต์นั้นสามารถทำได้ทุกอย่างเหมือนกับที่มนุษย์ทำได้เวลาขับขี่ ทั่วโลกนั้นมีการพัฒนาและทดสอบเพื่อให้เข้าถึงระดับ 5 แต่ยังไม่มีใครที่สามารถเปิดตัวออกมาให้สาธารณะชมได้

    ถึงแม้ว่าอนาคตของยานยนต์ขับขี่อัตโนมัตินั้นจะดูสดใสและน่าตื่นเต้น แต่เทคโนโลยีนั้นยังคงห่างไกลจากการขับขี่อัตโนมัติที่อยู่สูงกว่าระดับ 2 อยู่อีก 2-3 ปี ซึ่งอันที่จริงแล้วไม่ใช่ว่าเทคโนโลยีของเรายังไม่ถึงขั้น เพียงแต่มันยังขาดแคลนซึ่งความปลอดภัยในแง่ต่าง ๆ

    เมื่อต้นปีนี้ สถาบัน Ponemon ได้เผยแพร่รายงาน (ที่ได้รับมอบหมายโดย Synopsys) เรื่อง “การรักษาความปลอดภัยของรถยนต์ที่มีการเชื่อมต่อ : การศึกษาแนวทางปฏิบัติด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของอุตสาหกรรมยานยนต์” จากรายงานพบว่า ยานพาหนะที่มีการเชื่อมต่อ เช่น รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ มีคุณสมบัติด้านความปลอดภัยทางกายภาพมากมาย ได้แก่ เข็มขัดนิรภัย, ถุงลมนิรภัย, เบรก ABS แต่ยังมีคุณสมบัติด้านความปลอดภัยทางดิจิตอลไม่มากนัก เมื่อพูดถึงสิ่งที่จำเป็นสำหรับการทำงานอย่างปลอดภัยในโลกออนไลน์

    รายงานนี้อ้างอิงจากการสำรวจของผู้ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัย 593 คน, กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์, และ กลุ่มวิศวกร มากกว่า 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามยอมรับว่า ความจำเป็นในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ดีขึ้นนั้นต้องมีความเร่งด่วนด้วยเหตุผลที่ชัดเจน โดยกลุ่มผู้ถูกสำรวจ 62 เปอร์เซ็นต์ กล่าวว่า พวกเขาคิดว่าการโจมตีทางซอฟต์แวร์/ส่วนประกอบยานยนต์ มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า

    เป็นเรื่องยุติธรรมที่จะพูดว่า ผู้บริโภคจะไม่ยอมรับรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ เว้นเสียแต่ว่าพวกเขาจะมั่นใจว่าอย่างน้อยพวกเขาก็จะปลอดภัยพอ ๆ กับการนั่งเครื่องบินพาณิชย์ รถไฟ หรือรถบัส วันเหล่านั้นกำลังจะมาถึง แต่วงการยานยนต์อาจจะต้องผ่านเส้นทางอันขรุขระสักเล็กน้อยก่อน

    อ้างอิง : synopsys.com


    บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

    ABOUT THE AUTHOR

    Latest Posts